“บ้านอุ่นรัก” กับภารกิจฝึกลูกออทิสติกนั่งอยู่กับที่ | บ้านอุ่นรัก

“บ้านอุ่นรัก” กับภารกิจฝึกลูกออทิสติกนั่งอยู่กับที่ | บ้านอุ่นรัก

การฝึกลูกออทิสติกให้นั่งอยู่กับที่ แม้ในระยะแรก ๆ อาจทำได้ยากอยู่สักหน่อย แต่ก็ไม่ยากจนเกินไป แต่ที่สำคัญ คือ เป็นเรื่องที่ต้องทำและต้องทำให้สำเร็จ ทั้งนี้เพราะเมื่อลูกสามารถนั่งอยู่กับที่ได้ในลักษณะที่ลูกให้ความสนใจและสนุกสนานกับกิจกรรมต่าง ๆ ตรงหน้าอย่างรวดเร็วโดยที่คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองไม่ต้องบังคับ จะเท่ากับว่าลูกมีความพร้อมในระดับหนึ่งที่จะเข้าไปเรียนร่วมในโรงเรียนอนุบาลได้ต่อไป

ที่ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการ “บ้านอุ่นรัก” ทั้ง “บ้านอุ่นรักสวนสยาม” และ “บ้านอุ่นรักธนบุรี (ถนนพุทธมณฑลสายสอง)” เมื่อลูกศิษย์ออทิสติกเข้ามารับการฝึกและกระตุ้นพัฒนาการในระยะแรก ๆ คุณครูของเราจะมีภารกิจหลักสำคัญประการหนึ่ง คือ การฝึกให้ลูกศิษย์นั่งอยู่กับที่และกระตุ้นให้ลูกศิษย์สนใจและสนุกกับกิจกรรมต่าง ๆ ตรงหน้าโดยคุณครูไม่ต้องบังคับ

การที่บ้านอุ่นรักเน้นการฝึกนี้ เพราะ “การนั่งอยู่กับที่” มีประโยชน์ต่อเนื่องเรื่องการเข้าเรียนร่วมในโรงเรียนอนุบาลของลูกศิษย์อยู่หลายประการ คือ

– นั่งเรียนอยู่กับที่ได้

– การเรียนการสอนทำได้ง่ายขึ้น

– มีสมาธิในการเรียนรู้ที่ดีขึ้น

– นั่งทำการบ้านในอนาคตได้

– นั่งหรือทำกิจกรรมตามจุดที่โรงเรียนกำหนดได้

– มีผลต่อการควบคุมตนในการทำกิจกรรมทุกรูปแบบที่ต้องทำที่โรงเรียน

สำหรับการฝึกที่บ้านให้ลูกนั่งอยู่กับที่ ในระยะแรก ๆ คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองที่ฝึกลูกเองที่บ้านอาจพบปัญหาที่เกิดจากหลายปัจจัย เช่น

  • ด้วยข้อจำกัดเรื่องอาการและธรรมชาติของลูกออทิสติก ลูกอาจรู้สึกอึดอัด กระวนกระวายใจ ไม่สบายตัว ไม่สบายใจที่ต้องนั่งอยู่กับที่
  • ลูกอาจมีระบบประสาทรับความรู้สึกบางประการที่ไวกว่าปกติและส่งผลให้ลูกถูกหันเหความสนใจจากสิ่งที่กำลังทำได้โดยง่าย ไม่ว่าจะเป็นการมองเห็น (Visual System) การได้ยิน (Auditory System) การรับสัมผัสทางผิวหนัง (Tactile System) การได้กลิ่น (Olfactory System) การรับรส (Gustatory System) การรับรู้ท่าทางของร่างกายผ่านข้อต่อ (Proprioception) และการทรงตัว (Vestibular)
  • สิ่งเร้ารอบตัวลูกอาจรบกวนสมาธิของลูก

จากปัจจัยที่อาจก่อให้เกิดปัญหาดังที่กล่าวมาข้างต้น คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองควรสังเกต ค้นหาปัจจัยที่เป็นปัญหา หาทางบริหารจัดการปัจจัยต่าง ๆ และสร้างบรรยากาศที่บ้านที่จะเอื้ออำนวยต่อการฝึกลูกให้นั่งอยู่กับที่ได้ต่อไป 
สำหรับการฝึกที่บ้านอุ่นรัก เรามีขั้นตอนการฝึกลูกศิษย์ให้นั่งอยู่กับที่ ดังต่อไปนี้ คือ

  • เรียงกิจกรรมที่ลูกศิษย์ชอบจากน้อยไปหามาก
  • ฝึกให้ลูกศิษย์นั่งอยู่กับที่เพื่อเล่นของเล่นหรือทำกิจกรรมตามความชอบ (จากน้อยไปหามาก)
  • ค่อย ๆ ยืดระยะเวลาการนั่งอยู่กับที่ โดยเพิ่มระยะเวลาทีละน้อย
  • เพิ่มการแทรกเงื่อนไขและวางวัตถุประสงค์มากขึ้นเรื่อย ๆ

ที่บ้านอุ่นรัก เราใช้เทคนิคการเรียงกิจกรรม โดยมีการสำรวจกิจกรรมที่ลูกศิษย์ชอบ จากนั้นก็นำกิจกรรมมาวางหมาก จัดเรียง และนำเสนอให้ลูกศิษย์สนใจเข้ามามีส่วนร่วมโดยไม่รู้ตัว ในที่สุด ลูกศิษย์ก็จะเต็มใจนั่งอยู่กับที่ สนใจ และสนุกกับกิจกรรมต่าง ๆ ตรงหน้า โดยที่คุณครูไม่ต้องบังคับ

ภาพกิจกรรมการเรียนการสอนที่ “บ้านอุ่นรักสวนสยาม”

ภาพกิจกรรมการเรียนการสอนที่ “บ้านอุ่นรักธนบุรี (ถนนพุทธมณฑลสายสอง)”

นอกจากขั้นตอนการฝึกตามแบบของบ้านอุ่นรักแล้ว เราอ่านพบบทความที่น่าสนใจเรื่องการฝึกที่คล้าย ๆ กันนี้จากเว็บไซต์ wiki.com จึงได้นำบทความดังกล่าวมาฝาก แต่เพื่อให้ท่านได้ทราบภาพรวมวิธีการฝึกที่เราอ่านพบจากบทความนี้ เราจึงแปลสรุปความคร่าว ๆ ดังนี้ คือ

วิธีการฝึกเด็กออทิสติกนั่งเก้าอี้จากเว็บไซต์ wiki.com

หนึ่ง: ให้เด็กนั่งบนเก้าอี้ที่เด็กรู้สึกสบายตัวและสบายใจในบรรยากาศที่ไม่มีสิ่งเร้ารอบตัวที่จะมาทำลายสมาธิของเด็ก ทั้งนี้ ถ้าเด็กต้องการสลับการนั่งอยู่กับที่เพื่อไปทำกิจกรรมอย่างอื่น เราควรแทรกการสอนให้เด็กพูดขออนุญาตเมื่ออยาก “หยุดพัก” ด้วย

สอง: ในระหว่างวัน ต้องให้เด็กออกกำลังกายประจำวัน เพื่อลดพลังงานส่วนเกิน ลดความซนอยู่ไม่สุข และช่วยให้มีอารมณ์ที่ดีขึ้น

สาม: หากเด็กมีความผิดปกติเรื่องการประมวลผลการรับสัมผัส การให้เด็กนั่งบนเบาะรองนั่งรูปลิ่ม (Sensory Seat Wedge) อาจช่วยจัดพยาธิสภาพให้เด็กสามารถนั่งอย่างสงบและสะดวกสบายมากขึ้นได้

สี่: การให้เด็กนั่งบนเบาะที่ภายในบรรจุเม็ดโฟม เศษผ้า หรือลูกปัด (Bean Bag) จะช่วยให้เด็กรับรู้สัมผัสถึงเม็ดโฟม เศษผ้า หรือลูกปัดที่ยัดไว้ด้านในและะช่วยทำให้เด็กรู้สึกถึงความมั่นคงในการนั่งอยู่กับที่ได้มากขึ้น

ห้า: ลองให้เด็กนั่งบนลูกบอลออกกำลังกายบ้างในบางครั้ง เพราะเมื่อต้องนั่งบนลูกบอลที่มีความกระเด้งกระดอนเบา ๆ จะช่วยเสริมทักษะการทรงตัวและทำให้เด็กต้องจดจ่อกับการนั่งให้ได้อย่างสมดุล พร้อม ๆ กับได้ปลดปล่อยพลังงานเหลือใช้ด้วย

หก: เตรียมของเล่นกระตุ้นพัฒนาการที่เด็กชอบมาวางเงื่อนไขให้เด็กนั่งเล่นของเล่นอยู่กับที่

เจ็ด: เล่นสนุกไปด้วยกันกับเด็กในขณะที่เด็กนั่งอยู่กับที่ การนั่งเล่นสนุก ๆ ด้วยกิจกรรมที่หลากหลายไปด้วยกันกับเด็กนี้จะช่วยให้เด็กเรียนรู้ว่าการนั่งอยู่กับที่เป็นเรื่องที่ทำแล้วก็สนุกได้

กดที่ลิงค์ข้างล่างนี้เพื่ออ่านบทความต้นฉบับ เรื่อง “How to Teach an Autistic Child to Sit in a Chair” (เครดิตข้อมูล: www.wiki.com)

https://www.wikihow.com/Teach-an-Autistic-Child-to-Sit-in-a-Chair

สำหรับการฝึกที่บ้านอุ่นรัก แม้เราจะเน้นการใช้ขั้นตอนการฝึกของเราเป็นหลัก แต่ก็ไม่ละเลยที่จะเรียนรู้เทคนิคเพิ่มเติม ตลอดจนนำเทคนิคหรือแนวทางอื่น ๆ ที่ปลอดภัยและใช้ได้จริงมาผสมผสานและปรับใช้เพื่อผลประโยชน์ปลายทางที่ลูกศิษย์พึงจะได้รับต่อไป

ในระยะแรก ๆ ที่คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองฝึกลูกออทิสติกให้นั่งอยู่กับที่ ลูก ๆ อาจไม่ยอมนั่งบนเก้าอี้ ไม่ยอมนั่งในจุดที่กำหนดให้ ลูกอาจทำเพียงการยืนอยู่ข้าง ๆ โต๊ะตัวโปรดเพื่อเล่นของเล่น หรือนอนบนพื้นห้องเพื่อวาดรูประบายสี แต่ถ้าเราไม่ยอมแพ้และหมั่นสำรวจกิจกรรมต่าง ๆ ที่ลูกชอบให้ดี ๆ เราก็จะสามารถนำกิจกรรมต่าง ๆ เหล่านั้นมาจัดเรียงตามลำดับจากน้อยไปหามาก วางหมาก และนำเสนอให้น่าสนใจ ในที่สุด ลูก ๆ ก็จะเผลอเข้ามามีส่วนร่วมและเต็มใจนั่งเล่นของเล่นบนเก้าอี้ยังจุดที่เรากำหนดไว้โดยไม่รู้ตัว ทั้งนี้ ลูกจะค่อย ๆ ทำได้ดีขึ้น ทำได้นานขึ้น เต็มใจนั่งอยู่กับที่ สนใจ และสนุกกับกิจกรรมต่าง ๆ ตรงหน้าได้โดยไม่ต้องบังคับเลยค่ะ

คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองค่อย ๆ นำทางลูกไปนะคะ เมื่อท่านให้เวลาลูกได้เรียนรู้และฝึกฝนบ่อย ๆ ฝึกทุกวันอย่างต่อเนื่องในระยะเวลาที่ยาวนานมากพอ ลูกก็จะเรียนรู้และนั่งอยู่กับที่บนเก้าอี้ ณ จุดที่เรากำหนดไว้ได้ และเมื่อถึงตอนนั้น ก็เท่ากับท่านได้ช่วยกันวางรากฐานพฤติกรรมและเสริมสร้างความพร้อมที่เอื้ออำนวยให้ลูกสามารถเข้าเรียนร่วมในโรงเรียนอนุบาลได้ต่อไปค่ะ

สำหรับคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง คุณครู และทุกท่านที่มีข้อสงสัยเรื่องการฝึกและกระตุ้นพัฒนาการลูกออทิสติก ลูกสมาธิสั้น ลูกที่มีพัฒนาการช้ากว่าวัย ท่านสามารถติดต่อศูนย์กระตุ้นพัฒนาการ “บ้านอุ่นรักสวนสยามหรือบ้านอุ่นรักธนบุรี (ถนนพุทธมณฑลสายสอง)” เพื่อขอคำปรึกษาและคำแนะนำได้ค่ะ