ความในใจคุณพ่อ ของลูกชายวัย 14 ปี | บ้านอุ่นรัก

ความในใจคุณพ่อ ของลูกชายวัย 14 ปี | บ้านอุ่นรัก

ความในใจของคุณพ่อของลูกชายอายุ 14 ปี

—————

สนับสนุนกำลังใจซึ่งกันและกัน

—————

“เสียใจให้จบเร็ว ๆ แล้วรีบลุกขึ้นสู้ สู้อย่างมีเป้าหมาย จากลูกชายที่พูดไม่ได้ ไม่สบตา กิน ดื้อ เล่น นอน…เริ่มใช้เวลาปรับพฤติกรรมตั้งแต่อายุ 5 ขวบที่บ้านอุ่นรักและที่อื่น ๆ เช่น ขี่ม้า หาหมอจิตเวชประจำตัวเป็นที่ปรึกษา

—————

ฝึกฝน อดทน ตอนนี้ทำกิจวัตรประจำวันตนเองได้ คิดได้ คิดเป็น โต้แย้งแบบมีเหตุผล (อาการออทิสติกยังคงมีอยู่เรื่อย ๆ ) อยู่กับสังคมรอบข้างได้อย่างมีความสุขทั้งครอบครัวและคนในหมู่บ้าน ตอนนี้ลูกชายตั้งเป้าจะเป็นเชฟทำอาหารครับ”

—————

ครูนิ่มได้เล่าเสริมว่า “นอกจากข้อความข้างต้นนี้แล้ว คุณพ่อได้เล่าถึงพัฒนาการของลูกชายในปัจจุบันด้วยแววตาแห่งความภาคภูมิใจว่า…ปัจจุบัน น้องสามารถตื่นเองโดยการตั้งนาฬิกาปลุก จากนั้นดูแลตนเองเสร็จแล้ว จึงขึ้นรถตู้ไปโรงเรียนได้เอง ดูแลตัวเองได้ดีในเรื่องกิจวัตรประจำวันและสิ่งที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง

—————

กลับจากโรงเรียนก็จะถามคุณแม่ว่าจะให้ช่วยงานบ้านอะไรและช่วยคุณแม่ทำงานบ้านจนเสร็จ เสร็จแล้วจึงไปทำการบ้าน”

—————

นี่คือผลสำเร็จที่ไม่ได้เกิดจากวันเดียวแต่เป็นบทพิสูจน์รักแท้ของพ่อแม่ที่ยอมรับและรักลูกอย่างไม่มีเงื่อนไข

—————

เป็นครอบครัวเล็ก ๆ ที่เลี้ยงลูกเอง โดยไม่มีกำลังเสริม

—————

วันแล้ววันเล่า ที่คุณพ่อคุณแม่ทั้งดำเนินชีวิต ทั้งดูแลลูก 2 คน ลงมือลงแรงด้วยตนเอง วันนี้ลูกชายคนโตจึงแข็งแรงยิ่ง ๆ ขึ้นตามลำดับ

—————

รักที่แท้เป็นแบบนี้นี่เองค่ะ

————–

5 วิธีรับมือสำหรับคุณพ่อคุณแม่ เมื่อรู้ว่าลูกเป็นออทิสติก | บ้านอุ่นรัก

5 วิธีรับมือสำหรับคุณพ่อคุณแม่ เมื่อรู้ว่าลูกเป็นออทิสติก | บ้านอุ่นรัก

บทความที่น่าสนใจในวันนี้ ขอนำเสนอในหัวข้อ 5 วิธีรับมือสำหรับคุณพ่อคุณแม่ เมื่อรู้ว่าลูกเป็นออทิสติก โดยครูนิ่ม บ้านอุ่นรักค่ะ

หลายต่อหลายครั้ง ที่รู้สึกเหมือนโชคชะตาไม่เป็นใจ หรือรู้สึกเหมือนกำลังโดนฟ้า หรือใครกลั่นเกล้งเราอยู่ เราก็อาจจะยังไม่รู้สึกเสียใจ ท้อแท้ใจ ห่อเหี่ยวใจ มากไปกว่า วินาทีที่เราได้รับการยืนยัน หรือทราบข่าวแน่ชัดแล้วว่า ลูกรักของเรามีอาการผิดปกติทางด้านพัฒนาการ หรือเป็นโรคออทิสติก

บ้านอุ่นรักและครูนิ่มเอง จากประสบการณ์ที่ดูแลพบปะกับเด็กๆ และคุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองมาตลอดระยะเวลากว่า 26 ปี เราเข้าใจในจุดๆนี้ ของคุณพ่อคุณแม่ดีค่ะ ว่าการทำใจยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ เป็นเรื่องที่ยากลำบากกับความรู้สึกของคุณพ่อคุณแม่ในเวลานั้นเป็นอย่างมาก

แต่ครูนิ่มขอบอกเลยนะคะ ไม่ว่าจะอย่างไรก็แล้วแต่ ไม่ว่าเราจะโศกเศร้าเสียใจ หรือตีโดยตีพายขนาดไหนก็ตาม สิ่งๆ นี้ได้เกิดขึ้นแล้ว และเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงไม่ให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ค่ะ แต่ในความโชคร้าย ก็ยังมีความโชคดีอยู่ นั่นก็คือ เราสามารถเตรียมตัวและรับมือ กับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ค่ะ

1. ปรับเปลี่ยนทัศนคติของตนเอง  ไม่โทษตนเองหรือโชคชะตาที่ลูกเป็นโรคนี้  เปิดใจยอมรับธรรมชาติที่ลูกเป็น ลูกยังคงเป็นเด็กน้อยคนเดิมที่เรารัก ลูกของเราไม่ใช่เด็กที่บุบสลาย และยังคงมีศักยภาพซ่อนอยู่ในตัวเหมือน ๆ กับเด็กทุกคน เพียงแต่เป็นเด็กที่มีวิถีการเรียนรู้ที่แตกต่าง  การสอนและเลี้ยงดูลูกออทิสติกนั้นอาจจำเป็นต้องใช้วิธีการที่แตกต่างหรืออาจใช้เวลามากกว่าในระยะแรก  ดังนั้นรีบเริ่มต้นเรียนรู้ให้เร็วว่า  เราจะเป็นพ่อแม่นักบำบัดได้อย่างไร แล้วทำทุกวันให้ดีที่สุด พร้อม ๆ ไปกับการอนุญาตให้ตนเองมีความสุขให้ได้ ด้วยทัศนคติทางบวกเช่นนี้ พ่อแม่จะมีพลังกายและใจในการนำพาลูกสู่เส้นทางการเจริญเติบโตอย่างเต็มศักยภาพอย่างแน่นอน

2. ปรับเปลี่ยนตนเองให้เป็นพ่อแม่นักบำบัด หาความรู้เรื่องแนวทางการบำบัด ทำความเข้าใจเรื่องอาการของลูก และเริ่มลงมือทำด้วยตนเอง  คู่ขนานไปกับการบำบัดรักษาจากนักบำบัดมืออาชีพ ซึ่งการเปลี่ยนตนเองให้เป็นพ่อแม่นักบำบัดนี้ไม่ใช่เรื่องยาก โดยรับคำแนะนำจากแพทย์และทีมบำบัด ตลอดจนเข้าร่วมคอร์สฝึกอบรมต่าง ๆ ที่สถาบันที่เกี่ยวข้องกับโรคออทิสติก รวมทั้งทีมบ้านอุ่นรักเอง ก็ได้จัดทำโปรแกรมเผยแพร่ความรู้ไว้หลายรูปแบบเพื่อเป็นเครื่องมือนำทางให้กับพ่อแม่ผู้ปกครอง  หากพ่อแม่สืบค้นก็จะพบคอร์สต่าง ๆ ที่น่าเรียนรู้เพื่อบำบัดรักษาอาการของลูกเองที่บ้าน และนี่ก็คือก้าวแรกที่สำคัญที่จะนำพาพ่อแม่สู่การเป็นพ่อแม่นักบำบัดได้ในที่สุดซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่าย และยังช่วยให้ลูกมีพัฒนาการที่ก้าวหน้าเร็วกว่าการรอรับบริการจากภายนอก เพียงทางเดียว ซึ่งทางบ้านอุ่นรักเอง ก็ได้มีบริการจัดอบรมคอร์สต่างๆ เหล่านี้โดยครูนิ่มด้วยเช่นกันค่ะ ซึ่งหากคุณพ่อคุณแม่ท่านใดสนใจก็ติดต่อกับทางบ้านอุ่นรักเข้ามาได้ค่ะ

3. ปรับเปลี่ยนสมาชิกในบ้านให้เป็นทีมบำบัด จากการศึกษาทั้งในและต่างประเทศพบว่าการกระตุ้นพัฒนาการและปรับพฤติกรรมลูกออทิสติกนั้นต้องทำให้ครอบคลุมพัฒนาการทุกด้าน โดยเฉพาะการเกิดในชีวิตจริงที่บ้าน และทำอย่างต่อเนื่องใช้เวลาที่ยาวนานมากพอ สมาชิกทุกคนในบ้านจึงเป็นบุคคลสำคัญที่เรียกว่า Keyman  หากพ่อแม่ พี่น้อง และสมาชิกในบ้านแทคทีมจับมือกันเป็นทีมบำบัด และจัดแบ่งหน้าที่ในการช่วยกระตุ้นพัฒนาการและปรับพฤติกรรมให้ลูกออทิสติก โดยพุดคุยตกลงกันว่าใครสามารถทำสิ่งใดได้ ในเวลาใด เช่น แม่รับหน้าที่ฝึกลูกเรื่องทักษะการสานต่อการสนทนาและการทำกิจวัตรประจำวันเรื่องการตื่นนอน การทานอาหาร พ่อชวนลูกทำกิจกรรมสร้างสรรค์นอกบ้าน พี่ชวนน้องออทิสติกเตะฟุตบอลหรือขี่จักรยานร่วมกันยามเย็น คุณยายช่วยฝึกหลานให้ช่วยเหลือตนเองในการอาบน้ำและแต่งกาย  ฯลฯ หากทุกคนร่วมมือกันลงมือทำไปเรื่อย ๆ อย่างมีทิศทาง ในที่สุด ลูกออทิสติกจะเก่งขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยฝีมือของ (พวก) เราเอง

4. ปรับเปลี่ยนการจัดสรรเวลาเพื่อหาเวลาเฉพาะกันไว้ให้ลูก  เช่น พ่ออาจต้องตื่นให้เช้าขึ้นสักครึ่งชั่วโมงและก่อนพ่อออกไปทำงานในตอนเช้า จัดเวลาเฉพาะไว้เพื่อพูดคุยชวนลูกสบตาและสานต่อบทสนทนาระหว่างอาหารมื้อเช้า  แม่อาจลดภาระงานบ้านลงบางส่วนเพื่อจัดเวลาเฉพาะไว้เพื่อพาลูกเข้านอน เล่านิทาน ชวนลูกสรุปความจากนิทานที่ได้ฟังไป การจัดเวลาเฉพาะไว้ให้ลูกนี้ เราขอแนะนำว่าต้องใช้เวลาแต่ละช่วงไม่ต่ำกว่า 10-15 นาที ให้ได้วันละหลายๆรอบ  ดังนั้น แม้การทำแบบนี้อาจทำให้พ่อแม่เสียเวลาส่วนตัวไปบ้าง แต่จะได้เวลาคุณภาพที่ได้อยู่กับลูกเพิ่มเติม การกันเวลาที่มีค่าเฉพาะไว้เพื่อลูกในทุก ๆ วันเช่นนี้ จึงเป็นเสมือนของขวัญที่พ่อและแม่ได้มอบให้กับลูก และเป็นการสร้างสัมพันธภาพที่เปี่ยมไปด้วยรักและอบอุ่นสำหรับครอบครัวได้อย่างแท้จริง

5. ปรับเปลี่ยนวิธีคิดในแง่การทำใจยอมรับความช่วยเหลือยามจำเป็น  เราไม่สามารถเป็นพ่อแม่ที่สมบูรณ์แบบหรือพร้อมรับมือตลอดเวลา  โดยเฉพาะในการเลี้ยงดูลูกที่ใช้พลังกาย ใจ  มากกว่าการเลี้ยงตามปกติ ย่อมทำให้พ่อแม่เกิดความเหนื่อยล้า  ดังนั้นในบางเวลาเราจำเป็นต้องเอ่ยปากขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้างบ้าง  พ่อแม่ไม่จำเป็นต้องเป็นซุปเปอร์พ่อแม่ที่ต้องทำทุกอย่างด้วยตนเองไปสียทั้งหมด ลองมองไปรอบ ๆ ตัว แล้วจะพบคนที่ปรารถนาดีรอให้ความช่วยเหลือในรูปแบบที่เขาทำได้อยู่รายรอบ เช่น คุณน้าข้างบ้านที่อาสาดูแลลูกให้เราสักครึ่งชั่วโมงในขณะที่เราไปซื้อของที่ตลาด เพื่อนของเราที่จะช่วยดูแลลูกในขณะวันที่เราไม่สบาย เพื่อนของพ่อที่เป็นเพื่อนเล่นฟุตบอลกับลูกของเราพร้อม ๆ ไปกับลูกของเขา เป็นต้น เพียงเรายอมรับว่าเราทำทุกอย่างเองไม่ได้ เราเปิดใจให้ลูกได้เป็นตกเป็นสมบัติสาธารณะตามควรอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในที่สุด เพื่อนบ้านของเรา เพื่อนของเรา ญาติพี่น้องของลูก หรือแม้แต่พี่พนักงานขายของที่ร้านสะดวกซื้อ จะเปิดใจรับลูก ทำความรู้จักกับลูก มองเห็นความน่ารักน่าเอ็นดูของลูก และอ้าแขนรอกอดลูกออทิสติกผู้น่ารักของเรา

ครูนิ่ม และพวกเราชาวบ้านอุ่นรักทุกคน จะยืนอยู่ตรงนี้เป็นอีกหนึ่งกำลังใจ มีรอยยิ้ม  อ้อมกอดที่จริงใจ  และพร้อมจะดูแลคุณพ่อคุณแม่ และเด็กๆ ในเรื่องที่เราทำได้ค่ะ

VDO | บทบาทของคุณพ่อ ในเรื่องการดูแลและเลี้ยงดูลูกน้อย

VDO | บทบาทของคุณพ่อ ในเรื่องการดูแลและเลี้ยงดูลูกน้อย

บทบาทของคุณพ่อ
———-
ในเรื่องการดูแลและเลี้ยงดูลูก คุณพ่อมักรู้สึกว่าคุณพ่อดูแลลูกได้ไม่ดีเท่าคุณแม่ แต่จริง ๆ แล้วคุณพ่อมีบทบาทที่สำคัญยิ่งในการดูแลทั้งคุณแม่และลูกโดยที่คุณพ่ออาจไม่รู้ตัว 
———-
แล้วบทบาทอะไรบ้างนะที่คุณพ่อทำได้อย่างวิเศษสุด ?

———-
บทบาทของคุณพ่อ คือ 
———-
1. เป็นร่มเงา เป็นเพื่อนคู่คิด เป็นกำลังใจเคียงข้างให้คุณแม่รู้สึกมั่นคงในชีวิตและไม่รู้สึกโดดเดี่ยวที่ต่อสู้อยู่คนเดียว ความรู้สึกดี ๆ สามารถถ่ายทอดให้คุณแม่รับรู้ได้ด้วยการกอด ลูบหัว จับมือ และใช้คำพูดในการกล่าวคำขอบคุณ การพูดกล่าวรับรู้ถึงความพยายามของคุณแม่ที่กำลังพยายามอย่างหนักที่จะทำดีที่สุดเพื่อลูก เพื่อสามี และเพื่อครอบครัว การถ่ายทอดความรู้สึกดี ๆ นี้ จะทำให้คุณแม่หายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้งได้
———-
2. เป็นผู้ช่วยของคุณแม่ สิ่งที่คุณพ่อทำได้ คือ การช่วยเหลือง่าย ๆ ในชีวิตประจำวัน แอบช่วยเหลือคุณแม่อยู่เงียบ ๆ ในสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ เมื่อมีเวลาว่างพอ ที่จะทำได้ เช่น ช่วยล้างจานที่กองอยู่เต็มซิงค์ล้างจาน เพื่อให้คุณแม่ได้เข้านอนเร็วขึ้น ช่วยวิ่งเก็บผ้าเมื่อเห็นฝนตก ช่วยพาลูกไปเดินเล่น เพื่อให้คุณแม่ได้มีเวลาพักสักครู่ การแสดงน้ำใจเล็ก ๆ น้อย ๆ บ่อย ๆ เป็นการย้ำและแสดงออกถึงความรักความห่วงใยผ่านการกระทำ ซึ่งคุณแม่จะรับรู้ได้อย่างชัดเจนมากกว่าการพูด
———-
3. เป็นผู้สร้างประสบการณ์ดี ๆ ให้กับลูก หน้าที่นี้ที่คุณพ่อมีต่อลูก คือ การสร้างภาพจำดี ๆ ของพ่อและลูก พ่อที่มีความอดทนและเมตตา พ่อที่เข้าใจเสมอว่าลูกคนนี้ไม่ได้ดื้อแต่ตอนนี้ยังไม่เข้าใจจริง ๆ พ่อที่วิ่งเล่นไล่จับไปด้วยกัน พ่อที่พาลูกเดินเล่น พ่อที่เข็นและซ่อมจักรยานให้ พ่อที่พาลูกไปเล่นน้ำ พ่อที่ใส่เสื้อให้อย่างเก้งก้าง พ่อที่ถักผมเปียโย้เย้ให้ลูกไปโรงเรียน อยากบอกความลับว่าอีกสิ่งที่ผู้หญิงประทับใจที่สุด คือ การหันไปมอง แล้วเห็นภาพพ่อกับลูกเล่นและหัวเราะร่วมกันอย่างสนุกสนาน บทบาทนี้ของคุณพ่อจึงนับเป็นการสร้างประสบการณ์ดี ๆ ให้กับลูกและคุณแม่ที่เฝ้ามองไปพร้อม ๆ กัน
———-
4. เป็นผู้ดูแลคุณแม่ หน้าที่หลักของคุณพ่อก็คือการดูแลคุณแม่นั่นเอง 
———-
เห็นมั๊ยคะว่าจริง ๆ แล้วคุณพ่อคือผู้ให้ร่มเงาและให้ความอบอุ่นแก่คุณแม่และลูกอย่างแท้จริง แต่สิบปากว่า ก็ไม่เท่าสองตาเห็น ดังนั้น วันนี้ เราขอแชร์คลิปจาก TNN24 เรื่อง “คุณพ่อต้นแบบบุคคลออทิสติก” กันอีกสักครั้ง 
———-
คลิปเรื่องนี้มี 2 ตอน กดลิ้งค์ข้างล่างนี้เพื่อรับชมได้เลยค่ะ 
———-

———-
Clip Credit: TNN24 เรื่อง “คุณพ่อต้นแบบบุคคลออทิสติก”
———-
Photo Credit: Joanna Nix on Unsplash