8 ของเล่นติดบ้าน เพื่อเสริมพัฒนาการเด็กออทิสติกอายุ 2-5 ขวบ | บ้านอุ่นรัก
วัย 2-5 ขวบเป็นวัยที่เด็กๆจะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ผ่านการเล่น โดยการเรียนรู้บางส่วนเกิดระหว่างการเล่นร่วมกับพ่อแม่กับคนรอบข้าง หรือเล่นกับเพื่อนๆวัยเดียวกัน หรือ และอีกส่วนจะเป็นการค้นพบด้วยตนเอง โดยเด็กจะสนใจทุกสิ่งรอบตัวและค้นคว้า หาทางเล่นได้หลากหลาย ผ่านการเล่น เชิง สำรวจ ทดลอง ค้นคว้า ซ้ำแล้วซ้ำอีก จนเด็ก ๆ ค้นพบการเรียนรู้บางอย่าง แต่สำหรับเด็กออทิสติก การเล่นมักมีรูปแบบเฉพาะที่แตกต่างออกไป คือ เด็กมักสนใจสิ่งของที่สามารถนำมาตอบสนองการรับสัมผัส โดยวนเล่นซ้ำ ๆ ในรูปแบบเดิม ๆ แบบ Sensory Play มากกว่าการเล่นเชิงสำรวจค้นคว้าแบบเด็กในวัยเดียวกัน
ถ้าอย่างนั้น ในวันนี้ เรามาคุยกันในประเด็นการเลือกของเล่นที่เราควรมีติดบ้านเพื่อส่งเสริมพัฒนาการลูกกออทิสติกวัย 2-5 ขวบ โดย “บ้านอุ่นรัก” ขอเสนอ 8 ของเล่นติดบ้านเพื่อเสริมพัฒนาการเด็กออทิสติกอายุ 2-5 ขวบกันค่ะ
1 ของเล่นที่นำมาประกอบการเคลื่อนไหว
วัย 2 ขวบเป็นวัยที่เด็ก ๆ จะเริ่มเรียนรู้ที่จะควบคุมร่างกายตนเองและเริ่มเคลื่อนไหวอย่างมีทิศทางที่มีรูปแบบมากขึ้น โดยเริ่มมองหาสิ่งรอบตัวมาเล่นประกอบการเคลื่อนไหว แต่เด็กออทิสติกมักจะชอบเคลื่อนไหวอิสระแบบเดิม ๆ โดยไม่มีรูปแบบ เช่น วิ่งไป-มาข้ามห้อง เดินวนรอบห้อง ปีนป่ายโซฟาซ้ำแล้วซ้ำอีก หรือนั่งแยกตัวนาน ๆ กับสิ่งเดิม ๆ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรจัดหาของเล่นที่สามารถนำมาเล่นประกอบเพื่อเพิ่มทักษะการเคลื่อนไหวทางร่างกาย เช่น แทมโพลีนกระโดดเล่น รถของเล่นที่มีล้อเข็นไปมา รถลากมีเชือกผูกสำหรับลากจูง ลูกบอลไว้เตะ-โยน-กลิ้ง ลูกปิงปองไว้โยนเล่น ฟองสบู่ไว้วิ่งไล่จับ จักรยานขาไถไว้ใช้ฝึกการทรงตัว หรือรถจักรยานสามล้อขนาดที่เหมาะสมกับวัย
หลักการ: ชวนเด็กเล่นประกอบการเคลื่อนไหวให้หลากหลายแต่มีรูปแบบที่เหมาะสมกับของเล่นนั้น ๆ และชวนให้เด็กเล่นโดยใช้ระยะเวลาต่อเนื่องนานพอควรโดยไม่ละความสนใจกลางคัน เช่น เล่น 5-10 นาทีเป็นอย่างน้อยต่อรอบ
2 ของเล่นเพื่อเพิ่มการสำรวจ ทดลอง (สิ่งของรอบตัว)
เนื่องจากเด็กออทิสติกมักจะสนใจสิ่งเร้าจำกัด ไม่ค่อยเข้าไปสำรวจหรือตอบสนองกับสิ่งใหม่ ๆ รอบตัว เมื่อสนใจเล่นอะไรก็มักจะเล่นเป็นรูปแบบเดิม ๆ ซ้ำ ๆ ซึ่งต่างจากเด็กในวัยเดียวกัน ดังนั้น เราควรมองหาสิ่งของที่มีอยู่รอบตัว เช่น ขวด กล่อง ของใช้ ของใช้พลาสติก ฯลฯ มาชวนลูกเล่นแบบทดลอง สำรวจ และค้นหาวิธีเล่นสนุก ๆ ที่หลากหลาย หรืออาจจัดหาของเล่นที่มีแสง สี เสียง มีการเคลื่อนไหว เช่น ของเล่นไขลาน ไฟฉายดวงเล็ก หุ่นที่ขยับได้ หมุนลูกข่าง เป่าฟองสบู่ โยนลูกปิงปอง เทบอลลูกเล็ก 10-15 ลูกแล้วกระตุ้นให้เด็กเก็บบอลใส่ตะกร้า โยนลูกโป่งแล้วชวนเด็กไล่ตีไล่จับ เป็นต้น
หลักการ: เมื่อมีของ1 ชิ้นวางอยู่ตรงหน้าที่สามารถนำมาเล่นได้ ให้เราพยายามกระตุ้นให้เด็กสนใจและพยายามค้นหาวิธีเล่นหลาย ๆ แบบ เช่น นำขวดมาเปิด-ปิดฝา นำมากลิ้งเล่น เตะขวดแทนบอล นำของมาใส่ปิดฝาแล้วเขย่า เล่นกรอกน้ำใส่ขวด หรือนำรถยนต์ของเล่นมาชวนลูกเล่นด้วยวิธีการที่หลากหลาย เช่น นำรถมาแล่นบนพื้นไปมา รถปีนขึ้นสะพานไม้ จับรถถอยเข้าจอดในกล่อง ฯลฯ หรือจัดสถานการณ์บ่อย ๆ ให้ลูกสังเกตเห็นสิ่งเร้าและเข้าไปตอบสนองให้ถี่ขึ้นอย่างมีทิศทางมากขึ้น เช่น กระตุ้นให้ทดลองเปิด-ปิดปุ่มบังคับของเล่นไขลาน เล่นฟองสบู่ในรูปแบบหลากหลาย จับนำลเด็กให้สนุกกับวิ่งไล่จับฟองสบู่ ใช้นิ้วตามจิ้มฟองสบู่ให้แตก กระโดดโหม่งฟองสบู่ เป็นต้น
3 ของเล่นเพื่อประกอบการเรียนรู้และเข้าใจสิ่งรอบตัว ของใช้หรือสิ่งของที่เด็กพบในชีวิตประจำวัน
หลักการ: ชวนเด็กเล่นสิ่งของตามประโยชน์ของสิ่งของนั้น ๆ เช่น แปรงสีฟัน หวี กระจก ขวดแชมพู ช้อน จาน แก้วนํ้าพลาสติก ฯลฯ เริ่มจากจับมือนำ ชวนสำรวจทดลอง และพาเด็กเรียนรู้สิ่งรอบตัวอย่างหลายหลาย โดยนำสิ่งนั้นมาประกอบกริยาอาการตามจริง ทำบ่อย ๆ ทำทุกครั้งที่เห็นโอกาสจะแทรกได้ เช่น จับมือเด็กทำท่าแปรงฟันแล้วปล่อยให้เด็กทำเอง สาธิตและจับมือเด็กทำท่าหวีผมแล้วปล่อยให้เด็กทำเอง
4 ของเล่นเพื่อสร้างสมาธิ
ใช้ของเล่นที่มีจำนวนชิ้นมาก ๆ ที่มั่นใจว่าเด็กสามารถลงมือทำได้ด้วยตนเองอย่างแน่นอน เพื่อฝึกให้เด็กเล่นของเล่นแบบต่อเนื่องรวดเดียวจบโดยไม่ละความสนใจกลางคัน ทั้งนี้ เราสามารถใช้กิจกรรมฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็กที่เด็กทำได้เองแล้วมาฝึกการคงสมาธิ เช่น ต่อเลโก้ขนาดใหญ่ หยอดกระปุกออมสิน หยิบเมล็ดพืชใส่ขวด หนีบไม้หนีบขนาดใหญ่บนกระดาษแข็ง ใส่บล็อกลงแท่น กรอกทรายใส่ขวด กรอกน้ำใส่ขวด ปักหมุดขนาดใหญ่ลงแท่น ดึงและกดของเล่นโฟม หรืออาจใช้กิจกรรมที่ได้ลงมือทำเอง เช่น ระบายสีน้ำ ระบายสี ติดเศษกระดาษบนภาพ ลากเส้นง่าย ๆ โดยตั้งเป้าหมายให้ทำงานได้ในพื้นที่อย่างน้อยครึ่งหนึ่งหรือสามเต็มส่วนของกระดาษ A4 และค่อย ๆ เพิ่มการทำงานให้ได้พื้นที่มากขึ้น
หลักการ: ชวนเด็กเล่นของเล่นที่หลากหลาย โดยเน้นการเฝ้ามองและกระตุ้นให้เด็กลงมือทำกิจกรรมนั้น ๆ ที่มั่นใจว่าไม่ยากเกินความสามารถตามวัย ในกรณีที่เด็กลงมือทำตามทิศทางการเล่นที่ถูกต้องแล้ว เราจะปล่อยให้เด็กเล่นเองโดยไม่เข้าแทรก แต่หากเด็กลงมือทำไม่ต่อเนื่องหรือนำของนั้นมาเล่นในลักษณะกระตุ้นการรับรู้ของตนเอง แบบ Sensory Play เช่น เพ่งมอง เคาะฟังเสียง ลูบสัมผัสแทนเล่น เรียงเป็นแถวยาวเพื่อเพ่งมอง จึงเข้าแทรกและนำให้เด็กลงมือทำในทิศทางที่ตรงตามรูปแบบการเล่นนั้น ๆ โดยนับจำนวนชิ้นที่ส่งให้เด็กทำให้ต่อเนื่อง เริ่มจาก 5 -10-15-20 ชิ้น ตามลำดับ
5 ของเล่นเพื่อฝึกการแก้ปัญหาและพัฒนักษะด้านสติปัญญา
ตัวอย่างของเล่น เช่น ภาพตัดต่อ หนังสือ เกมบอร์ดต่าง ๆ จับคู่ภาพที่เหมือนกัน จับคู่สี รูปทรง ตัวเลข ตัวอักษรพลาสติก หัวและตัวสัตว์ ภาพกับเงา เป็นต้น โดยเพิ่มระดับความยากตามความสนใจและความสามารถของเด็ก
หลักการ: ชวนเด็กเล่นตามรูปแบบที่เหมาะสมกับของสิ่งนั้น หากในระยะเริ่มต้นเด็กยังเล่นไม่ได้ ให้เราเริ่มจากจับมือเด็กทำซ้ำ ๆ แล้วค่อย ๆ ลดการช่วยลงทีละน้อย
6 ของเล่นเพื่อพัฒนาทักษะทางกล้ามเนื้อมัดเล็ก (มือ-นิ้ว-สายตา)
ตัวอย่างของเล่น เช่น ดินน้ำมัน กรรไกรปลายมน ฉีกหรือขยำกระดาษ ไม้หนีบผ้า ร้อยลูกปัด
หลักการ: การพัฒนาทักษะการประสานงานระหว่างมือ-นิ้ว-สายตา จะพัฒนาผ่านกิจกรรมที่เด็ก ๆ ได้ทดลองลงมือทำและแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่หลากหลายผ่านการเล่นบ่อย ๆ เพื่อสร้างประสบกาณ์ให้เด็ก ๆ มีโอกาสได้ฝึก ขยำ ดึง กด แกะ บิดข้อมือ โดยเน้นให้เด็ก ๆ ได้ใช้มือทั้งสองข้างทำงานร่วมกัน ทั้งนี้ เราควรเตือนให้เด็กตามองตามมือขณะลงมือทำกิจกรรมต่าง ๆ เป็นระยะตามความเหมาะสม
7 ของเล่นเพื่อพัฒนาทักษะทางภาษา
ตัวอย่างของเล่น เช่น หนังสือนิทาน ตุ๊กตา โมเดลสัตว์และผลไม้ เครื่องครัว การ์ดภาพ ฯลฯ
หลักการ: การพัฒนาทักษะทางภาษาประกอบด้วย 3 มุมมอง คือ การขยายคำศัพท์ การฝึกการฟังเข้าใจ และการกระตุ้นการสื่อความหมายผ่้านการพูดหรือการแสดงท่าทาง ดังนั้น เราจะใช้ของเล่นข้างต้นเป็นเครื่องมือแทรกการสอนศัพท์ ทบทวนการฟัง โดยการตั้งคำถามหรือให้คำสั่งบางอย่างเพื่อประเมินความเข้าใจจากการฟังและกระตุ้นให้เด็ก ๆ พูดหรือใช้ท่าทางโต้ตอบกลับมา
8 ของเล่นเชิงจินตนาการ
ของเล่นประเภทนี้เป็นการเล่นแบบแสร้งทำ เล่นเชิงจินตนาการ และสร้างบทสนทนา เช่น โมเดลสัตว์ รถยนต์ของเล่น เลโก้ ตุ๊กตา ฯลฯ
หลักการ: เรานำของเล่นนั้น ๆ มาประกอบการเล่นเป็นเรื่องราวหรือกระทำแบบแสร้งทำเสมือนจริง เช่น นำตุ๊กตามาแต่งตัวและพูดคุยเหมือนกำลังเลี้ยงน้อง เล่นหม้อข้าวหม้อแกงแบบกำลังขายของ นำตัวโมเดลทหารพลาสติก 2 ตัวมาทำเหมือนกำลังต่อสู้กัน นำหุ่นยนต์มาเดินหรือทำท่าทาง ในกรณีที่เด็กออทิสติกสามารถเริ่มพูดสนทนาได้ เราอาจเพิ่มบทสนทนาแทรกประกอบในการเล่นนั้น ๆ
“บ้านอุ่นรัก” หวังว่าตัวอย่างของเล่นแบบต่าง ๆ ที่เรานำมาเสนอในวันนี้พอจะเป็นไอเดียเรื่องการจัดหาของเล่นประจำบ้าน ตลอดจนให้แนวทางการและวิธีเล่นกับเด็ก ๆ ได้บ้างนะคะ อย่าลืมนะคะว่าทุกครั้งที่เล่นหรือใช้เวลาร่วมกับเด็ก อย่าลืมที่จะแทรกการสบตา สัมผัสตัวเด็ก และแทรกบทสนทนา คุยกับเด็ก ๆ ลูก ๆ ใช้เวลาดี ๆ ร่วมกันอย่างคุ้มค่าให้มากที่สุด ว่าแล้วก็ลุกขึ้นไปสำรวจสิ่งที่พอจะมีอยู่แล้วในบ้านหรือออกไป Shopping เตรียมของเล่นไว้เล่นกับเด็ก ๆ ลูก ๆ กันค่ะ แต่มีเงื่อนไขนะลูก “ขอ พ่อแม่เล่นด้วยนะ”
สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองหรือคุณครูที่สนใจเรียนรู้เทคนิคการเล่นกับเด็กออทิสติก เราก็มีตัวอย่าง มี Lesson Plan และภาพการสาธิตการเล่นเพื่อบำบัดอาการเด็กออทิสติกด้วยค่ะ สนใจติดต่อสอบถามเราได้ตามช่องทางที่คุณสะดวก กดที่นี่เลยค่ะ