by admin | บทความบ้านอุ่นรัก
การเล่นสนุกกับลูกหลานที่บ้านเป็นการทำกิจกรรมที่มีประโยชน์ร่วมกันระหว่างพ่อแม่ผู้ปกครองและเด็ก ๆ ซึ่งศูนย์กระตุ้นพัฒนาการเด็ก “บ้านอุ่นรัก” อยากส่งเสริมให้ทุกบ้านหมั่นหาเวลาสร้างบรรยากาศการเล่นสนุก ๆ ร่วมกัน โดยการเล่นสนุกนี้มีประโยชน์ คือ
- พ่อแม่ผู้ปกครองได้ส่งเสริมพื้นฐานทางอารมณ์ให้ลูกหลานเป็นเด็กที่มีพื้นฐานทางอารมณ์เชิงบวก ลูกหลานจึงเป็นเด็กที่มีความสุข
- พ่อแม่ผู้ปกครองได้สื่อให้เด็ก ๆ ที่บ้านรับรู้ความหมายของการได้อยู่ร่วมกันกับคนรอบข้างในครอบครัวว่าเป็นเวลาที่ดี มีความสุข และได้หัวเราะด้วยกันอย่างสนุกสนาน อันจะช่วยสร้างความรักความผูกพันระหว่างสมาชิกในครอบครัวได้เป็นอย่างดี
- พ่อแม่ผู้ปกครองได้ตั้งเป้าหมายของตนเองว่าลูกหลานจะต้องสนุกเมื่อได้เล่นและได้อยู่ร่วมกันกับเรา เด็ก ๆ ต้องสนุกมากกว่าการเล่นอยู่กับของเล่นหรืออยู่ในโลกส่วนตัวตามลำพัง
- พ่อแม่ผู้ปกครองได้ใช้การเล่นสนุกในการช่วยปรับลดอารมณ์หงุดหงิดง่ายของลูกหลาน อีกทั้งได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็กให้เป็นเชิงบวกมากยิ่งขึ้นไปพร้อม ๆ กัน
เครดิตภาพ: <a href=”https://www.freepik.com/vectors/family-care“>Family care vector created by dooder – www.freepik.com</a>
by admin | บทความบ้านอุ่นรัก
การสานต่อแบบสองทางระหว่างพ่อแม่ผู้ปกครองและเด็ก ๆ มีอยู่ 2 ลักษณะ คือ
- การสานต่อแบบสองทางด้วยการแทรกซึมตัวเราให้เด็กเคยชินที่จะอยู่กับเรา ทำได้โดยเราไม่ปล่อยให้เด็กแยกตัวออกไปทันที หรือแยกตัวออกไปทำกิจกรรมที่หมกมุ่น หรือแยกตัวออกไปนั่งเล่นอยู่คนเดียว การสานต่อแบบสองทางในลักษณะนี้ พ่อแม่ผู้ปกครองต้องเน้นความพยายามทำให้ช่วงเวลาที่ได้ใช้ร่วมกันเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขและความสนุก และให้ความสำคัญกับการเพิ่มความแน่นแฟ้นให้มากขึ้น ๆ ตลอดจนมุ่งขยายระยะเวลาแห่งความสุขและสนุกร่วมกันนี้จากระยะเวลาสั้น ๆ เป็นเวลาที่นานยิ่ง ๆ ขึ้น การแทรกซึมนี้มี “การเล่น” เป็น “สื่อกลาง” ระหว่างเราและเด็ก ซึ่งเป็นทั้งการเล่นแบบที่มีของเล่นและการเล่นระหว่างเรากับเด็กโดยไม่ต้องมีของเล่นก็ได้ เช่น เล่นจะเอ๋ เล่นจั๊กจี้ เล่นวิ่งไล่จับและสบตากัน เล่นนั่งเครื่องบินบนขาและสบตากัน หรือนำเด็กทำกิจกรรมที่เด็กชอบโดยมีเราเป็นส่วนรวม เป็นต้น
- การสานต่อแบบสองทางด้วยการวางเงื่อนไขสองสิ่งเพื่อให้เด็กคุ้นเคยที่ได้อยู่กับเราและเข้ามาอยู่ในครรลองที่เราพยายามนำทางเขาได้ในลำดับถัดไป ซึ่งศูนย์กระตุ้นพัฒนาการ “บ้านอุ่นรัก” จะชวนพ่อแม่ผู้ปกครองคุยรายละเอียดของการสานต่อด้วยวิธีนี้กันต่อในตอนต่อไป อย่างไรก็ตาม การสานต่อแบบสองทางด้วยการวางเงื่อนไขนี้มีข้อพึงระวังคือเราต้องไม่เน้นที่จะการวางเงื่อนไขแบบจริงจังแต่เพียงฝ่ายเดียวจนลืมที่จะเน้นกันสานต่อแบบสองทางในทางบวกกับเด็ก ไม่เช่นนั้น จะกลายเป็นว่าเราเน้นแต่ซีนดุ ซีนวางเงื่อนไข ซีนต้องทำแบบนี้จึงจะได้ความสุขหรือความสนุกเป็นการตอบแทน หากบรรยากาศการวางเงื่อนไขออกเป็นแนวนี้ เด็ก ๆ ก็จะไม่รู้สึกถึงความสุขและสนุกที่ใช้เวลาร่วมกันกับเรา เราจึงต้องระวังเรื่องการสานต่อแบบสองทางด้วยการวางเงื่อนไขอยู่บ้างเช่นกัน
ไม่ว่าพ่อแม่ผู้ปกครองเลือกใช้วิธีใดในการสานต่อแบบสองทางกับลูก ขอให้ท่านคงแก่นแท้ของการสานต่อแบบสองทางดังต่อไปนี้ไว้ให้ได้ เพื่อท่านสามารถสร้างเสริมคุณภาพชีวิตให้กับลูก ๆ เพิ่มบรรยากาศทางบวกในครอบครัว พร้อม ๆ กับได้มีช่วงเวลาแห่งความสุขและสนุกร่วมกัน
- เน้นการสร้างโอกาส หรือมีโอกาสสร้างและสานต่อปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน ได้เล่นด้วยกัน ได้ใช้เวลาสนุกด้วยกันเยอะ ๆ และสร้างสัมพันธภาพทางบวกกับเด็ก
- เน้นเป้าหมายการทำให้เด็กคุ้นเคยที่จะได้อยู่กับเรา ได้ใช้เวลาร่วมกันกับเราเพื่อเล่น สำรวจสิ่งแวดล้อม เรียนรู้และทำกิจกรรมสนุก ๆ แบบใหม่ ๆ ที่มีประโยชน์ต่อการสร้างเสริมทักษะของเด็กอย่างรอบด้าน
- เน้นการได้หัวเราะและได้สบตากัน เพื่อทำให้เด็กรับรู้ว่าการอยู่กับพ่อแม่ผู้ปกครองนั้นมีทั้งความสนุกและความสุข
- เน้นการลงมือทำในชีวิตจริง เพื่อให้เด็กสัมผัสให้ได้ว่าไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใดลูกจะมีพ่อแม่ผู้ปกครองที่รัก เข้าใจ และเป็นเพื่อนกับลูกเสมอ
เครดิตภาพ: Freepik.com
by admin | บทความบ้านอุ่นรัก
ที่ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการบ้านอุ่นรัก คุณครูของเราจะแทรกกิจกรรมหลากหลายรูปแบบลงไปในตารางฝึกทักษะและกระตุ้นพัฒนาการประจำวันให้กับเด็ก ๆ โดยมีเป้าหมายว่าเด็กต้องได้รับประโยชน์ 2 ประการเป็นอย่างน้อย คือ (1) เกิดความสนุกสนานที่ได้เล่นแบบมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกับบุคคลอื่น และ (2) ได้ฝึกทักษะและสร้างเสริมพัฒนาการด้านต่าง ๆ ให้กับเด็กตามความจำเป็น และกิจกรรมรูปแบบหนึ่งที่ทั้งสนุกและมีเป้าหมายของเรา คือ “กิจกรรมฝึกทักษะกล้ามเนื้อมัดใหญ่และการวางแผนเคลื่อนไหวทางร่างกาย”
ก่อนอื่นเรามาดูกันก่อนว่าการฝึกทักษะการเคลื่อนไหวมีความสำคัญและมีประโยชน์ต่อเด็ก ๆ มากเพียงใดและอย่างไร?
“กิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกาย” โดยเฉพาะในวัยเด็กเล็ก มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ทั้งในด้านการส่งเสริมความเจริญเติบโตทางร่างกายที่ประกอบด้วยความแข็งแรงทนทาน ทักษะการทรงตัว ความยืดหยุ่นทางร่างกาย การทำงานร่วมกันของอวัยวะต่าง ๆ การคิดวางแผนเพื่อเคลื่อนไหวผ่านสิ่งกีดขวาง การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อความปลอดภัยเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์คับขัน และที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือกิจกรรมการเคลื่อนไหวร่างกายส่งผลดีโดยตรงต่อศักยภาพการทำงานของสมอง ดังนั้น เมื่อเราต้องการกระตุ้นพัฒนาการให้กับเด็ก ๆ ที่เป็นเด็กพิเศษ (โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในวัยเด็กเล็กหรือเด็กที่เพิ่งเข้ามารับการกระตุ้นพัฒนาการในช่วงต้นของโปรแกรมการบำบัด) เราจึงให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งกับการจัดโปรแกรมด้านทักษะการเคลื่อนไหว ถึงขนาดที่ต้องยกให้เป็น “กิจกรรมสำคัญหลัก” อีกกิจกรรมหนึ่งกันเลยทีเดียว
กิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกายมีความสำคัญหลายประการดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ส่วน “การฝึกทักษะการเคลื่อนไหว” ให้กับเด็กก็มีความสำคัญที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เพราะจะทำให้เด็กได้รับประโยชน์หลายประการ ดังต่อไปนี้
- สร้างสารเคมี กระตุ้นสื่อประสาทในสมอง
- เพิ่มความแข็งแรง สะพานเชื่อมสมองซ้าย-ขวา
- ควบคุมร่างกายตนเองในการใช้กล้ามเนื้อได้ทั้งมัดใหญ่-มัดเล็ก
- เพิ่มออกซิเจน-พลังงาน
- ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ลดความตึงเครียด
- กล้าเผชิญปัญหา (การเล่นผาดโผน)
- ลดความรนรีบในเด็กที่ซน เพิ่มระดับการเคลื่อนไหวในเด็กที่เฉื่อยช้า
- ทำให้เด็กรู้สึกสนุกสนาน
- หากใช้ประกอบการเรียนรู้จะช่วยเพิ่มความสนใจ
ที่บ้านอุ่นรัก เราจะแยกกิจกรรมทักษะการเคลื่อนไหวออกมาเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมจากกิจกรรมการประมวลระบบประสาทสัมผัส หรือ Sensory Integration เนื่องด้วยในแต่ละทักษะและนักวิชาชีพ จะมีองค์ความรู้และกรอบแนวคิดที่มีลักษณะเฉพาะ เราจึงนำองค์ความรู้และกรอบแนวคิดที่มีลักษณะเฉพาะนั้น ๆ มาประยุกต์ใช้ให้สอดประสานกัน เพื่อส่งผลให้เกิดการพัฒนาทักษะทางบวกแก่เด็ก ๆ ที่เป็นลูกศิษย์ของเรา โดยเฉพาะเด็ก ๆ ที่มีปัญหาด้านทักษะการเคลื่อนไหว
สำหรับเด็กที่มีปัญหาด้านทักษะการเคลื่อนไหวนั้น บ้านอุ่นรักมีข้อสังเกตอาการมาฝากคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง และคุณครู เพื่อให้ลองพิจารณากันว่าลูก ๆ เด็ก ๆ มีลักษณะการเคลื่อนไหวดังต่อไปนี้บ้างหรือไม่ ซึ่งจะทำให้เราพอที่จะรู้ว่าพวกเขามีปัญหาด้านทักษะการเคลื่อนไหวหรือไม่นั่นเอง
- มีอุบัติเหตุบ่อย ๆ ล้มบ่อย
- มีลักษณะงุ่มง่าม เคลื่อนไหวช้า ไม่สมวัย เคลื่อนไหวดูไม่ราบรื่น
- มีลักษณะเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องเคลื่อนไหว ผาดโผน หรือกิจกรรมที่ต้องอาศัยทักษะการทรงตัว
- เป็นเด็กที่ทำกิจกรรมในลักษณะสหสัมพันธ์ (กิจกรรมที่ต้องอาศัยการทำงานของอวัยวะร่างกายร่วมกันหลาย ๆ ส่วน) ได้ไม่ดีนัก เช่น เรียนวิชาพละได้ไม่ดีนัก เป็นต้น
หากเด็ก ๆ มีปัญหาด้านทักษะการเคลื่อนไหว เราควรรีบหาทางแก้ไข และในตอนนี้ บ้านอุ่นรักขอยกตัวอย่างปัญหาดังกล่าว ตลอดจนข้อแนะนำเกี่ยวกับกิจกรรมฝึกทักษะกล้ามเนื้อมัดใหญ่และการวางแผนเคลื่อนไหวทางร่างกายที่จะช่วยแก้ไขปัญหาได้ดังนี้
- ปัญหาการทรงตัว | แก้ไขโดยใช้กิจกรรมเดิน วิ่ง คลาน กระโดด เดินขึ้นลงบันได วิ่ง-กระโดด-เคลื่อนไหวผ่านสิ่งกีดขวาง
- ปัญหาการสมดุลตนเอง เช่น ล้มบ่อย เบรกตนเองไม่ทัน | แก้ไขโดยใช้กิจกรรมที่มีอุปกรณ์ที่ไม่มั่นคง เช่น กระดานโยกเยก ถาดทรงตัว
- ปัญหาการใช้อวัยวะสองส่วนร่วมกัน |แก้ไขโดยใช้กิจกรรมยืดหยุ่น โยคะ ท่าออกกำลังกาย ท่ากายบริหาร ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ
- ปัญหาการเคลื่อนไหวที่มีจังหวะรีบร้อน รนรีบ ไม่ระวังอันตราย ไม่มีจังหวะจะโคน | แก้ไขโดยใช้กิจกรรมที่มีอุปกรณ์เป็นสิ่งกีดขวางเพื่อให้เด็กระมัดระวัง คุมตนเองมากขึ้น และไม่เคลื่อนไหวแบบรีบร้อนจนเกินไป เช่น เดินสะพายทรงตัว เดิน-วิ่งผ่านกรวยยาง เดินข้ามสิ่งกีดขวาง กระโดดบนรอยเท้า
- ปัญหาซน อยู่ไม่สุข หรือในทางตรงข้ามคือเฉื่อยช้า | แก้ไขโดยใช้กิจกรรมที่ใช้พลังงาน เช่น เดิน วิ่ง กระโดด เต้นประกอบเพลง และกิจกรรมเคลื่อนไหวผ่านสิ่งกีดขวาง
มาถึงตอนนี้ คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง และคุณครูก็ได้ทราบถึงความสำคัญและประโยชน์ของการฝึกทักษะกล้ามเนื้อมัดใหญ่และการวางแผนเคลื่อนไหวทางร่างกาย ตลอดจนได้ทราบตัวอย่างของกิจกรรมการเคลื่อนไหวที่สามารถนำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาการเคลื่อนไหวกันไปเรียบร้อยแล้ว เพราะฉนั้น เราอย่ามัวรีรอกันอยู่เลยค่ะ ลุกขึ้น เหยียดแขนเหยียดขา และเตรียมตัวของเราให้พร้อมที่จะจูงไม้จูงมือลูก ๆ เด็ก ๆ ไปเดิน วิ่ง กระโดด และออกกายบริหารกันเลยดีกว่า เพื่อลูก ๆ เด็ก ๆ เกิดความรู้สึกสนุกสนานร่วมไปกับเรา พร้อม ๆ กับการที่จะได้สร้างเสริมพัฒนาการของตนเอง ส่วนเราก็จะได้ใช้เวลาร่วมกับเด็ก ๆ อย่างมีคุณภาพ พร้อม ๆ ไปกับการได้ลดพุง ลดไขมันส่วนเกิน และมีสุขภาพที่ดีมากขึ้นค่ะ
สำหรับบ้านอุ่นรักนั้น ทุก ๆ กิจกรรมที่เด็ก ๆ ทำร่วมกับเรา “ต้องสนุกสนาน” แต่จะสนุกเพียงอย่างเดียวไม่ได้แน่ ๆ เรา “ต้องมีเป้าหมาย” ด้วยค่ะ
Photo Credit: Zach Callahan | Unsplash
by admin | บทความบ้านอุ่นรัก
ลักษณะที่เด่นชัดอีกสองประการของลูกออทิสติก คือ (1) มีทักษะทางภาษาที่จำกัด และ (2) มีการสื่อความหมายแบบไม่สมวัย
ปัญหาทั้งสองประการนี้ ส่งผลให้ลูกมีชีวิตประจำวันที่ไม่ค่อยปกติสุข ไม่สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างมีประสิทธิภาพได้ด้วยตนเอง ไม่สามารถบอกความต้องการของตนเองให้ผู้อื่นรู้และเข้าใจได้ ไม่ค่อยเข้าใจความหมายของเรื่องต่าง ๆ ที่เราหรือผู้อื่นสื่อสารกับลูก พูดสื่อความหมายได้จำกัด โต้ตอบการสนทนาแบบไม่สมวัย ใช้ภาษากาย สีหน้า และแววตาในการแสดงอารมณ์ได้ไม่ดี และใช้ท่าทางในการสื่อความหมายได้น้อย กล่าวโดยสรุป คือ ลูกไม่ค่อยเข้าใจภาษา และแม้จะเข้าใจภาษาพื้นฐานสั้นๆ ที่คุ้นเคยในชีวิตประจำวัน แต่ก็ไม่เข้าใจความหมายของการสื่อสารผ่านประโยคยาวๆ หรือประโยคที่มีความหมายซับซ้อนได้อย่างแท้จริง
สำหรับปัญหาทักษะการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารของลูกนี้ คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองไม่ควรปล่อยผ่านหรือละเลย แต่ต้องรีบพาลูกไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กหรือจิตแพทย์เด็ก เพื่อแพทย์วินิจฉัยอาการ ตลอดจนหาทางบำบัดรักษาให้ทันท่วงที โดยปกติแล้ว การบำบัดรักษาปัญหานี้ต้องใช้ระยะเวลาที่ยาวนาน (ประมาณ 6-24 เดือน) และควรบำบัดรักษาก่อนลูกเข้าเรียนร่วมในโรงเรียนอนุบาล เพราะหากบำบัดรักษาลูกหลังลูกเข้าเรียนร่วมในโรงเรียนอนุบาลแล้ว ปัญหาของลูกอาจจะซับซ้อนจนแก้ไขได้ยาก และทำให้ลูกไม่สามารถเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ในชั้นเรียนได้ตามปกติค่ะ
ในการเรียนการสอนลูกออทิสติกที่ไม่ค่อยเข้าใจภาษา บ้านอุ่นรักใช้ “การสื่อสารอย่างเป็นรูปธรรมในการสื่อสารกับลูกออทิสติก” เพื่อช่วยให้ลูก ๆ เข้าใจภาษาหรือเข้าใจความหมายของการสื่อสารตรงหน้าได้ดียิ่งขึ้น กล่าวคือ ในการสอนเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เราจะ…
- ประมวลภาพรวมของเหตุการณ์นั้น จากนั้น แยกภาพรวมออกเป็นส่วน ๆ เป็นภาพย่อย ๆ เรียงตามลำดับ…หนึ่ง…สอง…สาม…ไปจนกระทั่งจบเหตุการณ์
- แปลงภาพเหตุการณ์แต่ละส่วนออกมาเป็นรูปภาพ ภาพวาด หรือภาพถ่ายย่อย ๆ เพื่อสื่อสารกับลูก ทั้งนี้ เราอาจใช้ตัวเขียน ตัวอักษร ตัวเลข การเขียนคำประกอบ ใช้สีช่วยความจำ ใช้ของจริง โมเดล หรือการ์ดภาพ มาประกอบการสื่อสารกับลูก เพื่อทำให้ลูกเข้าใจภาษาได้ง่ายขึ้น
- แปลงภาษาประโยคที่ยาว ๆ ออกมาเป็นภาพสั้น ๆ เป็นคำพูดสั้น ๆ อธิบายแบบกระชับตรงไปตรงมา หรือย่อสั้นๆ แบบสรุปความ เพื่อค่อย ๆ แนะนำลูกไปช้า ๆ ทีละขั้นตามลำดับ ให้เหมาะกับระดับความเข้าใจหรือความสามารถทางภาษาของลูก
- แปลงคำโดยนัยให้กลายเป็นคำที่สื่อความหมายทางตรง เช่น
คำที่มีความหมายโดยนัย: วันนี้ฝนตกแบบไม่ลืมหูลีมตา ลูกไม่ควรออกไปวิ่งเล่นในสนามนะคะ
คำที่สื่อความหมายทางตรง: วันนี้ฝนตกหนัก ลูกจึงต้องเล่นอยู่ในบ้านค่ะ
- ใช้สมุดสื่อสารหรือการอัดเสียงมาประกอบการสื่อสารกับลูก
- ให้ลูกได้มีส่วนร่วมลงมือทำสิ่งต่าง ๆ ตามลำดับขั้นตอนที่ระบุชัด (จากขั้นตอนที่หนึ่ง สอง สาม ไปทีละขั้นตามลำดับจนถึงขั้นตอนสุดท้าย) เพื่อสร้างประสบการณ์ตรงหรือประสบการณ์จริงให้กับลูก ทั้งนี้ เราจะอธิบายขั้นตอนการลงมือทำด้วยภาพวาดหรือคำอธิบายสั้น ๆ ที่ระบุแนวทางการแก้ปัญหา และมีการแสดงบทบาทสมมุติเสมือนจริงหรือจำลองเหตุการณ์ให้ลูกได้ลงมือทำ การชวนลูกคุยในขณะที่ลงมือทำจะช่วยกระตุ้นให้ลูกคิดและฝึกฝนการตอบโต้เสมือนจริง ทั้งนี้ ต้องมีการฝึกและลงมือปฏิบัติจริงบ่อย ๆ เพื่อสร้างประสบการณ์ตรงซ้ำ ๆ ให้กับลูกจนลูกจดจำทุกขั้นตอนของเหตุการณ์นั้น ๆ ได้อย่างแม่นยำ เช่น แม่ผลักตัวลูก แม่ล๊อคตัวลูกไว้ แล้วพูดสอนลูกว่า เมื่อเกิดสถานการณ์แบบนี้ ลูกจะพูดว่าอะไรและลูกจะทำอะไรเพื่อแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าว เป็นต้น
สำหรับลูกออทิสติกนั้น การสื่อสารอย่างเป็นรูปธรรมตามแนวทางที่บ้านอุ่นรักกล่าวไว้ข้างต้น จะช่วยให้ลูกเรียนรู้ได้ดีขึ้น เรียนรู้ได้ง่ายขึ้น และช่วยให้ลูกเข้าใจภาษาได้ดีขึ้นมากกว่าการพูดคุยแต่เพียงอย่างเดียว ลองทำดูนะคะ
Photo Credit: Joshua Coleman | Unsplash
by admin | บทความบ้านอุ่นรัก
เล่นกับลูก ถึงแม้ว่าจะเป็นเพียงสิ่งเล็กๆ
น้อยๆ สำหรับคุณพ่อคุณแม่ หรือผู้ปกครอง แต่เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่และสำคัญสำหรับลูกน้อย
และการกระตุ้นพัฒนาการของลูกเป็นอย่างมาก
วันนี้ บ้านอุ่นรัก มี 7 วิธีการเล่นกับลูก เพื่อการเสริมพัฒนาการลูกน้อย ให้มีประสิทธิภาพมาบอกเล่าให้คุณพ่อคุณแม่และผู้ปกครองได้ทราบกันค่ะ
- เล่นสนุก หัวเราะร่วมกันโดยไม่ใช้อุปกรณ์ใด ๆ เป็นการใช้เวลาร่วมกัน ให้ลูกสัมผัสความรู้สึกสนุก หัวเราะ ร่วมกัน เป้าหมายคือให้ลูกสนุกที่จะเล่นร่วมกับบุคคล มากกว่าแยกตัวคนเดียว เช่น วิ่งไล่จับ จั๊กจี๋ ให้ขี่ขาแบบนั่งเครื่องบิน เล่นขี่ม้า เล่นจ๊ะเอ๋ผ่านผ้าห่ม ฯลฯ
- การเล่นเพื่อกระตุ้นการสบตา โดยเริ่มจากสร้างแรงจูงใจ ชวนลูกเล่นของเล่นง่ายๆที่มีจำนวนชิ้นมาประกอบกัน โดยเลือกของเล่นที่ลูกสนใจ แต่พ่อแม่เก็บชิ้นส่วนของนั้นไว้กับตัว แล้วค่อยๆส่งของให้ลูกเล่นทีละชิ้น โดยยกของระดับสายตา ยกรอลูกสบตา 3-5 วินาที ก่อนจึงส่งของให้
- การเล่นเพื่อกระตุ้นการพูด หรือเล่นประกอบบทสนทนา ในลูกที่ยังไม่พูดอาจนำของเล่นมาประกอบเพื่อกระตุ้นการออกเสียง เช่น “ไถรถ เสียงรถแล่นดัง บรื้น ๆ ๆ ๆ” “กล้องถ่ายรูป ถ่ายรูปดัง แชะ ๆ ๆ ๆ” ลูกที่พูดได้แล้ว นำการเล่นรอบตัว มาประกอบการสร้างบทสนทนาง่าย ๆ ระหว่างเล่น เช่น เล่นหม้อข้าวหม้อแกงแล้วชวนลูกคุยแบบแม่ค้าคุยกับลูกค้า
- สอนลูกเล่นของเล่นให้เป็น ชวนลูกเล่นโดยนำของเล่น แต่ละชิ้นมาเล่นให้ตรงตามรูปแบบและเล่นอย่างมีความหมาย ตามลักษณะของเล่นชิ้นนั้นๆ เพื่อลดการเล่นของลูกในแบบซ้ำๆ ในลักษณะหมกมุ่นกับประสาทสัมผัสตนเอง เช่น แทนที่จะปล่อยให้เด็กเรียงรถยนต์เป็นแถวยาวซ้ำไปซ้ำมา เปลี่ยนเป็นชวนเด็กเล่นอย่างมีความหมาย เช่น นำรถมาไถ ขึ้นรถปีนขึ้นสะพานไม้ รถเข้าจอด
- เล่นสำรวจและทดลองทำ โดยนำของเล่นมาฝึกให้ลูกทดลองเล่นแบบ ค้นคว้า สำรวจ หรือใช้จินตนาการ โดยของหนึ่งชิ้น สามารถชวนลูกเล่นหลาย ๆ แบบ เช่น นำขวดมาเปิดปิดฝา นำมากลิ้งเล่น เตะขวดเก่าเล่น นำของมาใส่ปิดฝาแล้วเขย่า กรอกน้ำใส่ขวด ฯลฯ
- เล่นจินตนาการแบบแสร้งทำ เช่น นำตุ๊กตามาแต่งตัวและพูดคุยเหมือนกำลังเลี้ยงน้อง เล่นหม้อข้าวหม้อแกงแบบกำลังขายของ เล่นตัวทหารแบบกำลังเล่นต่อสู้ โดยการเล่นจินตนาการ ในลูกรายที่สามารถเข้าใจได้ อาจเล่นแสร้งทำโดย ไม่จำเป็นต้องมีของประกอบ เช่น ทำท่าหวีผม แต่งตัว ทำท่าทานขนม
- การเล่นเพื่อสร้างสมาธิ เลือกของเล่นที่ได้ลงมือทำสัก 5-10 อย่างมาหมุนเวียนให้ลูกเล่น โดยเลือกของเล่นที่มีจำนวนชิ้นในการลงมือทำมากพอสมควร และเป็นของเล่นที่มั่นใจว่าลูกทำได้เอง เช่น ปักหมุดลงแท่น ต่อเลโก้ขนาดใหญ่ หยอดกระปุกออมสิน หยิบเมล็ดพืชใส่ขวด หนีบไม้หนีบบนกระดาษแข็ง ใส่บล็อกง่ายๆลงช่อง กรอกทรายใส่ขวด กรอกน้ำใส่ขวด ฯลฯ เป้าหมายเพื่อชักชวนให้ลูกทำกิจกรรมให้ได้จำนวนชิ้นเพิ่มจากเดิมอย่างต่อเนื่องมากขึ้นโดยไม่ละความสนใจกลางคันแบบขาดสมาธิโดยเริ่มตั้งเป้าหมายจากน้อยชิ้น 5-7-10 ชิ้น แล้วจึงเพิ่มขึ้นทีละน้อย อาจใช้กิจกรรมศิลปะ ลีลามือ เช่น ระบายสีน้ำ ระบายสี ติดเศษกระดาษบนภาพ ลากเส้นง่ายๆ ฯลฯ โดยตั้งเป้าหมายให้ลุกลงมือทำได้ในพื้นที่สมวัย เช่น ระบายสีน้ำอย่างน้อยครึ่งหรือสามเต็มส่วนของภาพบนกระดาษ A4
เวลามีค่านะคะ รีบตักตวงเวลาแห่งความสุขกับลูก นะคะ ❤ คลุกคลี หัวเราะ สบตา พูดคุย นำทางและสอนลูกให้เรียนรู้สิ่งใหม่ไปด้วยกัน สู้ ๆ ค่ะ พวกเราชาวบ้านอุ่นรักเอาใจช่วยนะคะ
สำหรับคุณพ่อ คุณแม่ และผู้ปกครอง ที่ต้องการคำปรึกษา หรือพูดคุยกับพวกเรา สามารถโทรติดต่อหรือนัดหมายเข้ามาพบหรือพาลูกมาประเมิน เพื่อปรึกษาวางแนวการดูแล ได้ที่บ้านอุ่นรัก สาขาที่ท่านสะดวกค่ะ