6 องค์ประกอบการเล่น…เน้น…การสร้างเสริมพัฒนาการเด็ก | บ้านอุ่นรัก

6 องค์ประกอบการเล่น…เน้น…การสร้างเสริมพัฒนาการเด็ก | บ้านอุ่นรัก

  1. แทรกการเล่นร่วมกันหลากหลายรูปแบบบ่อย ๆ ในระหว่างวัน เพื่อ (1) ลดการอยู่กับตัวเอง และ (2) สร้างเสริมพัฒนาการที่รอบด้านให้กับเด็ก
  2. สอนเด็กเล่นของเล่นให้เป็นด้วยการสาธิต เล่นให้ดู จับมือนำเด็กให้เล่นตามวัตถุประสงค์ของ ๆ เล่นชิ้นนั้น ๆ เช่น หยอด ตัก หมุน ใส่ ปักลงไป เป็นต้น โดยไม่ปล่อยให้เด็กนำสิ่งนั้นมาเล่นหรือสร้างรูปแบบการทำบางอย่างซ้ำ ๆ ตามแบบเฉพาะตัวของตนเอง
  3. หาวิธีนำของเล่นชิ้นนั้น ๆ มาแปลงสภาพใหม่ ๆ ให้ได้อย่างน้อย 3-5 แบบ เช่น ลูกบอล ใช้เล่นโยนรับ-ส่ง แตะ ปาเป้า กลิ้ง นำไปแอบให้เด็กค้นหา พูดบอกสี-บอกรูปทรง เป็นต้น
  4. ต่อยอดการเล่นให้หลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น เช่น บล้อค นำมาเรียงเป็นรูปทรงต่าง ๆ หรือต่อเป็นรถไฟ สะพาน บ้าน โต๊ะ หรือดินน้ำมัน นำมาปั้นเป็นรูปทรงต่าง ๆ ปั้นเป็นอาหาร ดอกไม้ ตัวสัตว์ ปั้นเป็นถนน-สะพาน-ทางยกระดับ หรือวาดภาพวงกลมแล้วแปลงวงกลมเป็นภาพอื่น ๆ ที่หลากหลาย เช่น เติมรัศมีเป็นพระอาทิตย์ เติมกลีบให้กลายเป็นดอกไม้ ลูกโป่ง ลูกชิ้นเสียบไม้ หรือลูกบอลที่มีลวดลายเพิ่มเติม เป็นต้น
  5. ผสมการเล่นบทบาทสมมุติประกอบในการเล่นของเล่นแต่ละชิ้น เช่น เล่นหม้อข้าว-หม้อแกง-จาน-ชาม-แก้วน้ำ ด้วยการทำท่าปรุงอาหาร ซื้อ-ขายอาหาร เล่นตุ๊กตา หวีผม-แต่งตัว-ชวนน้องตุ๊กตาพูดคุย เล่านิทานให้น้องตุ๊กตาฟัง
  6. เพิ่มการมีปฏิสัมพันธ์แบบสองทางกับเด็กในระหว่างการเล่นด้วยการสบตา ชวนพูดคุย สร้างบทสนทนาที่เป็นเรื่องราวประกอบการเล่น สัมผัสศีรษะ โอบไหล่ เตะบ่าด้วยความนุ่มนวล ยิ้มและหัวเราะร่วมกัน

ว่างเมื่อไรก็เข้าไปเล่นกับเด็ก ๆ กันนะคะ ในระยะแรก เด็ก ๆ อาจไม่คุ้นเคย พยายามแยกตัว ขัดขืน ไม่เล่นร่วมกับเรา แต่เพราะเราใช้ความอดทน ใจเย็น เมตตา รอยยิ้ม และที่สำคัญคือการตื้อ เด็กจะค่อย ๆ คุ้นเคยกับการอยู่ร่วมกับเรา เล่นร่วมกับเรา สนุก เพลิดเพลิน สบตา ยิ้มและหัวเราะไปด้วยกันกับเรา ซึ่งจะเป็นวิธีส่งต่อพลังความรักที่เรามีให้เด็ก ๆ ได้รับรู้ ตลอดจนเราเองก็จะได้รับพลังจากความน่ารัก สดใส และไร้เดียงสา เพื่อรดหัวใจเราให้ชุ่มชื่นได้อีกครั้งค่ะ

เครดิตภาพ: Unsplash | Marisa Howenstine