สื่อสารกับลูกออทิสติกอย่างเป็นรูปธรรม | บ้านอุ่นรัก

สื่อสารกับลูกออทิสติกอย่างเป็นรูปธรรม | บ้านอุ่นรัก

 

ลักษณะที่เด่นชัดอีกสองประการของลูกออทิสติก คือ (1) มีทักษะทางภาษาที่จำกัด และ (2) มีการสื่อความหมายแบบไม่สมวัย

ปัญหาทั้งสองประการนี้ ส่งผลให้ลูกมีชีวิตประจำวันที่ไม่ค่อยปกติสุข ไม่สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างมีประสิทธิภาพได้ด้วยตนเอง ไม่สามารถบอกความต้องการของตนเองให้ผู้อื่นรู้และเข้าใจได้ ไม่ค่อยเข้าใจความหมายของเรื่องต่าง ๆ ที่เราหรือผู้อื่นสื่อสารกับลูก พูดสื่อความหมายได้จำกัด โต้ตอบการสนทนาแบบไม่สมวัย ใช้ภาษากาย สีหน้า และแววตาในการแสดงอารมณ์ได้ไม่ดี และใช้ท่าทางในการสื่อความหมายได้น้อย กล่าวโดยสรุป คือ ลูกไม่ค่อยเข้าใจภาษา และแม้จะเข้าใจภาษาพื้นฐานสั้นๆ ที่คุ้นเคยในชีวิตประจำวัน แต่ก็ไม่เข้าใจความหมายของการสื่อสารผ่านประโยคยาวๆ หรือประโยคที่มีความหมายซับซ้อนได้อย่างแท้จริง

สำหรับปัญหาทักษะการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารของลูกนี้ คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองไม่ควรปล่อยผ่านหรือละเลย แต่ต้องรีบพาลูกไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กหรือจิตแพทย์เด็ก เพื่อแพทย์วินิจฉัยอาการ ตลอดจนหาทางบำบัดรักษาให้ทันท่วงที โดยปกติแล้ว การบำบัดรักษาปัญหานี้ต้องใช้ระยะเวลาที่ยาวนาน (ประมาณ 6-24 เดือน) และควรบำบัดรักษาก่อนลูกเข้าเรียนร่วมในโรงเรียนอนุบาล เพราะหากบำบัดรักษาลูกหลังลูกเข้าเรียนร่วมในโรงเรียนอนุบาลแล้ว ปัญหาของลูกอาจจะซับซ้อนจนแก้ไขได้ยาก และทำให้ลูกไม่สามารถเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ในชั้นเรียนได้ตามปกติค่ะ

ในการเรียนการสอนลูกออทิสติกที่ไม่ค่อยเข้าใจภาษา บ้านอุ่นรักใช้ “การสื่อสารอย่างเป็นรูปธรรมในการสื่อสารกับลูกออทิสติก” เพื่อช่วยให้ลูก ๆ เข้าใจภาษาหรือเข้าใจความหมายของการสื่อสารตรงหน้าได้ดียิ่งขึ้น กล่าวคือ ในการสอนเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เราจะ…

  • ประมวลภาพรวมของเหตุการณ์นั้น จากนั้น แยกภาพรวมออกเป็นส่วน ๆ เป็นภาพย่อย ๆ เรียงตามลำดับ…หนึ่ง…สอง…สาม…ไปจนกระทั่งจบเหตุการณ์
  • แปลงภาพเหตุการณ์แต่ละส่วนออกมาเป็นรูปภาพ ภาพวาด หรือภาพถ่ายย่อย ๆ เพื่อสื่อสารกับลูก ทั้งนี้ เราอาจใช้ตัวเขียน ตัวอักษร ตัวเลข การเขียนคำประกอบ ใช้สีช่วยความจำ ใช้ของจริง โมเดล หรือการ์ดภาพ มาประกอบการสื่อสารกับลูก เพื่อทำให้ลูกเข้าใจภาษาได้ง่ายขึ้น
  • แปลงภาษาประโยคที่ยาว ๆ ออกมาเป็นภาพสั้น ๆ เป็นคำพูดสั้น ๆ อธิบายแบบกระชับตรงไปตรงมา หรือย่อสั้นๆ แบบสรุปความ เพื่อค่อย ๆ แนะนำลูกไปช้า ๆ ทีละขั้นตามลำดับ ให้เหมาะกับระดับความเข้าใจหรือความสามารถทางภาษาของลูก
  • แปลงคำโดยนัยให้กลายเป็นคำที่สื่อความหมายทางตรง เช่น

คำที่มีความหมายโดยนัย: วันนี้ฝนตกแบบไม่ลืมหูลีมตา ลูกไม่ควรออกไปวิ่งเล่นในสนามนะคะ

คำที่สื่อความหมายทางตรง: วันนี้ฝนตกหนัก ลูกจึงต้องเล่นอยู่ในบ้านค่ะ

  • ใช้สมุดสื่อสารหรือการอัดเสียงมาประกอบการสื่อสารกับลูก
  • ให้ลูกได้มีส่วนร่วมลงมือทำสิ่งต่าง ๆ ตามลำดับขั้นตอนที่ระบุชัด (จากขั้นตอนที่หนึ่ง สอง สาม ไปทีละขั้นตามลำดับจนถึงขั้นตอนสุดท้าย) เพื่อสร้างประสบการณ์ตรงหรือประสบการณ์จริงให้กับลูก ทั้งนี้ เราจะอธิบายขั้นตอนการลงมือทำด้วยภาพวาดหรือคำอธิบายสั้น ๆ ที่ระบุแนวทางการแก้ปัญหา และมีการแสดงบทบาทสมมุติเสมือนจริงหรือจำลองเหตุการณ์ให้ลูกได้ลงมือทำ การชวนลูกคุยในขณะที่ลงมือทำจะช่วยกระตุ้นให้ลูกคิดและฝึกฝนการตอบโต้เสมือนจริง ทั้งนี้ ต้องมีการฝึกและลงมือปฏิบัติจริงบ่อย ๆ เพื่อสร้างประสบการณ์ตรงซ้ำ ๆ ให้กับลูกจนลูกจดจำทุกขั้นตอนของเหตุการณ์นั้น ๆ ได้อย่างแม่นยำ เช่น แม่ผลักตัวลูก แม่ล๊อคตัวลูกไว้ แล้วพูดสอนลูกว่า เมื่อเกิดสถานการณ์แบบนี้ ลูกจะพูดว่าอะไรและลูกจะทำอะไรเพื่อแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าว เป็นต้น

สำหรับลูกออทิสติกนั้น การสื่อสารอย่างเป็นรูปธรรมตามแนวทางที่บ้านอุ่นรักกล่าวไว้ข้างต้น จะช่วยให้ลูกเรียนรู้ได้ดีขึ้น เรียนรู้ได้ง่ายขึ้น และช่วยให้ลูกเข้าใจภาษาได้ดีขึ้นมากกว่าการพูดคุยแต่เพียงอย่างเดียว ลองทำดูนะคะ

Photo Credit: Joshua Coleman | Unsplash

ว่าด้วยเรื่อง การฝึกเขียนของลูกออทิสติก | บ้านอุ่นรัก

ว่าด้วยเรื่อง การฝึกเขียนของลูกออทิสติก | บ้านอุ่นรัก

วันนี้ ขอวกมาตรวจการบ้านที่เคยให้ไว้เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2562 กันค่ะ

ก่อนจะฝึกลูกเขียนอักษรเป็นตัว ๆ เราควรถามตัวเราเองก่อนว่าลูกหมุนฝาขวดน้ำออกได้เองหรือยัง

การถามคำถามนี้ เพียงแต่จะตั้งข้อสังเกตว่าการเขียนอักษรเป็นตัว ๆ เป็นเรื่องยากสำหรับเด็กเล็ก ๆ เพราะยังใช้มือไม่ถนัดนัก ดังนั้น การลากเส้นและตีโค้งอักษรแบบต่อเนื่องจนจบเป็นอักษรสักหนึ่งตัว จึงยากสำหรับเด็ก ๆ ค่ะ

ลองดูตัวอย่าง เช่น 2 3 5 8 P S D V หรือลูกอาจรู้สึกว่ายากจังในการลากหัวอักษร เช่น น ย ล ง อ

หากลูกยังหมุนข้อมือไม่ถนัด ผลคือตัวอักษรที่ลูกพยายามเขียน จะมีขนาดของตัวอักษรขนาดยักษ์ ล้นบรรทัด และตัวอักษรที่ปรากฏจะเป็นแบบไม่เก็บรายละเอียด ไม่มีรอยหยัก หรือเกิดอักษรที่ต่อเส้นเป็นท่อน ๆ

#Suggestions: ข้อเสนอแนะ

#ทำแบบฝึกลากเส้นของเราเอง

#ลากเส้นประขนาดใหญ่เต็มกระดาษขนาด A4 เพื่อฝึกลากเส้นฝึกมุมโค้งแบบต่อเนื่อง เช่น O C U D และเส้นต่าง ๆ อาจจะเป็นภาพวาดหรือเส้นแบบง่าย ๆ เท่าที่นึกออก เพื่อฝึกลูกตีโค้งในทิศทางต่าง ๆ

#ฝึกลูกลากเส้นประ ลากเส้นต่อเนื่องแบบหักศอก ตีมุม โดยลากเส้นประอักษรขนาดใหญ่เต็มกระดาษขนาด A4 เช่น เส้น L Z V J 1 2 7

พร้อมกับการฝึกเขียน #ฝึกการหมุนข้อมือลูกด้วยกิจกรรมสนุก ๆ เช่น ฝึกเปิดฝาขวดขนาดใหญ่เท่าฝ่ามือลูก

ทั้งในแนวตั้ง คือ หันข้างฝาขวด แม่ถือไว้ ชวนให้ลูกหมุนขวดที่ลอยอยู่ในแนวตั้ง และหมุนฝาขวดที่ตั้งบนโต้ะในแนวนอน

#ฝึกลูกหมุนข้อมือแบบต่อเนื่อง เช่น ผูกเชือกติดไว้ ตรงกลางแกนทิชชูที่ใช้แล้ว โดยปล่อยให้ชายเชือกห้อย ยาว แล้วกระตุ้นให้ลูกหมุนเชือกพันแกนจนสุดเชือก

ทั้งแนวตั้ง คือ ถือแล้วหมุนกลางอากาศ แนวนอน คือ วางแกนทิชชูตั้งขึ้นบนโต๊ะและให้ลูกหมุนในแนวนอน และหลังจากลูกหมุนเชือกพันแกนทิชชูได้ถนัดแล้ว คือ ทำได้รวดเร็วขึ้น หมุนข้อมือได้ต่อเนื่องขึ้น

จากนั้นอาจจะลดขนาดแกนให้เล็กลง เช่น ผูกเชือกบนแกนกระดาษแฟกซ์ที่ใช้แล้วหรือหาหลอดชาไข่มุกที่มีความแข็ง ผูกเชือกห้อย แล้วฝึกลูกหมุนเชือกพันแกนจนสุด เพื่อฝึกการตีโค้งข้อมือในวงที่แคบลง

บทความที่ครูนิ่มเขียนเรื่องความพร้อมในการฝึกเขียนของลูกนี้ ครูเขียนในฐานะคนที่มีหน้าที่กระตุ้นพัฒนาการเด็กและพบว่าคุณพ่อคุณแม่มีความกังวลว่าทำไมลูกไม่ชอบเขียน คุณพ่อคุณแม่ซื้อแบบฝึกเขียนมาให้ลูกแล้ว แต่ลูก ๆ ก็ยังเขียนไม่ได้สักที และคุณพ่อคุณแม่รายแล้วรายเล่าได้มาสมัครเข้ารับบริการฝึกการเขียนกับศูนย์กระตุ้นพัฒนาการบ้านอุ่นรักของเรา

ครูจึงพยายามจำลองภาพเพื่อให้คุณพ่อคุณแม่มองเห็นองค์ประกอบสำคัญ ๆ ของความพร้อมในการฝึกเขียนของลูก ๆ ว่า ณ จุดเริ่มต้นที่ลูก ๆ เริ่มเขียน สำหรับลูก ๆ แล้วการเขียนไม่ได้ง่ายนัก

หลังการลงบทความมาหลายตอนเพื่ออธิบายว่าทำไมเรื่องนี้จึงยากสำหรับลูก ๆ ครูนิ่มขอทิ้งท้ายองค์ประกอบอื่น ๆ ไว้เป็นข้อเสนอแนะเพิ่มเติมให้จบครบทุกด้าน

ครูหวังว่าบทความทุกตอนของเรื่องนี้จะเกิดประโยชน์ไม่มากก็น้อยแก่คุณพ่อคุณแม่หรือคุณครูที่สนใจ ดังนี้ค่ะ

องค์ประกอบและข้อเสนอแนะเพิ่มเติม

ชี้ชวนลูกและนำให้ลูกจดจ่อกับสิ่งที่กำลังทำ ทั้งนี้ต้องทำให้ได้ระยะเวลาต่อเนื่องและคงสมาธิได้พอสมควรตามวัย

การชี้ชวนลูกทำเรื่องนี้ไปด้วยกันกับคุณพ่อคุณแม่ ในตอนเริ่มต้นยังไม่ต้องตั้งเป้าหมายให้เป็นการเขียน แต่ชวนให้ลูกสนุกที่จะทำเรื่องนี้ได้ต่อเนื่องมากขึ้น

ให้ลูกได้สนุกไปกับการลากเส้นอิสระ เพลินไปกับการระบายสีเล่นโดยไม่ต้องมีรูปแบบ

เริ่มจาก 5 นาที 10 นาที 15 นาที หรือนานเท่าที่ลูกสนใจในระดับเหมาะสม

เตือนหรือนำให้ลูกใช้มือ 2 ข้างทำงานร่วมกันแบบอัตโนมัติ ทั้งนี้ในระยะแรกอาจช่วยจับนำได้

มือข้างหนึ่งจับดินสอ มืออีกข้างหนึ่งจับขอบกระดาษด้านตรงข้าม รวมทั้งฝึกใช้มือสองข้างในกิจกรรมอื่น ๆ เช่น มือข้างที่ถนัดหยิบสิ่งของ มืออีกข้างหนึ่ง จับภาชนะ ขณะหยิบของใส่ในภาชนะนั้น

เริ่มที่ให้ลูกได้จับดินสอในท่าทางที่ลูกถนัด ในแบบของตนเองตามขั้นของพัฒนาการไปก่อนระยะหนึ่ง (เริ่มจากท่ากำดินสอ คีบดินสอด้วยนิ้วชี้และนิ้วโป้งจนถึงจุดที่จีบนิ้วจับดินสอ) แล้วจึงค่อย ๆ จับนำให้ลูกจับดินสอที่ถูกท่าเป็นระยะจนลูกจับได้ถนัด

เตือนให้ลูกคงสายตา และมองตามมือในขณะที่ขีดเขียน หรือทำกิจกรรมการใช้มือต่าง ๆ เพื่อเตรียมให้ลูกมีการทำงานประสานกันได้ดีของมือ-นิ้ว-สายตา

ช่วยจัดท่านั่งของลูกให้ถนัด ให้อยู่ในท่าที่พร้อมและเหมาะสมกับการเขียน

ระยะแรกยังไม่จำเป็นต้องเน้นคุณภาพ ทุกอย่างสามารถพัฒนาขึ้นได้ตามลำดับ ตามความถี่ของการฝึกฝน และการที่ลูกได้รับประสบการณ์.

ที่กล่าวข้างต้นคือองค์ประกอบหลาย ๆ ด้านที่สนับสนุนการเขียนของลูก

ตั้งทัศนคติให้ถูกต้องว่าการขีดเขียนและการระบายสีเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่เราได้ทำและได้ใช้เป็นช่วงเวลาสนุก ๆ ร่วมกันกับลูก

เมื่อลูกได้รับโอกาสฝึกฝนที่มีความถี่พอสมควรและเมื่อลูกมีประสบการณ์มากพอ คุณภาพในสิ่งที่ลูกทำจะพัฒนาได้เองตามลำดับ ซึ่งนี่คือวิถีการเรียนรู้ที่วิเศษสุดที่ลูก ๆ ทุกคนมีตามธรรมชาติอยู่แล้วค่ะ

สำหรับคุณพ่อ คุณแม่ และผู้ปกครอง ที่ต้องการคำปรึกษา หรือพูดคุยกับพวกเรา สามารถโทรติดต่อหรือนัดหมายเข้ามาพบหรือพาลูกมาประเมิน เพื่อปรึกษาวางแนวการดูแล ได้ที่บ้านอุ่นรัก สาขาที่ท่านสะดวกค่ะ