3 สิ่งที่ต้องรีบทำ เมื่อลูกออทิสติกมีปัญหาการพูด | บ้านอุ่นรัก

3 สิ่งที่ต้องรีบทำ เมื่อลูกออทิสติกมีปัญหาการพูด | บ้านอุ่นรัก

ปัญหาการพูดของลูกออทิสติกนับเป็นปัญหาใหญ่ที่คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองกังวลและให้ความสำคัญกับการหาทางแก้ไขเป็นลำดับต้น ๆ

ตัวอย่างปัญหาการพูดของลูกออทิสติก เช่น ลูกอยู่ในวัยที่ควรจะพูดได้แล้วแต่ก็ไม่ยอมพูด หรือลูกพูดได้ แต่พูดแบบไม่สมวัย พูดคำเดิม ๆ พูดซ้ำ ๆ พูดในลักษณะของชุดคำพูดจากความจำ เมื่อถูกตั้งคำถาม ลูกก็ไม่ตอบคำถาม เอาแต่จะพูดตามหรือพูดทวนซ้ำคำถาม และไม่สานต่อบทสนทนา เป็นต้น

เนื่องจากคุณภาพการพูดของลูกเป็นพัฒนาการพื้นฐานที่สำคัญของทักษะการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารและการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ของลูก อันจะส่งผลให้ลูกมีพัฒนาการด้านอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าสังคมและการควบคุมพฤติกรรมและอารมณ์ของตนต่อไปได้ ดังนั้น หากลูกมีปัญหาการพูด คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำ 3 สิ่งดังต่อไปนี้ในทันทีค่ะ

หนึ่ง: ต้องพาลูกไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กหรือจิตแพทย์เด็ก

การพาลูกไปพบแพทย์นี้สำคัญมากเพราะเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหาอย่างถูกทาง นอกจากแพทย์จะวินิจฉัยอาการของลูกอย่างถูกต้องตามหลักการทางการแพทย์แล้ว ท่านยังสามารถให้คำแนะนำแก่คุณพ่อ คุณแม่ และผู้ปกครอง เรื่องแนวทางการดูแลและการบำบัดรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสมกับกรณีปัญหาของลูกต่อไปได้อีกด้วยค่ะ

สอง: ต้องพาลูกไปรับการบำบัดรักษาปัญหาการพูดจากนักวจีบำบัดหรือครูฝึกพูด

นักวจีบำบัดหรือครูฝึกพูดเป็นนักวิชาชีพผู้เชี่ยวชาญที่มีบทบาทสำคัญในการแก้ไขนี้ให้กับลูก ซึ่งคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองสามารถติดต่อขอรับบริการจากนักวิชาชีพนี้ได้ทั้งที่โรงพยาบาลของรัฐบาลและเอกชน เนื่องจากการการบำบัดรักษาปัญหาการพูดต้องอาศัยระยะเวลา ดังนั้น ท่านจำเป็นต้องรีบทำ ลูกจะได้มีเวลายาวนานมากพอที่จะฟื้นฟูและสร้างเสริมพัฒนาการด้านการพูดให้มีคุณภาพพอควรก่อนเข้าเรียนร่วมในโรงเรียนอนุบาล ดังนั้น ยิ่งท่านพาลูกไปพบนักวจีบำบัดหรือครูฝึกพูดเร็วเท่าไร ก็ยิ่งเป็นการดีต่อตัวของลูกเองค่ะ

สาม: ต้องช่วยลูกสร้างเสริมพัฒนาการด้านการพูดที่บ้านด้วย

นอกเหนือการใช้บริการจากนักวิชาชีพในการแก้ปัญหาการพูดของลูกแล้ว คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง ตลอดจนสมาชิกทุก ๆ คนในบ้าน ต้องเข้ามามีบทบาทในการกระตุ้นการพูดให้กับลูกในขณะที่ลูกอยู่บ้านหรือในชีวิตประจำวันด้วย ทั้งนี้เพราะการบำบัดรักษาปัญหาลูกออทิสติกนี้ ต้องทำอย่างสม่ำเสมอ ต่อเนื่อง และยาวนานมากพอ หากเรารอรับบริการจากนักวิชาชีพเพียงอย่างเดียว ปัญหาของลูกจะคลี่คลายไม่ทันท่วงทีและอาจยิ่งทวีความซับซ้อนมากขึ้นได้ ส่วนวิธีที่ถูกต้องในการกระตุ้นการพูดให้กับลูกด้วยตัวของท่านเองนั้น ท่านสามารถขอคำแนะนำได้จากนักวจีบำบัดหรือครูฝึกพูดของลูก จากนั้นก็นำแนวทางนั้นมาสอนสมาชิกทุกคนในบ้าน เพื่อทุกคนทำเป็นและเข้ามามีส่วนร่วมในการกระตุ้นคุณภาพการพูดของลูกในชีวิตประจำวันที่บ้านได้ต่อไป

การสร้างเสริมพัฒนาการด้านทักษะการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารหรือการแก้ปัญหาการพูดของลูกออทิสติกนี้ หากจะทำให้สำเร็จ ต้องอาศัยสามแรงที่แข็งขัน คือ ทีมแพทย์ ทีมนักวจีบำบัด และทีมครอบครัว และต้องการการร่วมแรงร่วมใจในการช่วยลูกอย่างสม่ำเสมอ ต่อเนื่อง และทำตามแนวทางที่ถูกต้อง หากคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง ทำครบถ้วนได้ตามนี้ ในที่สุด ลูกก็จะมีคุณภาพการพูดที่ดีขึ้นได้ในเร็ววันค่ะ

Credit ภาพ: Isaac Quesada | Unsplash

3 ขั้นตอนสอนลูก ให้เริ่มคิดคำตอบและพูดโต้ตอบได้ด้วยตนเอง | บ้านอุ่นรัก

3 ขั้นตอนสอนลูก ให้เริ่มคิดคำตอบและพูดโต้ตอบได้ด้วยตนเอง | บ้านอุ่นรัก

สำหรับคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง ที่ต้องการสอนลูกที่มักจะเคยชินที่จะพูดตามแบบอัตโนมัติ โดยยังไม่พยายามคิดคำตอบด้วยตนเองนั้น บ้านอุ่นรักมี 3 ขั้นตอนการสอนลูกมาแนะนำค่ะ

3 ขั้นตอนตามแบบของเรา คือ

1: ยอมรับ

2: เข้าใจ

3: แก้ไข

มาดูกันว่าการยอมรับ เข้าใจ และแก้ไข จะทำให้เราสอนลูกได้อย่างไรค่ะ

1: ยอมรับ

เรายอมรับว่าลูกมีข้อจำกัดทางพัฒนาการที่ส่งผลให้กระบวนการเรียนรู้ทางภาษาเพื่อการสื่อสารของลูกไม่สามารถพัฒนาให้สมวัยได้ตามธรรมชาติ

2: เข้าใจ

เราเข้าใจ 4 ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับลูก ดังนี้ คือ

(1): ณ จุดเริ่มต้น ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับลูกที่จะทำได้เช่นนั้น ความเข้าใจในข้อเท็จจริงนี้จะช่วยให้เรายิ้มรับกับปัญหาตามความเป็นจริง จากนั้นเราก็จะใจเย็น และสามารถค่อย ๆ สอน ค่อย ๆ นำลูกพูด ด้วยใจเมตตาได้ค่ะ

(2): ลูกยังไม่เข้าใจการสื่อสารแบบสองทาง ดังนั้น ลูกจึงไม่รู้ว่าเมื่อมีคนตั้งคำถามกับลูก ลูกก็ควรเป็นคนพูดตอบ

(3): ลูกยังพูดสื่อสารโต้ตอบเองไม่ได้เพราะลูกมีทักษะทางภาษาเพื่อการสื่อสารที่จำกัด

(4): เมื่อลูกเริ่มสนใจเรียนรู้ภาษาจากคนรอบข้าง ลูกยังเคยชินที่จะพูดตามแบบอัตโนมัติ ลูกจึงยังไม่พยายามคิดที่จะหาคำตอบด้วยตนเอง

3: แก้ไข

การแก้ไขปัญหานี้ของลูก มีอยู่หลายวิธีที่บ้านอุ่นรักอยากให้คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง ได้ลองทำ คือ

(1): กรณีลูกพูดตาม ให้เราถามนำ โดยพูดเสียงเบา ๆ เมื่อเราตั้งคำถาม แล้วบอกบทคำตอบต่อท้ายคำถามนั้นในทันทีด้วยเสียงที่ดังกว่าเสียงที่เราใช้ในการตั้งคำถาม จากนั้น กระตุ้นให้ลูกพูด โดยเราจะทำเช่นนั้น (ถาม-ตอบ) ทวนซ้ำ ๆ หลาย ๆ รอบ โดยเฉพาะในกรณีที่ลูกพูดเองไม่ได้ เราจะถามนำและบอกบทซ้ำ ๆ ให้บ่อยยิ่งขึ้น

(2): ผู้สอนลูกพูด จะบอกบทคำตอบด้วยคำสั้น ๆ ต่อในทันที โดยผู้สอนทำรูปปากนำหรือพูดออกเสียงทีละคำ บอกบทนำแบบไม่เต็มเสียง เช่น “ทานข้าวกับอะไร” ตอบ “กับ ขะ (ไข่)” ชี้ให้ลูกมองปาก แล้วกระตุ้นลูกให้พูดต่อคำหรือพูดตาม และทวนถามซ้ำ ๆ

(3): ในระยะแรกที่ลูกยังเคยชินที่จะพูดตาม ควรตั้งคำถามที่มีคำตอบให้เห็นเป็นรูปธรรม เพื่อผู้สอนสามารถชี้ให้เห็นสิ่งของหรือภาพที่เป็นคำตอบวางอยู่ตรงหน้าเป็นการช่วยชี้นำ

(4): ที่บ้านอุ่นรัก เราใช้เทคนิควิธีของ PECS (The Picture Exchange Communication System) มาประยุกต์ใช้เป็นกิจกรรมสนุก ๆ ทั้งในรูปแบบการสอนกลุ่มและการสอนเดี่ยวรายบุคคล เพื่อกระตุ้นการพูดให้กับเด็ก ๆ โดยการใช้ภาพเป็นตัวช่วยฝึกเด็กในการพูด การตอบคำถาม และการคิดเป็นประโยค ทั้งนี้ การกระตุ้นการพูด เป็น 1/11 กิจกรรมหลักที่บ้านอุ่นรักนำมาสอดแทรกให้เกิดขึ้นจริงในการจัดโครงสร้างในชีวิตประจำวันของเด็ก ๆ ที่มาเข้ากลุ่มที่บ้านอุ่นรักค่ะ

เรามายอมรับ เข้าใจ และแก้ไขปัญหาการพูดของลูก ๆ ไปด้วยกันนะคะ เพื่อลูกของเราสามารถที่จะเริ่มคิดคำตอบ ตลอดจนสามารถที่จะพูดจาโต้ตอบกับคู่สนทนาได้ด้วยตนเองค่ะ

Photo Credit: Nikolay Hristov | Unsplash

วิธีเพิ่มคุณภาพการพูดของลูกให้ดีขึ้น | บ้านอุ่นรัก

วิธีเพิ่มคุณภาพการพูดของลูกให้ดีขึ้น | บ้านอุ่นรัก

คุณภาพการพูดของลูกจะดีขึ้นได้…ก็ต่อเมื่อ….? 

หนึ่ง: สมาชิกทุกคนในบ้านร่วมกันกระตุ้นการพูดของลูก ร่วมกันสร้างบรรยากาศ ร่วมกันสร้างสถานการณ์ที่จะกระตุ้นให้ลูกได้พูดกับคนในบ้านให้บ่อยที่สุด

สอง: มีการกระตุ้นการพูดแบบเนียน ๆ ในชีวิตประจำวันของลูก โดยสมาชิกทุกคนในบ้านจะไม่ให้อะไรแก่ลูกโดยง่าย ทุก ๆ คนจะลดการมองตาก็รู้ใจ และทุก ๆ คนจะกระตุ้นให้ลูกพยายามพูดจาสื่อสารเพื่อบอกให้เรารู้ถึงความต้องการของลูกเสียก่อน จากนั้นเราจึงจะให้ลูกได้รับในสิ่งที่ลูกต้องการ

สาม: ในกรณีที่ลูกยังพูดเองไม่ได้หรือยังตอบคำถามเองไม่ได้ เราทุก ๆ คนที่เป็นคู่สนทนาของลูก จะถามนำและบอกบทให้ลูกพูดตาม เราจะไม่ย่อท้อ แต่จะขยันที่จะถามนำเช่นนั้น ทวนซ้ำ ๆ อยู่บ่อย ๆ จนกว่าลูกจะยอมพูดเองและตอบคำถามเอง

สี่: การกระตุ้นการพูดจะมาพร้อมกับการกระตุ้นให้ลูกสบตากับคู่สนทนาเสมอ ดังนั้น เราจะพูดกับลูก สบตาลูก ยิ้มให้ลูก เชยคางลูกหรือจับใบหน้าของลูกเบา ๆ ให้ลูกมองตรงมาที่เราซึ่งเป็นคู่สนทนา ในที่สุด ลูกก็จะเคยชินที่จะพูดพร้อม ๆ กับสบตากับคู่สนทนาได้ดียิ่งขึ้น

ความสามัคคีของสมาชิกทุก ๆ คนในบ้าน การร่วมใจ การร่วมแรง และการร่วมกันลงมือสร้างคุณภาพการพูดให้กับลูกสำคัญมากจริง ๆ ค่ะ แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ “ต้องเริ่มต้นทำ..ทำทุกวัน..ทำอย่างสม่ำเสมอ..ทำอย่างต่อเนื่องในระยะเวลาที่ยาวนานมากพอ.. และทุก ๆ คนในบ้านต้องทำแบบเดียวกัน” ในไม่ช้าไม่นาน เราก็จะพบว่าลูกพูดได้อย่างมีคุณภาพมากขึ้นค่ะ 

Photo Credit: Daiga Ellaby | Unsplash