การส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาและการพูด ตอนที่ 4: อะไรคือหัวใจสำคัญของการส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาและการพูด | บ้านอุ่นรัก

การส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาและการพูด ตอนที่ 4: อะไรคือหัวใจสำคัญของการส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาและการพูด | บ้านอุ่นรัก

อะไรคือหัวใจสำคัญของการส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาและการพูด?

หัวใจสำคัญของการส่งเริมพัฒนาการทางภาษาและการพูด คือ

  • การกระตุ้นให้ลูกพยายามพูดบ่อย ๆ ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการกระตุ้นลูกให้พูดบอกความต้องการเสียก่อนจึงจะให้การช่วยเหลือหรือให้สิ่งของที่ลูกต้องการ ทั้งนี้ หากลูกยังพูดเองไม่ได้ คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองสามารถพูดบอกบทนำและกระตุ้นให้ลูกพูดตาม โดยต้องกระตุ้นถามทวนซ้ำสัก 3-5 รอบ เช่น น้อง จะไปไหน : น้อง-ไป-ฉี่ หรือ น้องจะทำอะไร: น้อง-ดื่มน้ำ เป็นต้น
  • การเพิ่มการใช้ภาษาท่าทางเพื่อสื่อสารตามสถานการณ์นั้น ๆ หากลูกใช้ภาษาท่าทางไม่สมวัย พ่อแม่สามารถเริ่มจากจากการจับนำให้ลูกใช้ท่าทางประกอบการสื่อสารให้ชัดเจนมากขึ้น เช่น จับมือฝึกลูกชี้สิ่งที่ต้องการแทนพฤติกรรมการดึงพ่อแม่ไปโดยไม่สื่อสารอย่างชัดเจน หรือฝึกการผงกหัวรับเพื่อสื่อความหมายว่า “เอา” “ใช่” หรือส่ายหน้าแทนคำว่า “ไม่เอา” “ไม่ใช่” เป็นต้น

โดยสรุปแล้ว การส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาและการพูดให้ลูกต้องเน้นการรวมพลังของบุคคล 3 ฝ่ายเพื่อช่วยลูกให้ถูกวิธี ซึ่งประกอบด้วย (1) แพทย์ (แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กหรือจิตแพทย์เด็ก) (2) ผู้เชี่ยวชาญ (นักวจีบำบัดหรือครูฝึกพูด) และ (3) คนที่บ้าน (คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองและทุกคนที่บ้านที่เกี่ยวข้องกับลูก) นอกจากนี้ การใช้ “ภาพ” นับเป็นสื่อการสอนสำคัญที่ขาดไม่ได้ในการฝึกลูก ส่วนคุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองและคนที่บ้านควรรู้วิธีฝึกลูก ตลอดจนมีการกระตุ้นให้ลูกพยายามพูดบ่อย ๆ ในชีวิตประจำวัน และควรเพิ่มการใช้ภาษาท่าทางเพื่อลูกสามารถใช้ท่าทางในการสื่อสารตามสถานการณ์ให้ได้ด้วย

ปัญหาความล่าช้าทางพัฒนาการทางภาษาและการพูดในลูกออทิสติก สมาธิสั้น พัฒนาการช้า ไม่ว่าจะตั้งต้นอยู่ที่ระดับใด ตั้งแต่ลูกไม่พูดเลยหรือลูกพูดได้แต่คุณภาพการพูดไม่สมวัย คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองและคนที่บ้านสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการคลี่คลายปัญหาได้ และศูนย์กระตุ้นพัฒนาการเด็ก “บ้านอุ่นรัก” จะช่วยสนับสนุนข้อมูลและความรู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองและลูก ๆ ต่อไป

เครดิตภาพ: Hulki Okan Tabak | Unsplash

การส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาและการพูด ตอนที่ 3: จะช่วยให้ลูกพูดตอบคำถาม โดยลดการพูดตามได้อย่างไร | บ้านอุ่นรัก

การส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาและการพูด ตอนที่ 3: จะช่วยให้ลูกพูดตอบคำถาม โดยลดการพูดตามได้อย่างไร | บ้านอุ่นรัก

จะช่วยให้ลูกพูดตอบคำถาม โดยลดการพูดตามได้อย่างไร?

เมื่อลูกเริ่มออกเสียงตาม “ภาพ” ได้แล้ว เราจะเพิ่มศักยภาพทางภาษาให้ลูกผ่านการฝึกตอบคำถามและลดการพูดทวนตาม โดยมีวิธีฝึก ดังนี้

  1. ถามคำถามตามภาพ เช่น เมื่อกี้ ลูกกินอะไร (ผู้สอนชี้ภาพและพูดตามคำตอบว่า น้อง (ชื่อเด็ก) | กิน | ข้าว)
  2. ถามซ้ำและชี้ภาพคำตอบ โดยผู้สอนงดการพูดนำคำท้ายลงทีละคำ เช่น เมื่อกี้ ลูกกินอะไร (ผู้สอนชี้ภาพ และพูดตามคำตอบว่า น้อง (ชื่อเด็ก) | กิน | …ทั้งนี้ ผู้สอนไม่ต้องพูดนำว่า “ข้าว” แต่ผู้สอนชี้ที่ “ภาพข้าว” เพื่อให้ลูกตอบเอง) สำหรับขั้นตอนนี้ ผู้สอนจำเป็นต้องอดใจรอให้ลูกพยายามตอบเองแบบ Spontaneous Response หรือการตอบสนองที่เกิดขึ้นเองทีละน้อย จนถึงขั้นที่ผู้สอนสามารถลดการพูดนำลงไปทีละน้อยได้
  3. กรณีที่ลูกยังตอบคำถามเองไม่ได้ ผู้สอนจะบอกบทและกระตุ้นให้ลูกพูด (คำตอบ) ตามสัก 3 รอบ จากนั้น ต้องมีการถามซ้ำอีกรอบทันที  พร้อมกับกระตุ้นให้ลูกมองภาพคำศัพท์นั้น ๆ ควบคู่กันไปด้วย
  4. กรณีถามหลายครั้ง แต่ลูกยังตอบไม่ได้หรือ พูดทวนคำถาม ให้ผู้สอนถามคำถามด้วยเสียงเบาพอได้ยิน และพูดคำตอบในลักษณะการบอกบท พูดนำคำตอบต่อคำถามทันทีด้วยเสียงที่ดังขึ้น และกระตุ้นให้ลูกพูดคำตอบตาม

บทความของศูนย์กระตุ้นพัฒนาการเด็ก “บ้านอุ่นรัก” เรื่อง “การส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาและการพูด” ตอนต่อไปซึ่งเป็นตอนสุดท้าย เราจะบอกหัวใจสำคัญที่จะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองและคนที่บ้านสามารถช่วยลูกสร้างเสริมพัฒนาการทางภาษาและการพูดให้ได้ผลที่ดียิ่งขึ้น โปรดติดตามอ่านในตอนต่อไป

เครดิตภาพ: Julian Larcher | Unsplash

การส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาและการพูด ตอนที่ 2: “ภาพ” จะช่วยให้ลูกพูดเป็นประโยคที่ยาวขึ้นได้อย่างไร | บ้านอุ่นรัก

การส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาและการพูด ตอนที่ 2: “ภาพ” จะช่วยให้ลูกพูดเป็นประโยคที่ยาวขึ้นได้อย่างไร | บ้านอุ่นรัก

“ภาพ” จะช่วยให้ลูกพูดเป็นประโยคที่ยาวขึ้นได้อย่างไร?

ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการเด็ก “บ้านอุ่นรัก” ใช้ “ภาพที่เป็นรูปธรรม” ในการสอนลูกศิษย์ออทิสติก สมาธิสั้น พัฒนาการช้า ให้พูดเป็นประโยคที่ยาวขึ้น ทั้งนี้เพราะ “ภาพ” เป็นสื่อการสอนที่ช่วยให้เด็กเข้าใจสิ่งที่ครูกระตุ้นพัฒนาการกำลังพูด กำลังสอน หรือต้องการสื่อสารในสถานการณ์นั้น ๆ ได้ชัดเจนขึ้น อีกทั้ง “ภาพ” เป็นตัวช่วย (Cue) ให้เด็กเข้าใจความหมายของสิ่งต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรมได้

โดยทั่วไป ครูกระตุ้นพัฒนาการ (ผู้สอน) มีวัตถุประสงค์ขั้นต้นในการใช้ “ภาพ” ในการสอน ดังนี้

  • ช่วยให้เด็ก ๆ พูดได้ยาวขึ้น
  • กระตุ้นให้เด็ก ๆ พยายามออกเสียงออกมาเองแบบ Spontaneous Response หรือการตอบสนองที่เกิดขึ้นเองทีละน้อยจนถึงขั้นที่ครูกระตุ้นพัฒนาการ (ผู้สอน) สามารถลดการพูดนำลงได้ทีละน้อย

ส่วนวิธีใช้ “ภาพ”เพื่อส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาและการพูด มีขั้นตอนดังนี้

  1. แปลงคำพูดในประโยค ให้เป็น “คำ”
  2. แปลงคำทุกคำให้เป็น “รูปภาพ” ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
  3. นำภาพมาเรียงเป็นช่องตามจำนวนคำในประโยคนั้น
  4. ผู้สอนพูดสั้น ๆ เป็นคำ ๆ ตามภาพ โดยพูดนำช้า ๆ ใช้คำพูดสั้น ๆ เป็นคำที่ตรงตามภาพ และจับนิ้วเด็กร่วมชี้ไปตามภาพอย่างช้า ๆ พร้อมกับพูดนำ โดยผู้สอนจะทำเช่นนี้ซ้ำ ๆ สัก 3-5 รอบ
  5. กระตุ้นให้เด็กชี้และพูดตามสัก 3-5 รอบ ซึ่งอาจต้องรอเวลาชั่วครู่เพื่อให้เด็กพูดตาม
  6. เมื่อเด็กเริ่มคุ้นเคยที่จะพูดตามเป็นประโยค ผู้สอนจะชี้ภาพทีละพยางค์ เริ่มลดการพูดนำ เพียงแค่ชี้ไปที่ภาพแทนการพูดนำ เพื่อให้เด็กพยายามออกเสียงพูดออกมาด้วยตนเอง
    • กรณีเด็กยังพูดเองไม่ได้ ให้ใช้วิธีข้างต้นซ้ำ ๆ ทำบ่อย ๆ ทุกวัน หรือให้เด็กพยายามต่อคำ
    • กรณีเด็กออกเสียงได้ แต่ยังไม่มั่นใจ หรือยังไม่เข้าใจ ผู้สอนจะชี้ภาพและออกเสียงพูดนำโดยลดเสียงลง เช่น ประโยค “น้อง (ชื่อเด็ก) | กิน | ข้าว”
  1. ทำซ้ำบ่อย ๆ ชวนเด็กชี้และพูดตามภาพ และลดการพูดนำ รอเวลาชั่วครู่ให้เด็กพยายามคิดและพูดเอง โดยสามารถชี้นำด้วยการชี้ที่ภาพคำตอบ

เนื่องจาก “ภาพ” เป็นสื่อที่ใช้ได้ดีในการสื่อความหมายให้เด็กเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ที่เราต้องการสอนได้อย่างชัดเจนเป็นรูปธรรมและช่วยสร้างเสริมพัฒนาการทางภาษาและการพูดให้กับเด็ก ๆ ได้ ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการเด็ก “บ้านอุ่นรัก” จึงได้จัดทำ “ชุดสมุดภาพเพื่อกระตุ้นการพูด” เพื่อจัดจำหน่าย โดยหวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อคุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองและคนที่บ้านที่ต้องการใช้ “ภาพ” ในการส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาและการพูดให้กับลูก ๆ ในขณะที่ลูกอยู่บ้านต่อไป

ชมตัวอย่าง “ชุดสมุดภาพเพื่อกระตุ้นการพูด” กดลิงก์ข้างล่างนี้

https://www.facebook.com/255269831707213/posts/852651015302422/

บทความ เรื่อง “การส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาและการพูด” ยังมีอีก 2 ตอนซึ่ง “บ้านอุ่นรัก” ฝากทุกท่านโปรดติดตามอ่านเพื่อได้ข้อมูลและแนวทางเพิ่มเติมในการสร้างเสริมพัฒนาการให้กับลูก ๆ ต่อไป

เครดิตภาพ: Quokkabottles | Unsplash

วีดีโอ กิจกรรมดนตรีเพื่อพัฒนาทักษะสำหรับเด็กพิเศษ EP 8 | บ้านอุ่นรัก

วีดีโอ กิจกรรมดนตรีเพื่อพัฒนาทักษะสำหรับเด็กพิเศษ EP 8 | บ้านอุ่นรัก

EP 8: สรุปบทเรียน

เราได้ชมวีดีโอความรู้ เรื่อง “กิจกรรมดนตรีเพื่อพัฒนาทักษะสำหรับเด็กพิเศษ” มาถึง EP สุดท้ายกันแล้วนะคะ

สำหรับ EP นี้เป็นการสรุปบทเรียนและลำดับวิธีการสอนที่เริ่มต้นด้วยกิจกรรมทักทาย ต่อด้วยกิจกรรม Warm Up ไปยังกิจกรรมคีย์บอร์ดและกิจกรรมเคาะจังหวะ และปิดท้ายกันที่กิจกรรมการร้องและทำท่าตามเพลง

เราขอเน้นว่า

…คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง ควรหมั่นฝึกฝนลูกด้วยความสม่ำเสมอเพื่อช่วยเสริมสร้างพัฒนาการที่ดีรอบด้านให้กับลูก

…การคลี่คลายอาการให้กับลูกออทิสติก ยิ่งกระตุ้นพัฒนาการได้เร็วก็ยิ่งดี ยิ่งช่วยคลี่คลายอาการเร็ว อาการก็จะไม่ซับซ้อนจนยากที่จะแก้ไข

ส่วนการเลือกวิธีกระตุ้นพัฒนาการ คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองจะใช้ดนตรีหรือกีฬาก็ได้ จะสอนเดี่ยวหรือสอนกลุ่มก็ดี ขอเพียงผู้สอนนำลูกได้ และไม่ลืมที่จะพิจารณาถึงศักยภาพของลูก ๆ ด้วยเพื่อเข้าแทรก ช่วยเหลือ และนำทางลูกตามจังหวะที่เหมาะสมต่อไป

สำหรับการพัฒนาทักษะต่าง ๆ ให้กับลูก ถึงเวลาแล้วที่เราต้องเปลี่ยนคำถามที่ว่า “ลูกจะทำได้เมื่อไร” มาเป็นคำถามใหม่ว่า “เราทำมากพอหรือยัง” และ “เราให้โอกาสลูก ๆ แล้วหรือยัง” นอกจากนั้น ขออย่ารีรอเรื่องการหาความรู้ ตลอดจนการลงมือช่วยลูกอย่างมีทิศทางด้วยตัวของเราเองค่ะ

ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการบ้านอุ่นรักจะเป็นเพื่อนร่วมทางที่คอยส่งต่อความรู้และข้อมูลผ่านช่องทางต่าง ๆ และส่งมอบกำลังใจให้กับทุกท่านค่ะ

มาชม EP 8 ด้วยการกดลิ้งค์ข้างล่างนี้ได้เลยค่ะ

https://www.youtube.com/watch?v=oAdgtZNnEHc

บ้านอุ่นรักขอขอบคุณฝ่ายพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต | RSU Media มหาวิทยาลัยรังสิต ที่ได้จัดทำวีดีโอชุดนี้เพื่อเด็ก ๆ ที่มีความต้องการเป็นพิเศษและครอบครัวของเด็ก ๆ  ตลอดจนครูนัช หาญพานิชย์พันธ์ มา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ

Credit ภาพ: Spencer Imbrock | Unsplash

วีดีโอ กิจกรรมดนตรีเพื่อพัฒนาทักษะสำหรับเด็กพิเศษ EP 4 | บ้านอุ่นรัก

วีดีโอ กิจกรรมดนตรีเพื่อพัฒนาทักษะสำหรับเด็กพิเศษ EP 4 | บ้านอุ่นรัก

EP 4: ชวนลูกทำกิจกรรม Warm Up ก่อนเข้าสู่กิจกรรมดนตรี

สำหรับ EP 4 นี้ คุณพ่อ คุณแม่ และผู้ปกครองจะได้พบกับวิธี Warm Up ไปกับลูก ๆ (การอุ่นเครื่อง) ก่อนเข้าสู่กิจกรรมดนตรี และได้เกร็ดความรู้เรื่องประโยชน์ที่ลูกจะได้รับจากกิจกรรม Warm Up สนุก ๆ นี้อีกด้วยค่ะ

ตัวอย่างการ Warm up

– ลูกนั่งเก้าอี้และหันหน้าเข้าหาคุณพ่อ คุณแม่ หรือ ผู้ปกครอง (ผู้สอน) จากนั้น ยกมือทั้งสองข้าง กำมือ-แบมือ สลับกันไป ทำช้า ๆ ทำซ้ำ 5 ครั้ง

– ตบมือ เป็นจังหวะช้า ๆ 4 ครั้ง ทำซ้ำ 5 รอบ

– สะบัดมือ

– หมุนข้อมือหน้า-หลัง

– ยกแขนสลับซ้าย-ขวา นับ 1 ถึง 4 ทำซ้ำ 5 รอบ

– ยกเท้าย่ำสลับซ้าย-ขวา และ

– แทรกกิจกรรมพัฒนาการออกเสียงด้วยการพูดไปในกิจกรรม Warm Up ด้วย เป็นต้น

เกร็ดความรู้เรื่องการ Warm Up

– Warm up ด้วยกิจกรรมสนุก ๆ จะทำให้ลูกและเราเกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน สนุก ยิ้ม มองตา และผูกพันกัน และทำได้ง่าย ๆ เช่น เมื่อเราชวนลูก ๆ ใช้มือทำกิจกรรม Warm Up เราก็ยกมือให้อยู่ในระดับสายตา จากนั้นก็กระตุ้นลูกให้สบตาเราและร่วมทำกิจกรรมนั้น ๆ ไปกับเรา เช่น เรียกชื่อลูก (น้อง….) มองตาแม่และมาตบมือกัน….เป็นต้น 

– นอกจากการสร้างเสริมปฎิสัมพันธ์กับลูกแล้ว เรายังสามารถแทรกการเสริมสร้างพัฒนาการและทักษะด้านอื่นที่รอบด้านลงไปในกิจกรรม Warm Up ได้อีกด้วย ทั้งการเสริมสร้างทักษะกล้ามเนื้อมัดเล็ก กล้ามเนื้อมัดใหญ่ การเคลื่อนไหว การออกเสียง และการคงสมาธิ

– การ Warm Up นอกจากจะเสริมสร้างกล้ามเนื้อมัดเล็กของลูก ๆ ได้แล้ว (กล้ามเนื้อมัดเล็ก คือ กล้ามเนื้อตั้งแต่ข้อมือ ฝ่ามือ นิ้วมือ) ยังช่วยลูกเรื่องการฝึกใช้นิ้วและมือที่ต้องประสานกับการใช้สายตา ดังนั้น สมองของลูกจะพัฒนาตามความสามารถของการใช้นิ้วทั้ง 10 นิ้วได้ด้วย ทั้งนี้ ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมัดเล็กของลูกจะส่งผลต่อความสามารถในการช่วยเหลือตนเอง การแก้ปัญหาต่าง ๆ และการปรับตัว เป็นต้น

เรามาชม EP 4 ด้วยการกดลิ้งค์ข้างล่าง จากนั้นก็เริ่ม Warm Up สนุก ๆ กับลูกได้เลยนะคะ 

https://www.youtube.com/watch?v=01MFD9TALQc

บ้านอุ่นรักขอขอบคุณฝ่ายพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต | RSU Media มหาวิทยาลัยรังสิต ที่ได้จัดทำวีดีโอชุดนี้เพื่อเด็ก ๆ ที่มีความต้องการเป็นพิเศษและครอบครัวของเด็ก ๆ ตลอดจนครูนัช หาญพานิชย์พันธ์ มา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ

Credit ภาพ: Frank McKenna | Ben White | Unsplash