สำหรับบางบ้านที่มีลูกซนมาก ๆ ชนิดที่ว่าควบคุมได้ยาก อยู่ไม่สุข วิ่งเตลิด หรือปีนป่ายเก่งจนเข้าข่ายที่ต้องวิตกกังวลเรื่องความปลอดภัย คุณแม่ คุณพ่อ ผู้ปกครอง อาจรู้สึกสงสัยลึก ๆ อยู่ในใจว่าพฤติกรรมเหล่านี้ของลูก เข้าข่ายความซนอยู่ไม่สุขใช่หรือไม่?

การจะชี้ให้ชัดว่าลูกเป็นเด็กที่ซนในระดับซนอยู่ไม่สุขหรือไม่นั้น ยังไม่มีข้อบ่งชี้อย่างเป็นทางการ แต่หากสังเกตและติดตามดูพฤติกรรมประจำวันของลูกในหลาย ๆ มิติประกอบกันสักระยะหนึ่ง เราก็พอที่จะมองเห็นร่องรอยว่าซนขนาดนี้อาจมีปัญหา ตลอดจนรู้คร่าว ๆ ได้ว่าลูกซนเกินระดับปกติแล้วจริง ๆ ทั้งนี้ หากพบและกังวลใจว่าลูกน่าจะซุกซนในระดับที่ผิดปกติ ก็ควรพาลูกไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กหรือจิตแพทย์เด็กเพื่อแพทย์วินิจฉัยอาการและหาทางบำบัดรักษากันต่อไปค่ะ

เพื่อให้คุณแม่ คุณพ่อ ผู้ปกครอง มีข้อสังเกตพฤติกรรมของลูกในเบื้องต้น ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการ “บ้านอุ่นรัก” ได้นำ “Checklist Kids ซนอยู่ไม่สุข” มาฝาก ลองเช็คนะคะว่า “มิติ” ใดของพฤติกรรมประจำวันของลูก สามารถบ่งบอกได้ว่าลูกน่าจะซนอยู่ไม่สุขค่ะ

มิติที่ 1: เช็คระดับการเคลื่อนไหว

  • ในกิจวัตรทั่วไป จะลงมือทำแบบรนรีบ ไม่มีจังหวะจะโคน
  • ในการทำกิจกรรมและการเคลื่อนไหว ตาอาจไม่มองตามทิศทางการเคลื่อนไหวของมือ-เท้า ที่กำลังทำกิจวัตรนั้น ๆ เช่น ระบายสีโดยไม่มองโฟกัสตามจังหวะมือที่กำลังระบายภาพสี เดินหรือวิ่งโดยไม่ได้มองไปยังทิศทางเดียวกับที่กำลังเคลื่อนไหว
  • เคลื่อนไหวแบบอัตโนมัติ ไม่มีทิศทาง ขาดความระมัดระวัง เช่น วิ่งลงบันไดรวดเดียวโดยไม่ดูทาง ปีนป่ายโดยไม่ระมัดระวังตัว เดินเตะสิ่งที่ขวางทางอยู่โดยไม่หลบหลีก

มิติที่ 2: เช็คกระบวนการทำสิ่งต่าง ๆ

  • ทำกิจวัตรประจำวันไม่จบกระบวนการ มักละทิ้งความสนใจกลางคัน เช่น ถือรองเท้าจะไปเก็บ แต่เผลอปล่อยทิ้งกลางทาง
  • ทำงานง่าย ๆ ที่ควรทำตามวัยได้ แต่ทำไม่เสร็จ
  • คุยกับพ่อแม่ยังไม่จบก็ละความสนใจเสียกลางคัน
  • ขี้ลืม ทำของหายบ่อย ๆ

มิติที่ 3: เช็คการคุมตน

เช็คว่าลูกสามารถคุมตนเองได้หรือไม่ ในแต่ละสถานที่และสถานการณ์ โดยเทียบเคียงกับการคุมตนที่เด็กในวัยเดียวกันทำได้ เช่น

  • เด็กในวัยเดียว แม้จะเป็นเด็กซน แต่คุมตนได้:
    • เด็กรู้ตัว คอยมองผู้คนรอบตัว และดูท่าทีของผู้ใหญ่ที่มีต่อพฤติกรรมของตนเองได้ในระดับหนึ่ง
    • เมื่อถูกทัก ถูกเตือน ก็จะมีการหยุดชะงัก รอดูท่าที แล้วค่อยซนต่อ
    • เมื่อได้รับการชี้แนะบ่อย ๆ ในที่สุดเด็กจะค่อย ๆ เรียนรู้ที่จะควบคุมตนเองได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ
  • เด็กซนอยู่ไม่สุข
    • มักไม่หยุดฟัง ไม่พยายามควบคุมตนเอง หรือพยายามแล้ว แต่ยังอดใจไม่ไหว
    • มีพฤติกรรมที่ควบคุมไม่ได้เกินกว่าระดับปกติ และพฤติกรรมนั้นทั้งไม่เหมาะสมกับสถานการณ์และไม่สมวัย เช่น ปีนป่ายย้อนศรคนอื่นบนบันไดลื่น
    • แม้จะได้รับการทัก ห้ามปราม เตือน และสอนหลายรอบ ก็ยังทำพฤติกรรมแบบเดิม
    • ปีนป่ายที่สูงในจุดที่ไม่ควรปีน หรือแม้มีผู้ใหญ่นั่งอยู่ในบริเวณนั้น ก็ยังวิ่งปีนป่าย บุกตะลุย คล้ายไม่รู้กาละเทศะ

มิติที่ 4: เช็คความนิ่งและระดับการอยู่นิ่ง

  • อยู่ไม่นิ่ง ยุกยิก
  • อดไม่ได้ที่จะเคลื่อนไหว
  • วิ่งเตลิด ปีนป่าย
  • ถ้าถูกจับให้อยู่นิ่ง ๆ จะกระดิกมือ ขยับเท้า เขย่าของที่ถือ ในลักษณะที่ไม่สามารถอยู่นิ่งได้แม้ในระยะเวลาสั้น ๆ

ที่กล่าวมาข้างต้น คือ Checklist หรือข้อสังเกตเบื้องต้นเรื่องความซนอยู่ไม่สุข ที่น่าจะช่วยไขข้อข้องใจของคุณแม่ คุณพ่อ ผู้ปกครอง กันได้ค่ะ อย่างไรก็ตาม คำว่า “ซนอยู่ไม่สุข” กับ “สมาธิสั้น” มีความแตกต่างกัน เราจึงต้องแยกปัญหาทั้ง 2 ประการนี้ออกจากกันค่ะ

คุณแม่ คุณพ่อ ผู้ปกครอง ลองสังเกตและติดตามดูพฤติกรรมประจำวันของลูกทั้ง 4 มิติข้างต้นสักระยะหนึ่งนะคะ และท่านควรจดบันทึกพฤติกรรมที่สังเกตเห็นว่าลูกน่าจะซนในระดับซนอยู่ไม่สุข และควรพาลูกไปพบแพทย์ เพื่อแพทย์วินิจฉัยให้ถูกหลักการต่อไปค่ะ

ถ้าลูกซนอยู่ไม่สุขจริง ๆ เราจะมาดูกันในคราวต่อไปว่าในฐานะคุณแม่ คุณพ่อ ผู้ปกครอง เราจะทำอย่างไรได้บ้างเพื่อช่วยเหลือลูกค่ะ

ทุกปัญหามีทางแก้ไข คุณแม่ คุณพ่อ ผู้ปกครอง ช่วยลูกได้แน่ ๆ ค่ะ

เครดิตภาพ: Frank McKenna | Unsplash