8 แนวทางการเลี้ยงดูลูกออทิสติก ลูกสมาธิสั้น ในวัยประถมถึงวัยรุ่น (ตอนที่ 2 | แนวทางที่ 1 ถึง 4)
1: วางโครงสร้างในชีวิตประจำวันของลูกให้ชัดเจนและหลากหลาย ครอบคลุมหัวข้อที่จะส่งเสริมพัฒนาการ
- เขียนกิจวัตรประจำวันของลูกตั้งแต่ตื่นจนถึงเวลาเข้านอน และกำหนดวัตถุประสงค์การฝึกที่ชัดเจน
- ให้สมาชิกในบ้านมีส่วนร่วมช่วยลูกฝึกฝนทักษะด้านต่าง ๆ และการทำกิจวัตรประจำวัน โดยแบ่งหน้าที่และจัดเวลาการทำกิจวัตรแต่ละอย่างให้เหมาะสมตามเวลาว่างของสมาชิกแต่ละคนในบ้าน
- สมาชิกในบ้านที่รับผิดชอบการฝึกทักษะและกิจวัตรแต่ละอย่างร่วมเฝ้าดู จับนำให้ทำ บอกบทให้ กระตุ้นให้ลูกลงมือทำจริง จนกว่าลูกจะทำกิจวัตรต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้ด้วยตนเองอย่างแท้จริง
2: ตั้งเป้าหมายให้ลูกวัย 7 ปีขึ้นไป เริ่มดูแลตนเองในชีวิตประจำวัน
- เริ่มจากการนำให้ลูกมีส่วนร่วมในการลงมือทำกิจวัตรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับตัวเองทั้งหมด ตั้งแต่ขั้นตอนเริ่มต้นจนจบกระบวนการ
- ในระยะแรกของการฝึกฝน อาจต้องจับทำ บอกบทให้ทำ จากนั้นจะค่อย ๆ ลดการช่วยลงทีละน้อย และกระตุ้นให้ลูกทำด้วยตนเองให้ได้มากที่สุด จนในที่สุดจึงปล่อยให้ลูกทำเองตั้งแต่ต้นจนจบ
3: เริ่มสอนลูกอายุ 12 ปีขึ้นไป ให้มีส่วนช่วยทำงานบ้านเพื่อเป็นสมาชิกที่มีคุณค่าของครอบครัว
- นำลูกให้เริ่มมีส่วนช่วยงานบ้านตามวัย โดยให้รับผิดชอบงานบ้านที่เกี่ยวข้องกับตนเอง และผสมผสานการดูแลสมาชิกในบ้านไปด้วย
- เริ่มจากงานง่าย ๆ ที่ไม่ยุ่งยาก ไม่ซับซ้อน ทำได้ง่ายตามวัย เช่น ล้างจาน ซักผ้า เก็บผ้า พับผ้า จัดโต๊ะอาหาร จากนั้นจึงค่อย ๆ ขยายสู่งานที่ยากหรือซับซ้อนขึ้นตามความสามารถของลูก ถือเป็นโครงการระยะยาว และเป็นโอกาสดีที่จะได้ใช้เวลาร่วมกันกับลูก
- ให้ความสำคัญกับกระบวนการลงมือทำมากกว่าผลสำเร็จ
- ชวนลูกทำอย่างต่อเนื่องจนลูกจะทำได้เอง
- ชื่นชมในความพยายามของลูก แม้ผลงานจะไม่เรียบร้อยก็ไม่เป็นไร
4. สอนมารยาทและแทรกกติกาง่าย ๆ ตามวัย
- เมื่อลูกอยู่ในสถานการณ์ต่าง ๆ ที่พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถแทรกการชี้แนะได้ ควรแทรกการชี้แนะด้วยการบอกลูกให้ชัดเจน เห็นเป็นรูปธรรมว่า
- ลูกควรพูดอย่างไรในสถานการณ์นั้น ๆ และ
- ลูกควรปฏิบัติตัวอย่างไรในสถานการณ์ดังกล่าว
โปรดติดตามอ่านข้อมูลเพิ่มเติมของแนวทางที่ 5 ถึง 8 ในตอนต่อไป