(1) ศึกษาหาข้อมูลเพื่อจะเข้าใจลักษณะอาการและข้อจำกัดของลูก

ทำเพื่อเข้าใจลูกอย่างแท้จริงว่าลูกจะทำอะไรได้ จะทำอะไรไม่ได้ เพื่อหาทางแก้ไข และเข้าใจและตระหนักรู้ให้ได้ว่าความจำกัดนั้น ๆ ลูกไม่ได้ตั้งใจจะเป็น แต่คืออาการที่ลูกควบคุมตนเองไม่ได้จริง ๆ

(2) ยอมรับความจริง แต่ไม่ยอมแพ้

ความจริงเรื่องความไม่สมวัยด้านพัฒนาการเกิดขึ้นกับครอบครัวเราแล้วอย่างเลี่ยงไม่ได้ แต่โชคดีที่ลูกเกิดเป็นลูกของเรา เพราะเรามีความรักมากพอ มีเวลามากพออีกยาวนานกว่าลูกจะโต เราจะยิ้มรับและจับมือลูกลุกขึ้น ก้าวเดินต่อไปให้ได้

(3) ปรับความคาดหวัง ปรับวิถีชีวิต 

เนื่องจากการแก้ไขความล่าช้าทางพัฒนาการจำเป็นต้องอาศัยระยะเวลาต่อเนื่องยาวนาน และในหลายกรณี เป็นการดำเนินโรคตลอดชีวิตที่ไม่หายขาด แต่ถ้าทำได้ดี ลูกจะค่อย ๆ ดีขึ้นตามลำดับ

(4) นำลูกเข้าสู่กระบวนการรักษา โดยพ่อแม่มีส่วนร่วมลงมือทำเองอย่างจริงจัง

พ่อแม่รับแนวทางการบำบัดรักษาจากทีมบำบัดมืออาชีพแล้วลงมือทำด้วยตนเองคู่ขนานที่บ้านไปด้วย นอกจากนี้ พ่อแม่ต้องเป็นแกนกลางประสานแนวทางปฎิบัติให้ทุกคนรอบข้างที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันทำไปในแนวทางเดียวกัน

(5) ทำให้ทุกวันของลูกมีความหมาย

จัดกิจวัตรประจำวันโดยแทรกการส่งเสริมพัฒนาการของลูกอย่างครอบคลุมทุกมิติ และให้ลูกได้รับประสบการณ์ทางบวกว่าลูกเป็นที่รักของพ่อแม่ และพ่อแม่จะสนับสนุนให้ลูกเก่งขึ้นทุก ๆ วัน

(6) สื่อสารกับสมาชิกทุกคนในครอบครัวให้ร่วมแรงใจกันทำ

สลับบทบาทกันทำและพัก อะไรที่สมาชิกยังทำไม่ถูกต้องตามแนวทาง พ่อแม่ทำตัวอย่างให้เห็น ระมัดระวังที่จะสื่อสารกันด้วยเมตตา เป็นกำลังใจซึ่งกันและกัน

(7) พ่อแม่ไม่ลืมที่จะแบ่งความสนใจและเวลาเฉพาะให้กันและกันเองและให้ลูก ๆ ทุกคน

เพราะขณะที่ทุกคนทุ่มเทแก้ไขพัฒนาการของลูกที่ล่าช้า แต่ทุกคนที่เกี่ยวข้องต่างยังมีชีวิตจิตใจ มีปัญหาอุปสรรคของตนเอง ที่ต้องการความรักและเอาใจใส่ เท่าเทียมกัน พ่อแม่จึงต้องแบ่งเวลาและความสนใจให้แก่ตนเองและทุกคนที่เกี่ยวข้องด้วย

(8) ประเด็นสำคัญที่สุด คือ พ่อแม่จำเป็นต้องอนุญาตตนเองให้มีความสุขและผ่อนคลาย       

หาช่องว่างทางอารมณ์ง่าย ๆ แทรกระหว่างวันบ่อย ๆ  จัดเวลาสลับบทบาทการดูแลกัน เพื่อคนที่เหลือจะสามารถปลีกตัวไปหามุมสงบ  หากิจกรรมที่ทำแล้วรู้สึกผ่อนคลาย มีเวลาเฉพาะที่จะทำในสิ่งที่ตนเองรู้สึกเป็นตัวของตัวเองในแบบที่จะไม่กระทบความสงบสุขของครอบครัว  เช่น  ออกกำลังกาย  ขี่จักรยาน  อ่านหนังสือ  ล้างรถ  ออกไปซื้อของ ถ้าลูกอยู่กับคนที่ปลอดภัยแล้ว  อย่ารู้สึกผิด ที่จะหาโอกาสให้ตนเองมีความสุขเล็ก ๆ ชาร์จพลังใจเพื่อจะสู้ต่อ

เพราะเรารีบลงมือทำ กว่าเจ้าตัวเล็กจะโต เราจึงมีเวลาอีกยาวนานในการสร้างเสริมพัฒนาการของลูกให้รอบด้านมากที่สุด เราสามารถเลี้ยงลูกไปด้วยและใช้ชีวิตของตนเองไปด้วยอย่างมีความสุขพร้อม ๆ กันไป

เครดิตภาพ: Freepik.com | senivpetro