ในขณะที่ลูกกำลังขึ้นรูปเพื่อสร้างตัวตนของตนเองอยู่นั้น ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการ “บ้านอุ่นรัก” ขอนำเสนอแนวทาง 7 ประการดังต่อไปนี้ เพื่อพ่อแม่ผู้ปกครองนำไปพิจารณาปรับใช้เป็นแนวทางการช่วยเหลือ ให้การสนับสนุน และผลักดันลูก จนลูกค่อย ๆ ก้าวเดินด้วยความมั่นใจสู่ความสำเร็จได้อย่างมีความสุข
7 แนวทางช่วยลูกขึ้นรูปและสร้างตัวตนของตัวเองอย่างมีความสุข
(1) ข้อเท็จจริงคือลูกยังเล็ก
การที่ลูกยังเล็กย่อมหมายถึงทักษะ พัฒนาการ ความสามารถ และประสบการณ์ในชีวิตที่มีอยู่อย่างจำกัด แต่การที่ลูกยังเล็กไม่ได้หมายความว่าพ่อแม่ผู้ปกครองต้องเลี้ยงดูลูกแบบเบบี๋หรือเลี้ยงแบบเด็กกว่าวัย แต่ควรประมาณความสามารถของลูกในการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบด้านตามวัย และค่อย ๆ ตั้งเป้า ต่อยอดความสามารถ ให้ลูกเติบโตทีละก้าวอย่างมีความสุขในทุก ๆ วัน การใช้เวลาคลุกคลีอยู่กับลูกตั้งแต่ลูกยังเล็ก จะช่วยให้พ่อแม่ผู้ปกครองสังเกตเห็นข้อจำกัดและศักยภาพของลูก หากพบว่าลูกขาดทักษะด้านใด ก็ควรค้นหาหนทางและวิธีช่วยลูกให้เหมาะสมกับวิถีชีวิตจริง และส่งเสริมทักษะและพัฒนาการให้กับลูกอย่างรอบด้านเป็นลำดับต่อไป
(2) อย่าเพิ่งมุ่งที่ความสำเร็จ
แม้เป้าหมายในการช่วยลูกขึ้นรูป คือ ลูกสามารถสร้างตัวตนได้สำเร็จ แต่จากข้อเท็จจริงที่ว่าลูกยังเล็กและยังขาดทักษะและประสบการณ์ พ่อแม่ผู้ปกครองจึงอย่าเพิ่งมุ่งที่ความสำเร็จ แต่ควรเน้นให้ลูกได้ลงมือทำ ได้ลองถูกลองผิด และได้มีประสบการณ์ในการทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเองตามวัย โดยมีพ่อแม่ผู้ปกครองอยู่เคียงข้าง คอยให้กำลังใจ ให้ข้อเสนอแนะ คอยชื่นชมส่งเสียงเชียร์แม้เพียงความสำเร็จเล็ก ๆ ที่ลูกทำได้ก็ตามที เพื่อสร้างความมั่นใจให้ลูกและลูกมีความภาคภูมิใจในความสามารถและความสำเร็จไปทีละขั้นตามวัยของตนเอง ทั้งนี้ ในขณะที่ลูกลงมือทำ พ่อแม่ผู้ปกครองที่คลุกคลีอยู่กับลูก ควรร่วมลงมือทำไปกับลูก และให้ความช่วยเหลือตามจังหวะและโอกาสที่เหมาะสม แม้ในระยะแรกของการลงมือทำเรื่องใหม่ ๆ ที่ลูกยังไม่คุ้นเคย พ่อแม่ผู้ปกครองอาจต้องช่วยลูกอย่างเต็มที่ แต่จะค่อย ๆ ลดการให้ความช่วยเหลือลง จนกระทั่งปล่อยให้ลูกลงมือทำสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นกิจวัตรประจำวันของตนเองแบบครบจบกระบวนการได้ด้วยตนเองในท้ายที่สุดต่อไป
(3) เน้นการทำซ้ำ
เมื่อลูกเริ่มเรียนรู้ด้วยการลงมือทำสิ่งใด ๆ ก็ตาม ขอให้พ่อแม่ผู้ปกครองให้โอกาสลูกได้ทำสิ่งนั้นซ้ำ ๆ เพื่อสะสมประสบการณ์ การทำซ้ำ ๆ เป็นโอกาสที่ลูกได้ฝึกฝนจนเก่งยิ่ง ๆ ขึ้นได้เองตามวันเวลา
(4) ให้ความสำคัญกับการสร้างธรรมชาติของการเรียนรู้และการเปิดโลกของลูก
โดยธรรมชาติของลูกออทิสติก สมาธิสั้น พัฒนาการช้ากว่าวัย ลูกมักขาดความสนใจและไม่ค่อยมีแรงจูงใจที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ดังนั้น พ่อแม่ผู้ปกครองจึงต้องหาทางชักชวน สร้างแรงจูงใจ และสร้างโอกาสให้ลูกได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ที่อยู่รอบตัว ทั้งนี้เพื่อสร้างเสริมทักษะของลูกให้รอบด้านอันจะเป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยตนเองในอนาคตต่อไป
(5) วางเป้าหมายให้ลูกสานต่อแบบสองทางกับเราและคนรอบข้าง
การสานต่อแบบสองทางเป็นทักษะทางสังคมที่สำคัญ และไม่เพียงจะช่วยสร้างทักษะทางสังคมให้กับลูก แต่ยังช่วยเพิ่มพูนพัฒนาการด้านการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร โดยเฉพาะการสื่อสารเพื่อบอกความรู้สึกและความต้องการ นอกจากนี้ ยังเป็นการเปิดโอกาสให้คนรอบข้างที่อยู่ในชีวิตลูกได้รู้จักและเห็นถึงความน่ารักน่าเอ็นดูของลูก ตลอดจนได้เข้ามาช่วยกันดูแลลูกในแบบที่คนรอบข้างจะทำได้ ซึ่ง “บ้านอุ่นรัก” มักเรียกรูปการณ์แบบนี้ว่า “การทำให้ลูกกลายเป็นสมบัติสาธารณะ” นั่นเอง
(6) เชื่อมั่นในศักยภาพของลูก
ครูบ้านอุ่นรักมักกล่าวกับพ่อแม่ผู้ปกครองของลูกศิษย์เสมอว่าลูกที่อยู่ตรงหน้าเราในวันนี้ ยังไม่ใช่ตัวจริง ลูกจะเก่งขึ้นได้อีกอย่างน้อย 5 เท่า แต่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องเชื่อมั่นในศักยภาพของลูก ไม่ปล่อยวางกลางครัน และต้องหนักแน่นว่าลูกที่ผ่านการเรียนรู้และฝึกฝนจะเก่งยิ่ง ๆ ขึ้นตามวันเวลา
(7) ให้โอกาสลูกได้เติบโตในบรรยากาศที่ดี
ในช่วงที่ลูกฝึกฝนและพัฒนาทักษะ หากลูกทำสิ่งใดไม่ได้ ยังทำไม่สำเร็จ หรือทำผิดซ้ำ ๆ พ่อแม่ผู้ปกครองพึงต้องระวังใจและระวังคำพูด คำพูดที่จะใช้กับลูกต้องเป็นคำพูดทางบวก การพูดคุยชี้แนะหรือการพูดเพื่อกระตุ้น ต้องพูดสั้น ๆ ให้ลูกเข้าใจโดยง่ายและมองเห็นภาพสิ่งที่เราต้องการให้ลูกทำ พูดด้วยน้ำเสียงเมตตาให้ลูกรู้สึกดีและรู้คุณค่าของตัวเอง
การช่วยลูกขึ้นรูปอาจมีทั้งการสอน การลุ้น การเฝ้ามอง และการรอชื่นชมลูกที่ค่อย ๆ เจริญเติบโตอย่างมีความสุข หากลูกได้มีโอกาสขึ้นรูปเพื่อสร้างตัวตนในบรรยากาศที่ดี เข้าใจ และเอื้อต่อการสร้างเสริมพัฒนาการ ในเวลาที่เหมาะสม ลูกจะค่อย ๆ เผยตัวตนที่แท้จริงให้พ่อแม่ผู้ปกครองได้ชื่นชมและภาคภูมิใจ
เมื่อพ่อแม่ผู้ปกครองให้โอกาสลูกได้พิสูจน์และแสดงศักยภาพของตนเอง ลูกจะเก่งขึ้นได้อีกอย่างน้อย 5 เท่าค่ะ
เครดิตภาพ: Freepik.com | jcomp