เรื่องโรคออทิสติกก็เหมือนกับเรื่องของโรคอื่น ๆ อีกหลาย ๆ โรค ที่เราอาจมีความเชื่อแต่ไม่เคยรู้ความจริงว่าเรื่องที่เราเชื่อ ๆ กันมานั้น มันจริงหรือไม่ แต่จะเชื่อ ๆ ต่อกันไปแบบไม่มีข้อพิสูจน์ก็คงไม่ดีสักเท่าไร เพราะความเชื่อเรื่องออทิสติกที่เราเคยมี    อาจไม่ถูกต้องสักเท่าไรนักจึงทำให้เราเข้าใจเรื่องออทิสติกผิดทางไปได้ในที่สุด 

ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการ “บ้านอุ่นรัก” ขอเป็นแหล่งเรียนรู้อีกแห่งหนึ่งที่นำเสนอเรื่องออทิสติกในหลาย ๆ แง่มุม เพื่อช่วยให้บุคคลออทิสติกและครอบครัว ตลอดจนผู้ที่สนใจ ได้ตระหนักรู้และมีความเข้าใจ  ที่ถูกต้องเรื่องออทิสติกในลำดับถัดไป

ในตอนนี้ บ้านอุ่นรักชวนทุกท่านมาดูกันว่า “7 ความเชื่อเรื่องออทิสติกที่ “เขาว่ากันว่า…..นั้น” จะตรงกับ 7 ข้อเท็จจริงที่พิสูจน์ได้จากการวิจัยเชิงทดลองทางคลินิกหรือไม่ 

ก่อนอื่น เรามาทำความเข้าใจความหมายของการวิจัยเชิงทดลองทางคลินิกกันก่อนนะคะ 

การวิจัยเชิงทดลองทางคลินิกหรือ Clinical Trials คือ ชุดของกระบวนการในการวิจัยทางการแพทย์และการพัฒนายา ที่ทำขึ้นเพื่อประเมินข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัย รวมทั้งผลอันไม่พึงประสงค์จากยาและผลข้างเคียงของวิธีการรักษา ตลอดจนประสิทธิภาพของเครื่องมือต่าง ๆ        ในการให้บริการสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นยา การตรวจโรค อุปกรณ์ที่ใช้ และวิธีบำบัดรักษาอาการต่าง ๆ เป็นต้น 

การวิจัยจะเริ่มขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเคยมีการศึกษาข้อมูลที่ไม่ใช่การศึกษาวิจัยทางคลินิกมาก่อน และเป็นการศึกษาที่เกี่ยวกับประสิทธิภาพและความปลอดภัย จนมีข้อมูลที่น่าพอใจและได้ผ่านการรับรองขององค์กรจริยธรรมที่เกี่ยวข้องแล้ว จากนั้นจึงทำการวิจัยเชิงทดลองทางคลินิกต่อได้ 

ในงานวิจัยเชิงทดลองทางคลินิกนี้ ผู้วิจัยจะรวบรวมอาสาสมัครทั้งที่มีสุขภาพปกติและ/หรือป่วยด้วยภาวะที่สนใจ เข้ามาศึกษาในการวิจัยนำร่องขนาดเล็กก่อน จากนั้นจึงเริ่มการวิจัยขนาดใหญ่ต่อไป ส่วนใหญ่ทำโดยเปรียบเทียบของใหม่กับของเก่าที่ใช้อยู่ เมื่อศึกษาพบว่ามีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพแล้ว การวิจัยลำดับถัดไปจะเพิ่มจำนวนผู้เข้าร่วมการวิจัยให้มากขึ้น การวิจัยเช่นนี้มีขนาดแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับความเหมาะสม และอาจทำในศูนย์วิจัยแห่งเดียว หรือทำในหลายศูนย์    หลายประเทศพร้อมๆ กันก็ได้ 

(คำจำกัดความเพิ่มเติมเกี่ยวกับ “การวิจัยเชิงทดลองทางคลินิก หรือ Clinical Trials” จาก        วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี) 

เราได้รู้คำจำกัดความคร่าว ๆ ของคำว่า “การวิจัยเชิงทดลองทางคลินิก” กันแล้วนะคะ เพราะฉะนั้น ในตอนนี้เรามาต่อกันเรื่อง 7 ความเชื่อเรื่องออทิสติกกับ 7 ความจริงที่ได้การวิจัยเชิงทดลองทางคลินิกกันเลยค่ะ 

ความเชื่อที่ 1: เด็กออทิสติกไม่สามารถพัฒนาความสัมพันธ์ที่มีกับคนอื่นให้กลายเป็นความรักที่ใกล้ชิดสนิทสนมและมีความอบอุ่นได้ 

ความเชื่อที่ว่านี้เกิดในช่วงปี พ.ศ. 2483 ซึ่งเป็นปีที่มีการระบุกันเป็นครั้งแรกว่าอาการออทิสติกเป็นความผิดปกติรูปแบบหนึ่ง ในตอนนั้น เชื่อกันว่าเด็กออทิสติกไม่อาจใกล้ชิดหรือสนิทสนมกับใคร ๆ ได้ เด็ก ๆ ไม่รักใครด้วยใจที่อบอุ่น อันเป็นปัญหาพื้นฐานของเด็กออทิสติก และความเชื่อที่ว่านี้มีหลงเหลืออยู่ในคำจำกัดความเรื่องโรคออทิสติกที่นิยามตามมาในภายหลังด้วย 

ความจริง: จากการวิจัยเชิงทดลองทางคลินิกที่มีเด็กออทิสติกจำนวน 200 คนเข้าร่วมนี้ ผู้วิจัยใช้วิธีการแทรกแซง สร้างเสริม และกระตุ้นพัฒนาการ 2 รูปแบบ คือ 

  1. ใช้การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้วิจัย (ถ้าเป็นที่บ้าน คือ คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเด็ก) และเด็กโดยยึดตามพัฒนาการและความแตกต่างของเด็กแต่ละคนเป็นหลัก (วิธี Developmental Individual-Difference Relationship-based หรือ DIR) และ
  2. ใช้ช่วงเวลาพิเศษร่วมกันระหว่างผู้วิจัยและเด็ก ในบรรยากาศที่อบอุ่น มีความสุข สนุกสนาน และเด็กมีความรู้สึกปลอดภัยในช่วงเวลาที่ทำกิจกรรมตามความสนใจและความชอบของเด็ก เด็กจะเป็นคนนำในการทำกิจกรรมร่วมกัน ส่วนสมาชิกในกลุ่ม (ในการวิจัยนี้ คือ ผู้วิจัย แต่ถ้าทำที่บ้าน คือ สมาชิกในครอบครัวของเด็ก) คอยหาจังหวะหรือสร้างสถานการณ์ในการเข้าแทรกเพื่อกระตุ้นให้เด็กคิดแก้ปัญหา สื่อสาร แลกเปลี่ยน และโต้ตอบทางความคิดและอารมณ์ เมื่อเด็กสนุกและสนใจ เด็กก็จะเกิดแรงจูงใจในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยตนเอง (วิธี Floortime)

(คำจำกัดความเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธี DIR จาก การสอนพูดและพัฒนาการด้วยโปรแกรม DIR/Floor time โดย ดร. เบญจมาศ พระธานี)

(คำจำกัดความเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธี Floortime จาก คู่มือการพัฒนาเด็กออทิสติกแบบองค์รวม (เทคนิค DIR/ฟลอร์ไทม์) โดย รศ. พญ. กิ่งแก้ว ปาจรีย์) 

ผลจากการวิจัยพบว่า

  • การใช้วิธี DIR | Floortime นี้ ทำให้เด็กออทิสติกเรียนรู้ว่าความสนิทชิดเชื้อและความอบอุ่นใจเป็นความรู้สึกที่ดี และเด็กก็สามารถรักคนอื่น ๆ ได้อย่างลึกซึ้งมากเช่นกัน
  • ความรู้สึกเชื่อมโยงที่เด็กแสดงออกในงานวิจัย มีทั้งการยิ้มให้กัน ร่วมสนุกสนานไปด้วยกัน ชอบสิ่งต่าง ๆ แบบเดียวกัน และเกิดความรู้สึกร่วมกับผู้วิจัย ทั้งนี้ การเชื่อมโยงความสัมพันธ์ที่ว่านี้เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วเพราะวิธี DIR | Floortime ที่นำมาใช้มีความเหมาะสมและตรงกับความต้องการที่แตกต่างกันของเด็กแต่ละคน 

ดังนั้น ความจริงที่ได้จากการวิจัย คือ เด็กออทิสติกสามารถรักคนอื่น ๆ อย่างลึกซึ้งได้เหมือน ๆ กับเด็กทั่วไป และเด็กออทิสติกบางคนยังรักคนที่เขารักได้อย่างลึกซึ้งมากกว่าที่เด็กทั่ว ๆ ไปรักได้เสียด้วยซ้ำ การวิจัยนี้มองว่าปัญหาหลักของเด็กออทิสติก ไม่ใช่รักไม่เป็น ใกล้ชิดสนิทสนมกับใครไม่เป็น หรือไม่เคยรักใครแบบรักที่อบอุ่นใจ แต่ปัญหาหลักคือเด็กมีความบกพร่องเรื่องทักษะการสื่อสาร จึงยากที่จะสื่อให้คนอื่น ๆ รับรู้และเข้าใจอารมณ์ของเด็กเสียมากกว่า 

ความเชื่อที่ 2: เด็กออทิสติกไม่สามารถเรียนรู้พื้นฐานเรื่องการสร้างสัมพันธภาพ การสื่อสาร และการคิดได้ ดังนั้น สิ่งที่ดีที่สุดที่เราทำได้ คือ เราต้องสอนให้เด็กเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง 

ความจริง: จากการวิจัยพบว่าเด็กออทิสติกจำนวนมากสามารถเรียนรู้พื้นฐานการสร้างสัมพันธภาพ การสื่อสาร และการคิดได้ แต่ต้องอาศัยการทำงานหนัก อีกทั้งต้องหาวิธีกระตุ้นพัฒนาการที่ครอบคลุมเพื่อช่วยให้เด็กซึ่งเป็นปัจเจกชนที่มีลักษณะอาการต่าง ๆ กันเกิดการเรียนรู้ให้ได้ การที่เด็กออทิสติกที่เข้าร่วมงานวิจัยเกิดการเรียนรู้พื้นฐานเรื่องสัมพันธภาพ การสื่อสาร และการคิดนี้ ยังช่วยให้เด็ก ๆ ส่วนใหญ่ที่ร่วมงานวิจัย มีความเจริญเติบโตที่ดีทั้งด้านสติปัญญาและอารมณ์ควบคู่กันไปด้วย 

ผู้วิจัยเสนอว่าเราควรมองว่าออทิสติกเป็นอาการที่ปรับได้ เปลี่ยนแปลงได้ อาการต่าง ๆ ของเด็ก ๆ ใช่ว่าจะคงที่คงเดิมอยู่แบบนั้น อาการออทิสติกไม่เหมือนกับสีของดวงตา ที่หากเด็กมีดวงตาสีฟ้า เมื่อไร ๆ เด็กคนนี้ก็มีดวงตาสีฟ้าอยู่เช่นเดิม แต่อาจเป็นสีฟ้าที่ต่างเฉดสี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแสงที่ส่องมาในขณะจ้องมอง 

เนื่องจากอาการออทิสติกปรับได้ เปลี่ยนแปลงได้ เด็ก ๆ จึงสามารถเรียนรู้พื้นฐานเรื่องสัมพันธภาพ การสื่อสารเพื่อแลกเปลี่ยนสัญญาณและท่าทีทางอารมณ์ ตลอดจนใช้ความคิดได้อย่างมีความหมาย แต่จะเปลี่ยนไปจากเดิมได้มากหรือน้อย ย่อมขึ้นอยู่กับเด็กแต่ละคน 

จากการสังเกตเด็กจำนวน 200 คนที่เข้าร่วมงานวิจัย ผู้วิจัยพบว่าเด็กแทบทุกคนสามารถสร้างสัมพันธภาพที่ใกล้ชิดและอบอุ่นใจได้ เด็ก ๆ บางรายจากกลุ่มนี้ไม่เพียงแต่จะทำได้เช่นนั้นได้ แต่ยังสามารถแสดงสัมพันธภาพที่มีผ่านคำพูด เข้าอกเข้าใจคนอื่น และตอบสนองเรื่องสัมพันธภาพได้อีกด้วย 

ความเชื่อที่ 3: เด็กที่มีพฤติกรรมซ้ำ ๆ  (เช่น เรียงรถของเล่นซ้ำ ๆ) ชอบกระตุ้นตนเอง (เช่น จ้องมองพัดลมหรืออะไรก็ตามที่หมุน ๆ) หรือพูดซ้ำด้วยคำเดิม ๆ (เช่น พูดตามคำที่คนอื่นพูด) ต้องมี  อาการออทิสติกแน่นอน 

ความจริง: อาการต่าง ๆ ที่ว่านี้เป็นอาการลำดับรอง ๆ ของอาการออทิสติก และอาจจะไม่สามารถใช้เป็นเกณฑ์หลักในวินิจฉัยโรคได้ ทั้งนี้ อาการต่าง ๆ ที่เด็กแสดงออกมาให้เราเห็น อาจเกิดจากปัญหาหรือความบกพร่องทางพัฒนาการรูปแบบอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาการออทิสติก เช่น เด็กอาจมีปัญหาเรื่องระบบการรับสัมผัส (รับรู้สัมผัสไวเกินไปหรือรับรู้ได้ต่ำกว่าระดับปกติ) เด็กมีปัญหาเรื่องการวางแผนการเคลื่อนไหว หรือเด็กมีความเครียด เด็กจึงทำพฤติกรรมซ้ำ ๆ หรือต้องกระตุ้นตนเอง เป็นต้น 

ผู้วิจัยเสนอแนะให้เราคำนึงถึง “ความสามารถ 3 ประการของเด็ก” ดังต่อไปนี้ ก่อนที่จะพิจารณาว่าเด็กมีอาการออทิสติกหรือไม่

  • มีความสามารถที่จะใกล้ชิดสนิทสนมกับผู้อื่น:

   เด็กมีปัญหาในการสร้างความสนิทชิดเชื้อและความอบอุ่นที่แท้จริงหรือไม่

   เด็กเฝ้ามองหาผู้ใหญ่ที่พวกเขารู้สึกสบายใจที่จะอยู่ด้วยหรือไม่ (ไม่ว่าจะเป็นคุณแม่ คุณพ่อ             หรือพี่เลี้ยง)

   เด็กสามารถแสดงให้เราเห็นถึงความอบอุ่นในสัมพันธภาพที่มีได้บ้างใช่หรือไม่

  • มีความสามารถในการแลกเปลี่ยนและตอบสนองทางอารมณ์รูปแบบต่าง ๆ ในลักษณะที่สืบเนื่องกัน:

   เด็กสามารถสื่อสารด้วยท่าทางที่บ่งบอกการแสดงออกทางอารมณ์หรือไม่

   เด็กสื่อสารตอบกลับได้อย่างสอดคล้องกับสถานการณ์หรือไม่

   (ไม่ว่าจะเป็นการยิ้ม ทำคิ้วขมวด ผงกหัว และมีท่าทีตอบกลับแบบอื่น ๆ ตามสถานการณ์)

  • มีความสามารถในการใช้คำหรือสัญลักษณ์เพื่อสื่อความหมายในเชิงอารมณ์:

   คำพูดที่เด็กใช้สื่อความหมายในเชิงอารมณ์หรือไม่

   คำที่เด็กใช้สื่อให้เห็นอารมณ์และความรักหรือไม่ (เช่น “แม่ครับ ผมรักแม่” หรือ “ผมอยากดื่ม           น้ำผลไม้ครับ ขอผมดื่มนะครับ” ไม่ใช่พูดด้วยคำที่สื่อความหมายตรงตัวเท่านั้น เช่น เมื่อเห็นโต๊ะ         เด็กก็จะพูดออกมาว่า “นี่คือโต๊ะ” เป็นต้น)

ถ้าเด็กไม่แสดงให้เราเห็นถึงความสามารถทั้ง 3 ประการข้างต้น เราอาจพิจารณาว่าเด็กมีร่องรอยของอาการออทิสติก

ความเชื่อที่ 4: เด็กออทิสติกไม่สามารถเห็นอกเห็นใจผู้อื่น พวกเขาไม่รับรู้ว่าคนอื่นมีมุมมองที่ไม่เหมือนกับตนเอง (ไม่มี Theory of Mind Capacity)

Theory of Mind หรือทฤษฎีแห่งความคิด คืออะไรนะ

Theory of Mind หรือทฤษฎีแห่งความคิด คือ “การที่เรารับรู้ว่าคนอื่นมีมุมมองไม่เหมือนกับเรา เป็นความสามารถที่เรารู้ว่าคนอื่นรู้หรือไม่รู้ในสิ่งที่เรารู้ เป็นทักษะการอนุมานสิ่งที่คนอื่นคิดหรือรับรู้เบื้องต้น และเป็นความสามารถที่จะแยกแยะได้ระหว่างการรับรู้ของเราเองและการรับรู้ของผู้อื่น ซึ่งทักษะตามทฤษฎีแห่งความคิดนี้มีความสำคัญกับวิวัฒนาการของมนุษย์ เช่น เราเห็นงูอยู่หลังพุ่มไม้ ถ้าเพื่อนของเรากำลังเข้าใกล้พุ่มไม้ เราก็จะเตือนเพื่อนเรื่องงู แต่ถ้าเป็นศัตรูเดินเข้าใกล้พุ่มไม้ เราอาจจะไม่บอกเขาเรื่องงู เป็นต้น ทักษะนี้เป็นพื้นฐานของการมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับเจตนาว่าเราจะใช้ทักษะนี้ไปในทิศทางใด” 

(คำจำกัดความเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Theory of Mind จาก Facebook เก้าอี้นักจิต) 

ความจริง: ผลจากการวิจัยพบว่าเด็ก ๆ ส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมการวิจัยมีความสามารถเรื่องการรับรู้ และใช้ภาษาได้ดีขึ้น นอกจากเด็ก ๆ สามารถรับรู้ความคิดและเข้าใจมุมมองของคนอื่นว่าอาจแตกต่างจากมุมมองของตนเองแล้ว พวกเขายังเข้าอกเข้าใจผู้อื่นได้ดีขึ้นด้วย อีกทั้งมีเด็กกลุ่มย่อยจำนวนหนึ่งจากเด็กทั้งหมดที่ร่วมงานวิจัย ที่เดิมคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง และคุณครูของเด็กบอกว่าเด็กมีความเห็นอกเห็นใจคนอื่นมากกว่าเด็กทั่วไปในวัยเดียวกันอยู่บ้างเล็กน้อย ผลที่พบจากเด็กออทิสติก กลุ่มย่อยนี้ คือ เด็กเป็นคนที่อบอุ่นมาก พวกเขาเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ใส่ใจเพื่อน ๆ อีกทั้งยังเรียนรู้เชิงวิชาการได้ดีอีกด้วย แม้พบผลที่ว่านี้จากเด็กกลุ่มย่อย แต่นับว่าสำคัญ เพราะเป็นผลการวิจัยที่ทำให้เรารู้ว่าเมื่อเราใช้วิธีบำบัดที่เหมาะสม เด็ก ๆ ก็สามารถทำความเข้าใจผู้อื่นได้

ความเชื่อที่ 5: ออทิสติกเป็นความผิดปกติทางชีววิทยาอันมีพื้นฐานจากรูปแบบพันธุกรรมเดียวที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้

ความจริง: งานวิจัยในยุคปัจจุบันชี้ให้เห็นว่าสาเหตุของอาการออทิสติกไม่ได้มีเพียงสาเหตุเดียว แต่มีมากมายหลายสาเหตุ อีกทั้งยังมีเส้นทางที่หลากหลายประกอบกันจนส่งผลให้เกิดอาการ

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคมีทั้งองค์ประกอบด้านพันธุกรรมที่ชัดเจนและการมีพันธุกรรมที่อ่อนแออันส่งผลต่อความโน้มเอียงที่จะเกิดโรค การมีพันธุกรรมที่อาจก่อให้เกิดโรคอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กบางคนมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้มากกว่าปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ 

ปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ อาจออกฤทธิ์สะสมกัน ดังนั้น เด็กที่มีพันธุกรรมที่ส่งผลให้เกิดโรคจึงเสี่ยงที่จะ    มีอาการออทิสติกมากกว่าเด็กคนอื่น ๆ แต่ปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ นี้จะทำให้พัฒนาการของเด็กอ่อนด้อยลงหรือเกิดปัญหาใดด้านพัฒนาการ ย่อมขึ้นกับความโน้มเอียงชนิดที่เฉพาะเจาะจงในการทำให้เกิดปัญหาที่ว่านั้นด้วย 

ในอีกแง่มุมของแนวคิดนี้ คือ เด็กมีลักษณะทางชีวภาพที่หลากหลายอันก่อให้เกิดอาการ เช่น เด็กบางคนมีการรับรู้ประสาทสัมผัสไวกว่าปกติ แต่บางคนก็รับรู้ได้น้อยกว่าระดับปกติ ส่วนบางคนมีปัญหาเรื่องการวางแผนการเคลื่อนไหว ในขณะที่เด็กบางคนมีปัญหาหลายเรื่องประกอบกัน วิถีหรือลักษณะทางชีวภาพที่แตกต่างและหลากหลายนี้อาจส่งผลให้เด็กมีปัญหาเรื่องการสร้างสัมพันธภาพและการสื่อสารได้ 

โดยสรุป งานวิจัยในปัจจุบันชี้ให้เห็นถึงรูปแบบที่มีความซับซ้อนในการทำความเข้าใจเรื่องสาเหตุการเกิดอาการออทิสติก อาจเป็นไปได้ว่ามีปัจจัยต่าง ๆ จำนวนหนึ่งที่ก่อให้เกิดอาการ แต่ละปัจจัยความเสี่ยงมีการโยงใยถึงกัน และนำสู่การเกิดอาการของโรคออทิสติก 

ความเชื่อที่ 6: เด็กออทิสติกอ่านอารมณ์ความรู้สึกของคนอื่น ๆ ไม่ออก 

ความจริง: งานวิจัยที่สนับสนุนข้อความข้างต้นนี้บอกเป็นนัยว่าเด็กออทิสติกใช้สมองส่วนที่แตกต่างจากเด็กที่ไม่มีอาการออทิสติกในการประมวลผลการแสดงออกทางสีหน้า แต่งานวิจัยที่ว่านั้นเปิดทางให้งานวิจัยที่ทำเพิ่มเติมในยุคปัจจุบันได้ตั้งคำถามสำคัญ ๆ ตามมาด้วย 

ศาสตราจารย์ มอร์ตัน เกร์นบาชเชอร์และเพื่อนร่วมงานที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซินพบว่าในช่วงแรกของการศึกษาเรื่องนี้ เด็ก ๆ อาจไม่มองไปที่ใบหน้า นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ดูเหมือนเด็กออทิสติกไม่ได้ใช้สมองส่วนเดียวกับคนอื่น ๆ ในการประมวลผลเรื่องการแสดงออกทางอารมณ์ผ่านสีหน้า ท่านและเพื่อน ๆ จึงศึกษาเรื่องเดิมนี้อีก แต่ในครั้งนี้มีการกระตุ้นให้ต้องมองหน้า ผลการศึกษาที่พบก็คือว่าเด็กออทิสติกก็ใช้สมองส่วนเดียวกันกับเด็ก ๆ ที่ไม่มีอาการออทิสติกในการประมวลผลเรื่องอารมณ์ที่คนแสดงออกมาทางสีหน้า 

ใบหน้าของผู้คนเต็มไปด้วยข้อมูลมากมายมหาศาลที่ถูกสื่อออกมา และอาจสื่อได้มากเกินพิกัด จึงเป็นปัญหาต่อคนที่มีปัญหาเรื่องการประมวลผลการรับสัมผัส ซึ่งเหมือนกรณีของคนขี้อายที่เมื่ออยู่ในงานเลี้ยงก็จะก้มมองพื้นหรือหันมองไปทางอื่นในขณะที่คุยอยู่กับคู่สนทนา และต้องรอให้รู้สึกดีขึ้นเสียก่อนจึงจะหันมามองหน้าคู่สนทนาได้ เช่นเดียวกับพวกเด็ก ๆ หรือแม้แต่ผู้ใหญ่ที่มีระบบรับรู้ประสาทสัมผัสที่ไวกว่าปกติอาจต้องการเวลาปรับตัวปรับใจสักครู่ก่อนที่จะมองมาที่หน้าของเรา จึงไม่ได้หมายความว่าพวกเขามองหน้าไม่ได้ หรือมีกระบวนการที่ผิดแผกแตกต่างในประมวลผลเพื่ออ่านอารมณ์ความรู้สึกที่แสดงออกทางสีหน้า พวกเขาอาจแค่เครียดถ้าต้องมองหน้ากันเร็วจนเกินไป สรุปได้ว่าคนที่มีอาการออทิสติกอาจเลือกที่จะไม่มองหน้า เพราะการมองหน้าจะทำให้เกิดการรับรู้ข้อมูลแบบท่วมท้นมากจนเกินไป หรือไม่ก็ทำให้เกิดความเครียดบางประการขึ้นมาได้ 

ความเชื่อที่ 7: คนที่มีอาการออทิสติกมีความด้อยทางสติปัญญาหรือไม่ฉลาดเท่าคนอื่น ๆ 

ความจริง: บุคคลออทิสติกก็เหมือน ๆ กับคนอื่นโดยทั่ว ๆ ไป ที่อาจเป็นคนฉลาดล้ำหรือไม่ก็ไม่ค่อยจะฉลาดสักเท่าไร การสรุปผิด ๆ ว่าบุคคลออทิสติกมีสติปัญญาที่อ่อนด้อยกว่าคนอื่นจะทำให้บุคคลออทิสติกเสียโอกาสในการทำสิ่งต่าง ๆ ให้เต็มและสุดศักยภาพที่พวกเขามี 

มาถึงตอนนี้ เราก็ได้ตรวจสอบ “7 ความเชื่อเรื่องออทิสติกกับ 7 ความจริงที่ค้นพบจากงานวิจัยเชิงทดลองทางคลินิก” กันแล้วนะคะ เห็นหรือไม่คะว่าความเชื่อที่เราเคยมี อาจไม่ใช่ความจริงเสมอไป และข้อเท็จจริงที่ได้จากงานวิจัยนี้ ก็ทำให้เราเห็นถึง “ความเป็นไปได้” ในการหาวิธีที่ถูกต้องและเหมาะสมเพื่อช่วยให้บุคคลออทิสติกเรียนรู้ทักษะและมีพัฒนาการด้านต่าง ๆ ที่ดียิ่ง ๆ ขึ้นได้ 

แน่นอนว่าการแก้ปัญหาของลูกออทิสติกเป็นงานใหญ่ที่ต้องอาศัยการทำงานหนัก ต้องใช้ระยะเวลา ต้องทำอย่างสม่ำเสมอ และต้องได้รับความช่วยเหลือจากทีมแพทย์ ทีมบำบัด และทีมครอบครัว แต่ไม่ว่างานนี้จะหนักสักแค่ไหน ขอท่านอย่าถอดใจ เพราะบุคคลออทิสติกในครอบครัวต้องการท่านมาเป็น “หัวเรือใหญ่” ในการทำงานนี้

ในระหว่างที่ท่านช่วยเหลือพวกเขา หากมีทุกข์ใจหรือข้อสงสัยกังวลใจ ขอให้นึกถึงบ้านอุ่นรักหรือใครสักคนที่เป็นเพื่อนแท้ ผู้ช่วยแบ่งปันทุกข์และกังวลที่ท่านมี 

“คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง คุณครู และลูก ๆ ออทิสติกไม่โดดเดี่ยวค่ะ” ท่านยังมีเราและใครบางคนยืนอยู่ข้าง ๆ …คอยส่งกำลังใจให้เสมอค่ะ

เราหวังว่าบทความของเราจะมีประโยชน์และเป็นหนทางการส่งกำลังใจให้แก่กัน หากท่านอยากทราบข้อมูลเรื่องอะไรหรือมีข้อสงสัยเรื่องลูกออทิสติก ลูกสมาธิสั้น และลูกที่มีพัฒนาการช้าไม่สมวัย ท่านสามารถติดต่อเราผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น Line@ | Facebook | Website | หรือโทรติดต่อเราได้เสมอทั้งที่บ้านอุ่นรักสวนสยามและบ้านอุ่นรักธนบุรี (พุทธมณฑลสายสอง) ค่ะ 

Credit บทความต้นฉบับ: The Interdisciplinary Council on Development and Learning (ICDL สภาสหวิทยาการเพื่อการพัฒนาและการเรียนรู้: เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรที่อุทิศตนเพื่อส่งเสริมพัฒนาการของบุคคลออทิสติกแต่ละบุคคลให้เต็มศักยภาพ องค์กรนี้ก่อตั้งมาเกือบ 30 ปีแล้วเพื่อเป็นสถานที่บำบัด แหล่งเรียนรู้วิธี DIR | Floortime ในการเสริมสร้างพัฒนาการ และมีการฝึกอบรมต่าง ๆ ให้แก่นักวิชาชีพ ตลอดจนผู้ปกครองของบุคคลออทิสติกด้วย)

Credit ภาพ:  Brunel Johnson จาก Unsplash

อ่านบทความต้นฉบับได้ที่นี่

http://www.icdl.com/dir/about-autism/autism-myths-facts?gclid=CjwKCAjwnf7qBRAtEiwAseBO_FUJNr8uWcCRb8Ux5gSnNc3HGOpKFtpff4DUGCpH1xPzKAFP6KhyPxoCUmQQAvD_BwE