1. ปรับเปลี่ยนทัศนคติ
- เปิดใจยอมรับธรรมชาติตามที่ลูกเป็น ลูกยังคงเป็นเด็กน้อยคนเดิมที่เรารัก ลูกของเราไม่ใช่เด็กที่บุบสลาย และยังคงมีศักยภาพซ่อนอยู่ในตัวเหมือน ๆ กับเด็กทุกคน
- ลูกเป็นเด็กที่มีวิถีการเรียนรู้ที่แตกต่าง ดังนั้น การสอนและเลี้ยงดูลูกจึงจำเป็นต้องใช้วิธีการที่แตกต่างหรืออาจใช้เวลามากกว่าปกติในระยะแรก
- ทำทุกวันให้ดีที่สุดสำหรับลูกพร้อมไปกับการอนุญาตให้ตนเองมีความสุขให้ได้
2. ปรับตนเองให้เป็นพ่อแม่นักบำบัด
- หาความรู้เรื่องแนวทางการบำบัด ทำความเข้าใจเรื่องอาการของลูก และเริ่มต้นเรียนรู้ให้เร็วที่สุดว่าเราจะเป็นพ่อแม่นักบำบัดได้อย่างไร
- เริ่มลงมือทำด้วยตนเองคู่ขนานไปกับการบำบัดรักษาจากนักบำบัดมืออาชีพ โดยรับคำแนะนำจากแพทย์และทีมบำบัด ตลอดจนเข้าร่วมคอร์สหรือเรียนรู้อาการของลูก
- ก้าวแรกที่สำคัญที่พ่อแม่ร่วมเป็นนักบำบัดจะช่วยลดค่าใช้จ่ายและยังช่วยให้ลูกมีพัฒนาการที่ก้าวหน้าเร็วกว่าการรอรับบริการจากภายนอกแต่เพียงทางเดียว
3. ปรับเปลี่ยนสมาชิกในบ้านให้เป็นทีมบำบัด
- จากการศึกษาทั้งในและต่างประเทศพบว่าการกระตุ้นพัฒนาการและปรับพฤติกรรมลูกออทิสติกนั้นต้องทำให้ครอบคลุมพัฒนาการทุกด้าน โดยเฉพาะการเกิดในชีวิตจริงที่บ้าน สมาชิกทุกคนในบ้านจึงเป็น Keyman หรือบุคคลสำคัญที่จะทำให้ทำเรื่องนี้ได้สำเร็จ
- พ่อแม่และสมาชิกในบ้านพูดคุยกันและจัดแบ่งหน้าที่ในการช่วยกระตุ้นพัฒนาการและปรับพฤติกรรม พุดคุยตกลงกันว่าใครสามารถทำสิ่งใดได้ ในเวลาใด เช่น แม่รับหน้าที่ฝึกลูกเรื่องทักษะการสานต่อการสนทนาและการทำกิจวัตรประจำวันเรื่องการตื่นนอน การทานอาหาร พ่อชวนลูกทำกิจกรรมสร้างสรรค์นอกบ้าน พี่ชวนน้องกันเตะฟุตบอลหรือขี่จักรยานร่วมกันยามเย็น คุณยายช่วยฝึกหลานให้ช่วยเหลือตนเองในการอาบน้ำ แต่งกาย
- หากทุกคนร่วมมือกันลงมือทำไปเรื่อย ๆ อย่างมีทิศทาง ในที่สุด ลูกจะเก่งขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยฝีมือของคนในครอบครัวเอง
4. ปรับการจัดสรรเฉพาะกันไว้ให้ลูก
- การจัดเวลาเฉพาะไว้ให้ลูกนี้ควรใช้เวลาแต่ละช่วงไม่ต่ำกว่า 10-15 นาที ทำให้ได้วันละหลาย ๆ รอบ แม้การทำแบบนี้อาจทำให้พ่อแม่เสียเวลาส่วนตัวไปบ้าง แต่จะได้เวลาคุณภาพที่ได้อยู่กับลูก
- การกันเวลาที่มีค่าเฉพาะไว้เพื่อลูกเป็นเสมือนของขวัญที่พ่อและแม่ได้มอบให้กับลูก และเป็นการสร้างสัมพันธภาพที่เปี่ยมไปด้วยรักและอบอุ่นสำหรับครอบครัวได้อย่างแท้จริง
5. ทำใจยอมรับความช่วยเหลือยามจำเป็น
- เราไม่สามารถเป็นพ่อแม่ที่สมบูรณ์แบบหรือพร้อมรับมือตลอดเวลา โดยเฉพาะในการเลี้ยงดูลูกที่ใช้พลังกาย-ใจ มากกว่าการเลี้ยงดูตามปกติ ย่อมทำให้พ่อแม่เกิดความเหนื่อยล้า ดังนั้น ในบางเวลาเราจำเป็นต้องเอ่ยปากขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้างบ้าง
- พ่อแม่ไม่จำเป็นต้องเป็นซุปเปอร์พ่อแม่ที่ต้องทำทุกอย่างด้วยตนเองไปสียทั้งหมด ลองมองไปรอบ ๆ ตัว แล้วจะพบคนที่ปรารถนาดีรอให้ความช่วยเหลือในรูปแบบที่เขาทำได้อยู่รายรอบ เช่น คุณน้าข้างบ้านที่อาสาดูแลลูกให้เราสักครึ่งชั่วโมงในขณะที่เราไปซื้อของที่ตลาด เพื่อนของเราที่จะช่วยดูแลลูกในขณะวันที่เราไม่สบาย เพื่อนของพ่อที่เป็นเพื่อนเล่นฟุตบอลกับลูกของเราพร้อม ๆ ไปกับลูกของเขา เป็นต้น
- เพียงเรายอมรับว่าเราทำทุกอย่างเองไม่ได้ เราเปิดใจให้ลูกได้เป็นเด็กที่น่ารักของคนรอบข้างที่รักและพร้อมมอบความปรารถนาดีอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในที่สุด เพื่อนบ้านของเรา เพื่อนของเรา ญาติพี่น้องของลูก หรือแม้แต่พี่พนักงานขายของที่ร้านสะดวกซื้อ จะเปิดใจรับลูก ทำความรู้จักกับลูก มองเห็นความน่ารักน่าเอ็นดูของลูกและอ้าแขนรอกอดลูกที่น่ารักของเรา
เราทุกคนที่ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการเด็ก “บ้านอุ่นรัก” จะอยู่ตรงนี้เพื่อเป็นอีกหนึ่งกำลังใจผู้มีรอยยิ้ม อ้อมกอดที่จริงใจ และพร้อมจะดูแลคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง และเด็กๆ อย่างดีที่สุดที่เราทำได้ค่ะ
เครดิตภาพ: Unsplash | Edgar Chaparro