ในการส่งลูกที่มีปัญหาด้านพัฒนาการหรือลูกที่มีความต้องการเป็นพิเศษเข้าโรงเรียน ผู้ปกครองย่อมคิดพิจารณาอย่างรอบด้านว่าโรงเรียนต้องมีทีมครูและบุคลากรที่พร้อมจะส่งเสริมให้ลูกได้เรียนรู้อย่างมีความหมาย แนวทางการเรียนการสอนและหลักสูตรที่โรงเรียนต้องเหมาะสมกับการเรียนรู้ของลูก ระยะทางที่ใช้ในการเดินทางต้องไม่ไกลและไม่ทำให้ลูกต้องเหนื่อยมากจนเกินไป คนที่บ้านต้องจัดการเรื่องการรับ-ส่งลูกได้ ตลอดจนค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องต้องอยู่ในงบประมาณที่ผู้ปกครองมีความสามารถในการจัดสรร ทั้งนี้ เมื่อทุกอย่างลงตัว ลูกก็จะเรียนร่วมในโรงเรียนได้อย่างราบรื่น เรียนรู้อย่างมีความหมาย เพื่อสร้างพื้นฐานด้านการศึกษาที่จะต่อยอดสู่ความสำเร็จในการเรียนรู้ด้านอื่น ๆ ที่จำเป็นต่ออนาคตของลูกยิ่ง ๆ ขึ้นไป

แม้ปัจจัยดังกล่าวข้างต้นเป็นองค์ประกอบพื้นฐานจำเป็นที่ผู้ปกครองต้องใช้ในการพิจารณาเลือกโรงเรียนให้กับลูก แต่เนื่องจากลูกมีปัญหาด้านพัฒนาการ การเรียนร่วมในโรงเรียนอย่างมีประสิทธิภาพจึงขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ เพิ่มเติมที่สำคัญอีก 4 ประการ ดังนี้ คือ

  1. การมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง

เนื่องจากลูกที่มีความต้องการเป็นพิเศษอาจมีความสามารถและพัฒนาการบางด้านที่ล่าช้ากว่าอายุจริง นอกจากนี้ ลูกอาจมีอาการ อารมณ์ และพฤติกรรมบางอย่างที่เป็นเงื่อนไข สร้างข้อจำกัด และก่อให้เกิดอุปสรรคด้านการเรียนรู้และการเรียนร่วม ดังนั้น ผู้ปกครองต้องพร้อมที่จะเข้ามามีส่วนร่วมกับทางโรงเรียนในหลาย ๆ ด้านเพื่อส่งเสริมให้การเรียนร่วมของลูกมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ผู้ปกครองต้องเป็นตัวกลางในการประสาน ส่งต่อ และแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างทีมแพทย์ นักบำบัด และโรงเรียน เพื่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องรู้ภาพรวมของปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ตลอดจนมีแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างถูกวิธีร่วมกัน สำหรับการประสานข้อมูลนี้ ผู้ปกครองต้องทำอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องตลอดระยะเวลาของการเรียนร่วม นอกจากนี้ ผู้ปกครองควรร่วมมือกับโรงเรียนเรื่องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลูก ดูแลการเรียนรู้ของลูกเมื่อลูกอยู่บ้าน จัดเตรียมอุปกรณ์ที่ลูกต้องใช้ที่โรงเรียน และช่วยติดตามผลการเรียนร่วมด้วยความใกล้ชิดอีกประการหนึ่งด้วย

  1. ทัศนคติของทีมครูผู้ปฏิบัติงาน

ทัศนคติของทีมครูผู้ปฏิบัติการที่เน้นการให้โอกาสและพร้อมที่จะยืดหยุ่นได้พอประมาณตามที่ปฏิบัติได้จริงแก่ลูกที่เข้าเรียนร่วม นับเป็นปัจจัยสำคัญเพิ่มเติมอีกหนึ่งประการที่จะเอื้อให้ลูกที่มีปัญหาด้านพัฒนาการสามารถปรับตัวและเรียนร่วมกับเพื่อนในชั้นเรียนได้

  1. ระบบสนับสนุนในโรงเรียน

ระบบสนับสนุนของโรงเรียนที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ของลูกที่มีความต้องการเป็นพิเศษ เช่น การกำหนดวิธีการประเมินผลการเรียนรู้ของเด็ก การจัดบุคลากรหรือการสนับสนุนเพิ่มเติมอื่น ๆ เพื่อสร้างเสริมประสิทธิภาพของการเรียนร่วมในชั้นเรียน ตลอดจนการพิจารณาชั้นเรียนของเด็กตามศักยภาพและพัฒนาการมากกว่าดูตามอายุจริง

  1. ความพร้อมของลูก

ลูกที่มีปัญหาด้านพัฒนาการหรือมีความต้องการเป็นพิเศษสามารถประสบความสำเร็จในการเรียนร่วมได้ ทั้งนี้ ลูกที่ประสบความสำเร็จในการเรียนร่วมมักเป็นเด็กที่ได้รับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาแล้วจนสามารถควบคุมตนเองได้ดีในระดับหนึ่ง  ตลอดจนมีทักษะรอบด้านที่จำเป็นต่อการเรียนรู้และเรียนร่วม สามารถนำพาตนเองในชีวิตประจำวันได้ และมีความสนใจกิจกรรมที่หลากหลายจึงสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ได้ตามตารางเรียน นอกจากนี้ ผู้ปกครองต้องหมั่นดูแลสุขภาพของลูกให้ดี เพราะสุขภาพที่ดีจะส่งผลให้ลูกเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ในชั้นเรียนอย่างต่อเนื่องได้

จะเห็นได้ว่าประสิทธิภาพการเรียนร่วมของลูกในโรงเรียนขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ซึ่งผู้ปกครองสามารถเรียนรู้และทำความเข้าใจปัจจัยต่าง ๆ เหล่านั้นได้ สำหรับผู้ปกครองที่สนใจเรียนรู้เรื่องนี้ ตลอดจนแนวทางการสร้างเสริมความพร้อมให้กับลูกที่มีปัญหาด้านพัฒนาการ ท่านสามารถลงทะเบียนเรียนคอร์สออนไลน์ที่ “ครูนิ่ม (คุณนิสิตา ปีติเจริญธรรม)” และทีมกระตุ้นพัฒนาการของศูนย์กระตุ้นพัฒนาการเด็ก “บ้านอุ่นรัก” ได้ร่วมกันจัดทำขึ้น ผ่านตลาดความรู้ออนไลน์ได้ ส่วนผู้ปกครองที่ต้องการให้ทีมกระตุ้นพัฒนาการเด็กของ “บ้านอุ่นรัก” ช่วยท่านดูแลและสร้างเสริมพัฒนาการให้ลูกวัย 2-5 ขวบที่มีอาการออทิสติก สมาธิสั้น หรือพัฒนาการล่าช้ากว่าวัย ท่านสามารถไลน์หรือโทรติดต่อสอบถามบริการนี้ ได้ที่ “บ้านอุ่นรักสวนสยาม” และ “บ้านอุ่นรักธนบุรี (ถนนพุทธมณฑลสายสอง)” ในวันและเวลาทำการ