3 สำหรับท่านที่ได้อ่านบทความเรื่อง “ทีมครอบครัว ทีมบำบัด และทีมโรงเรียน: 3 แรงแข็งขันที่ต้องช่วยกันจึงจะสามารถผลักดันเด็กออทิสติกให้ประสบความสำเร็จในการเรียนร่วมในโรงเรียน” จบไปแล้วนั้น ท่านคงได้เห็นภาพรวมกันแล้วว่าคุณพ่อ คุณแม่ และผู้ปกครองมีงานอะไรที่ต้องทำบ้างในฐานะ “หัวเรือใหญ่” ที่จะนำทีม ประสานทีม และเชื่อมโยงทีมสำคัญทั้ง 3 ทีมเข้าด้วยกันจึงจะเตรียมลูกให้มีความพร้อมมากพอจนลูกได้เข้าเรียนร่วมในโรงเรียนอนุบาล

แน่นอนว่างานของพ่อแม่ผู้ปกครองในฐานะหัวเรือใหญ่ที่เริ่มต้นจากการเตรียมความพร้อมให้ลูก จนลูกพร้อมมากพอที่จะเข้าเรียนร่วมในโรงเรียน ประกอบกับการประสานงานกับทีมบำบัดและทีมโรงเรียนเพื่อสนับสนุนให้ลูกได้เรียนร่วมในโรงเรียน ยังไม่จบลงเพียงเท่านั้น

ในตอนนี้ ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการ “บ้านอุ่นรัก” อยากชวนเพื่อน ๆ มาติดตามกันต่ออีกสักหน่อยว่า พ่อแม่ผู้ปกครองหรือหัวเรือใหญ่ของลูก ยังมีงานหรือบทบาทต่อเนื่องอะไรที่ต้องทำอีก เพื่อขับเคลื่อนให้การเรียนร่วมของลูกมีความต่อเนื่องจากชั้นอนุบาล …ไปสู่ชั้นเรียนอื่น ๆ ได้ตามศักยภาพที่ลูกออทิสติกมี 

3 สิ่งสำคัญที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องทำ หลังลูกออทิสติกได้เข้าเรียนร่วมในโรงเรียนอนุบาล

หนึ่ง: ทำความเข้าใจลูก

สอง: ทำความเข้าใจโรงเรียน

สาม: ประสาน รวบรวม และส่งต่อข้อมูลระหว่างทีมครอบครัว ทีมบำบัด และทีมโรงเรียน

หนึ่ง: ทำความเข้าใจลูก

เมื่อลูกออทิสติกเข้าสู่การเรียนร่วมที่โรงเรียนแล้ว คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองจำเป็นต้องเข้าใจว่าในช่วงแรก ๆ ลูก ๆ จำนวนมากยังมีปัญหาเรื่องการปรับตัวให้เข้ากับการดำเนินชีวิตแบบใหม่ที่โรงเรียนเป็นอย่างมาก ท่านจึงจำเป็นต้องเข้าใจลูก ให้เวลาและโอกาสลูกในการปรับตัว อีกทั้งให้การสนับสนุนลูก ๆ ตามความจำเป็นอย่างต่อเนื่องไปจนกว่าลูกจะปรับตัวได้ดีมากขึ้น

สอง: ทำความเข้าใจทีมโรงเรียน

การที่ทีมโรงเรียนต้องรับมือกับลูก ๆ ออทิสติกในชั้นเรียนควบคู่ไปกับการดูแลนักเรียนคนอื่น ๆ ให้ราบรื่นได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ตามวิถีปกติที่เคยทำในการรับมือกับเด็กนักเรียนทั่ว ๆ ไป นอกจากนี้ ทีมโรงเรียนย่อมไม่สามารถใช้เวลาและบุคลากรทั้งหมดที่มีเพื่อมาดูแลลูกเพียงคนเดียวได้ เพราะยังต้องดูแลลูกและเพื่อน ๆ ของลูกในชั้นเรียนเดียวกันให้ดี ได้ตามสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นตรงหน้าในชั้นเรียน คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองจึงจำเป็นต้องเข้าใจทีมโรงเรียน ตลอดจนให้เวลาแก่ทีมโรงเรียนในการสร้างความคุ้นเคยและช่วยเหลือลูกเรื่องการเรียนรู้ มีการแจ้งข้อมูลเรื่องแนวทางการรับมือเพื่อสนับสนุนการทำงานของทีมโรงเรียน ตลอดจนให้ความช่วยเหลือแก่ทีมโรงเรียนในเรื่องต่าง ๆ อย่างเหมาะสมตามที่ทีมโรงเรียนได้แจ้งหรือขอมาเมื่อคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง และทีมโรงเรียนเข้าอกเข้าใจกัน สื่อสารระหว่างกันด้วยความเมตตา และเชื่อใจกันว่าต่างฝ่ายต่างมีความปรารถนาดีต่อลูก ลูกก็จะเป็นคนที่ได้รับประโยชน์อย่างแท้จริงจากสิ่งที่ทั้งสองฝ่ายได้ลงมือทำร่วมกันในท้ายที่สุด

สาม: ประสาน รวบรวม และส่งต่อข้อมูลระหว่างทีมครอบครัว ทีมบำบัด และทีมโรงเรียน

การประสาน รวบรวม และส่งต่อข้อมูลระหว่างทีมสำคัญทั้ง 3 ทีมนี้ คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองจำเป็นต้องใช้ “สมุดสื่อสาร” มาเป็นตัวช่วยในการประสาน รับ และส่งข้อมูลระหว่างทีม

ตอนนี้ เรามาทบทวนกันสักนิดว่าสามทีมสำคัญประกอบด้วยใครกันบ้าง

หนึ่ง: ทีมครอบครัว ประกอบด้วยคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง และสมาชิกทุกคนในบ้าน

สอง: ทีมบำบัด ประกอบด้วยแพทย์ นักวิชาชีพที่ช่วยบำบัดลูก และครูกระตุ้นพัฒนาการของลูก

สาม: ทีมโรงเรียน ซึ่งหมายรวมถึงผู้บริหารโรงเรียน ครูประจำชั้น และครูผู้ช่วยทุก ๆ คนที่ช่วยดูแลลูกในขณะที่ลูกอยู่ในโรงเรียน

หลังลูกเข้าเรียนร่วมในโรงเรียน คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง ยังคงต้องทำหน้าที่ในการประสาน รวบรวม และส่งต่อข้อมูลระหว่างทีมต่าง ๆ ซึ่งงานนี้ท่านต้องใช้ “สมุดสื่อสาร” เป็นตัวช่วยในการประสานข้อมูลกับทั้งสามทีม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับทีมโรงเรียน

บ้านอุ่นรักไม่แนะนำให้คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองใช้ความจำในการจำข้อมูลเพื่อส่งต่อ ทั้งนี้เพราะข้อมูลที่ได้จากความจำ อาจไม่ครบถ้วนและไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในบางกรณี

เราขอแนะนำให้คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง จดบันทึกสิ่งต่าง ๆ ที่ได้จากการพบเห็น การสังเกต หรือได้จากการไปปรึกษากับทั้งสามทีม ลงไปใน “สมุดสื่อสาร” อย่างเป็นลายลักษณ์อักษร จากนั้น จะได้นำข้อมูลที่บันทึกไว้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการร่วมกันหาแนวทางเสริมและสร้างพัฒนาการให้กับลูก ๆ ที่อยู่ในวัยเรียนได้ต่อไป

ข้อมูลที่คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง ควรจดบันทึกลงไปในสมุดสื่อสาร คือ

หนึ่ง: ตารางสรุปพัฒนาการของลูก พฤติกรรมของลูก และเป้าหมายของพัฒนาการและพฤติกรรมที่แพทย์และทีมบำบัดกำลังติดตามและลงมือทำ

สอง: บันทึกการตอบสนองโดยทั่วไปที่ลูกมี

สาม: หัวข้อการเรียนรู้หรือกิจกรรมที่โรงเรียน ที่ต้องมีการทบทวนการเรียนรู้แต่ละวันต่อที่บ้าน

สี่: รายการของการบ้านที่ต้องทำและได้ทำ

ห้า: รายการสิ่งของที่ครูมอบหมายให้ลูกนำมาจากบ้านเพื่อใช้ในการเข้าร่วมกิจกรรมที่โรงเรียน

หก: ปัญหาพฤติกรรมและอารมณ์ของลูก ตลอดจนแนวทางการแก้ไข ทั้งนี้ หากลูก ๆ มีปัญหาพฤติกรรมและอารมณ์ที่ต้องแก้ไข แต่คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองยังไม่เคยรู้แนวทางการแก้ไขมาก่อน ท่านจะได้นำข้อมูลใหม่ ๆ จากการบันทึก ไปขอคำปรึกษาเพิ่มเติมจากทีมบำบัด และส่งต่อข้อมูลที่เป็นประโยชน์นี้ให้กับสมาชิกคนอื่น ๆ ของทีมครอบครัวและทีมโรงเรียนอย่างชัดเจนได้ต่อไป

การที่คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองลงมือทำ 3 สิ่งที่ต้องทำหลังลูกเข้าเรียนร่วมที่โรงเรียน ไม่ว่าจะเป็น (1) ความเข้าใจที่มีต่อลูก (2) ความเข้าใจในทีมโรงเรียน ตลอดจน (3) ประสาน รวบรวม และส่งต่อข้อมูลระหว่างสามทีมโดยใช้ “สมุดสื่อสาร” ในการจดบันทึก รวบรวม และส่งต่อข้อมูลนั้น คือ ท่านได้ทำเรื่องที่ถูกต้องเป็นอย่างดีที่สุดแล้วในทุก ๆ วัน และเมื่อผสานความถูกต้องที่ทำอยู่ทุกวัน เข้ากับความเมตตาและความเชื่อใจว่าทีมสำคัญทั้ง 3 ทีมต่างรักและปรารถนาดีต่อลูก เราเชื่อแน่ว่าลูกออทิสติกตัวน้อย ๆ ที่อยู่ตรงหน้าของท่าน จะใช้ชีวิตในโรงเรียนได้เป็นอย่างดี และสามารถเรียนร่วมในชั้นเรียนต่าง ๆ ได้ต่อเนื่อง จนก่อให้เกิดการเรียนรู้ที่มีความหมายได้อย่างแท้จริง

ลูกออทิสติกตัวน้อย ๆ ของคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง มักเริ่มต้นการก้าวเดินด้วยฝีเท้าก้าวเล็ก ๆ ที่เตาะแตะ เดินช้า และเดินตามหลังเพื่อน ๆ ที่อยู่ในวัยเดียวกัน แต่เพราะลูก ๆ มีคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง + มีทีมครอบครัว + มีทีมบำบัด + และมีทีมโรงเรียน คอยอยู่ข้าง ๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือและการสนับสนุน ในไม่ช้า ทุก ๆ ก้าวเดินของลูกจะมั่นคง และเปลี่ยนจากการเดิน สู่การวิ่งได้เต็มฝีเท้าอย่างสุดกำลัง

บ้านอุ่นรักได้เห็นการออกเดินและวิ่งเช่นที่ว่านี้ของลูก ๆ ออทิสติกมาแล้ว และเห็นรุ่นแล้วรุ่นเล่า เราจึงขอให้กำลังใจคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองทุก ๆ ท่าน เราขอเพียงท่านอย่าถอดใจเสียกลางคัน แต่ขอให้ท่านมั่นใจในสิ่งดี ๆ ที่ได้ทำ และเราซึ่งเป็นฝีพายของหัวเรือใหญ่ทุกท่านจะร่วมอยู่บนเส้นทางสายนี้เพื่อผลักดันและส่งลูกหลานออทิสติกของท่านให้ได้เข้าสู่การเรียนร่วมในโรงเรียนได้อย่างมีความหมายที่แท้จริงต่อไป

Photo Credit: Felipe Salgado from Unsplash