ปัญหาการพูดของลูกออทิสติกนับเป็นปัญหาใหญ่ที่คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองกังวลและให้ความสำคัญกับการหาทางแก้ไขเป็นลำดับต้น ๆ
ตัวอย่างปัญหาการพูดของลูกออทิสติก เช่น ลูกอยู่ในวัยที่ควรจะพูดได้แล้วแต่ก็ไม่ยอมพูด หรือลูกพูดได้ แต่พูดแบบไม่สมวัย พูดคำเดิม ๆ พูดซ้ำ ๆ พูดในลักษณะของชุดคำพูดจากความจำ เมื่อถูกตั้งคำถาม ลูกก็ไม่ตอบคำถาม เอาแต่จะพูดตามหรือพูดทวนซ้ำคำถาม และไม่สานต่อบทสนทนา เป็นต้น
เนื่องจากคุณภาพการพูดของลูกเป็นพัฒนาการพื้นฐานที่สำคัญของทักษะการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารและการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ของลูก อันจะส่งผลให้ลูกมีพัฒนาการด้านอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าสังคมและการควบคุมพฤติกรรมและอารมณ์ของตนต่อไปได้ ดังนั้น หากลูกมีปัญหาการพูด คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำ 3 สิ่งดังต่อไปนี้ในทันทีค่ะ
หนึ่ง: ต้องพาลูกไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กหรือจิตแพทย์เด็ก
การพาลูกไปพบแพทย์นี้สำคัญมากเพราะเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหาอย่างถูกทาง นอกจากแพทย์จะวินิจฉัยอาการของลูกอย่างถูกต้องตามหลักการทางการแพทย์แล้ว ท่านยังสามารถให้คำแนะนำแก่คุณพ่อ คุณแม่ และผู้ปกครอง เรื่องแนวทางการดูแลและการบำบัดรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสมกับกรณีปัญหาของลูกต่อไปได้อีกด้วยค่ะ
สอง: ต้องพาลูกไปรับการบำบัดรักษาปัญหาการพูดจากนักวจีบำบัดหรือครูฝึกพูด
นักวจีบำบัดหรือครูฝึกพูดเป็นนักวิชาชีพผู้เชี่ยวชาญที่มีบทบาทสำคัญในการแก้ไขนี้ให้กับลูก ซึ่งคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองสามารถติดต่อขอรับบริการจากนักวิชาชีพนี้ได้ทั้งที่โรงพยาบาลของรัฐบาลและเอกชน เนื่องจากการการบำบัดรักษาปัญหาการพูดต้องอาศัยระยะเวลา ดังนั้น ท่านจำเป็นต้องรีบทำ ลูกจะได้มีเวลายาวนานมากพอที่จะฟื้นฟูและสร้างเสริมพัฒนาการด้านการพูดให้มีคุณภาพพอควรก่อนเข้าเรียนร่วมในโรงเรียนอนุบาล ดังนั้น ยิ่งท่านพาลูกไปพบนักวจีบำบัดหรือครูฝึกพูดเร็วเท่าไร ก็ยิ่งเป็นการดีต่อตัวของลูกเองค่ะ
สาม: ต้องช่วยลูกสร้างเสริมพัฒนาการด้านการพูดที่บ้านด้วย
นอกเหนือการใช้บริการจากนักวิชาชีพในการแก้ปัญหาการพูดของลูกแล้ว คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง ตลอดจนสมาชิกทุก ๆ คนในบ้าน ต้องเข้ามามีบทบาทในการกระตุ้นการพูดให้กับลูกในขณะที่ลูกอยู่บ้านหรือในชีวิตประจำวันด้วย ทั้งนี้เพราะการบำบัดรักษาปัญหาลูกออทิสติกนี้ ต้องทำอย่างสม่ำเสมอ ต่อเนื่อง และยาวนานมากพอ หากเรารอรับบริการจากนักวิชาชีพเพียงอย่างเดียว ปัญหาของลูกจะคลี่คลายไม่ทันท่วงทีและอาจยิ่งทวีความซับซ้อนมากขึ้นได้ ส่วนวิธีที่ถูกต้องในการกระตุ้นการพูดให้กับลูกด้วยตัวของท่านเองนั้น ท่านสามารถขอคำแนะนำได้จากนักวจีบำบัดหรือครูฝึกพูดของลูก จากนั้นก็นำแนวทางนั้นมาสอนสมาชิกทุกคนในบ้าน เพื่อทุกคนทำเป็นและเข้ามามีส่วนร่วมในการกระตุ้นคุณภาพการพูดของลูกในชีวิตประจำวันที่บ้านได้ต่อไป
การสร้างเสริมพัฒนาการด้านทักษะการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารหรือการแก้ปัญหาการพูดของลูกออทิสติกนี้ หากจะทำให้สำเร็จ ต้องอาศัยสามแรงที่แข็งขัน คือ ทีมแพทย์ ทีมนักวจีบำบัด และทีมครอบครัว และต้องการการร่วมแรงร่วมใจในการช่วยลูกอย่างสม่ำเสมอ ต่อเนื่อง และทำตามแนวทางที่ถูกต้อง หากคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง ทำครบถ้วนได้ตามนี้ ในที่สุด ลูกก็จะมีคุณภาพการพูดที่ดีขึ้นได้ในเร็ววันค่ะ
Credit ภาพ: Isaac Quesada | Unsplash