โดยธรรมชาติของลูกที่มีอาการออทิสติก สมาธิสั้น หรือมีปัญหาด้านพัฒนาการ ลูกจะชอบอยู่ในโลกของตนเอง และจะยิ่งเป็นเช่นนั้นมากขึ้น ๆ หากพ่อแม่ผู้ปกครองปล่อยลูกไว้แบบนั้น จนกระทั่งในท้ายที่สุด ลูกจะหมกมุ่นอยู่กับโลกส่วนตัวและสิ่งที่ตนเองชอบ จนถึงขั้นปฏิเสธการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ไม่สนใจสานต่อกับบุคคลรอบข้าง และขาดปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ซึ่งส่งผลเสียต่อการพัฒนาทักษะและศักยภาพด้านการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร การเข้าสังคม การควบคุมอารมณ์และพฤติกรรมต่อไป

แม้ลูกจะมีโลกส่วนตัวสูง แต่ถ้าคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง และสมาชิกในครอบครัวช่วยกันทำ 3 สิ่งนี้ ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการ “บ้านอุ่นรัก” เชื่อว่าในไม่ช้าไม่นาน คนที่บ้านก็จะสามารถค่อย ๆ ดึงลูกออกจากโลกส่วนตัวได้

3 สิ่งที่ต้องทำเพื่อดึงลูกออกจากโลกของตนเอง

  • การสบตา
  • การเลียนแบบ และ
  • การตอบสนองต่อสิ่งเร้า

1: การสบตา

คนที่บ้านสามารถกระตุ้นให้ลูกสบตาได้มากขึ้นด้วยวิธีง่าย ๆ ดังนี้ คือ

  • เวลาส่งของให้ลูก ยกของชิ้นนั้น อยู่ระดับสายตา เรียกชื่อลูก ยกของค้างไว้ รอลูกสบตา นับ 1 ถึง 3 (หรือ 3 วินาที) จึงส่งของให้
  • เล่นกลิ้งบอล ลูกปิงปอง หรือลูกเทนนิส ให้ลูกเก็บใส่ภาชนะใหญ่ ๆ หรือตะกร้า รอบละ 10 ครั้ง โดยก่อนกลิ้งบอลไปให้ลูก ยกบอลสูงระดับสายตา เรียกชื่อลูก แล้วจึงกลิ้งบอลให้ลูกเก็บ
  • เล่นแบบที่ลูกชอบ ให้ลูกสนุก หัวเราะบ่อย ๆ หลังจากเล่นสักระยะหนึ่งเมื่อสังเกตว่าลูกเริ่มสนุก ระหว่างเล่นให้ทดลองหยุดกลางคัน เช่น ขณะที่ลูกนั่งเล่นบนขาพ่อเหมือนกำลังขี่เครื่องบิน ลูกเริ่มสนุกกับการเล่นนั้น ให้พ่อหยุดกลางคัน เหมือนพ่อจะยกขาขึ้นอีกรอบแต่ไม่ยก รอจนลูกสบตาจึงเล่นต่อ ทำเช่นนี้คั่นเป็นระยะ ๆ ตลอดการเล่น หรือเล่นคลุมผ้าจ๊ะเอ๋กับลูก ก่อนจะคลุมผ้า รอลูกสบตากันก่อน จึงจะเล่นจ๊ะเอ๋กันต่อ หรือเล่นเป่าพุง ทำท่าจะเป่า แต่ไม่เป่า รอลูกสบตาจึงเป่าพุงต่อ
  • เวลาลูกขอความช่วยเหลือในชีวิตประจำวัน พยายามนิ่งรอเพื่อให้ลูกเงยขึ้นสบตาก่อน เช่น เวลาจะแกะฝาขวดน้ำให้ เวลาจะยื่นนมกล่องให้ เวลาจะแกะขนมให้ หรือเวลาจะเปิดประตูให้ลูกออกไปวิ่งเล่นข้างนอก รอลูกสบตาก่อน จึงจะทำให้ เป็นต้น

2: การเลียนแบบ

พ่อแม่ผู้ปกครองและคนที่บ้านสามารถกระตุ้นให้ลูกเลียนแบบได้โดย

  • ชวนลูกเลียนแบบท่าทาง 1 ขั้นตอนบ่อย ๆ โดยทำให้ลูกดูเป็นตัวอย่าง 3 ครั้ง พร้อมส่งเสียงสนุก ๆ ประกอบ แล้วจับลูกทำตามแบบนั้น เช่น ตบมือ 3 ครั้งพร้อมนับ 1 2 3 ทำท่าไชโย 3 ครั้ง พร้อมพูดว่าไชโย ไชโย ไชโย กระทืบเท้า 3 ครั้ง พร้อมพูดว่าตึง ตึง ตึง ชี้ปาก 3 ครั้ง แล้วพูดว่าปาก ปาก ปาก หรือทำท่าง่าย ๆ แบบอื่น ๆ 3 ครั้งส่งเสียงสนุก ๆ ประกอบ (เสียงที่สอดคล้องกับท่าทางนั้น)
  • เวลาถืออุปกรณ์อะไร พยายามนำลูกทำท่าเลียนแบบประกอบวิธีใช้อุปกรณ์นั้น ๆ เช่น ถือหวี พร้อมทำท่าหวีผม แล้วส่งให้ลูกทำท่าหวีผมเลียนแบบผู้สอน ถือแปรงสีฟัน พร้อมทำท่าแปรงฟัน แล้วส่งให้ลูกเลียนแบบหรือทำตาม ถือแก้วน้ำ แล้วยกทำท่าดื่ม และพูดว่าดื่ม ดื่ม ดื่ม เป็นต้น

3: การตอบสนองต่อสิ่งเร้า

เราสามารถกระตุ้นให้ลูกตอบสนองต่อสิ่งเร้าโดย

  • หาของเล่นที่เคลื่อนไหวได้ กระตุ้นให้ลูกพยายามเข้าไปจัดการสิ่งนั้นอย่างมีรูปแบบ ถ้าลูกทำไม่ได้ ให้จับมือลูกทำ เช่น เทบอลให้เก็บ โยนลูกปิงปองให้เด้งบนพื้นแล้วให้ลูกเก็บ เป่าฟองสบู่ให้ลูกวิ่งไล่จับฟองสบู่ โยนลูกโป่งให้ลูกตีกลางอากาศ หรือปล่อยของเล่นไขลานให้ลูกตามจับ ทำแต่ละอย่างวนไปมาสักวันละ 10 รอบ เป็นต้น

เป้าหมายที่เราต้องกระตุ้น (1) การสบตา (2) การเลียนแบบ และ (3) การตอบสนองต่อสิ่งเร้า ก็เพื่อดึงลูกออกจากโลกของตนเอง และหันมาสานต่อกับบุคคลและสิ่งของรอบตัวให้มากขึ้นนั่นเองค่ะ

ทำไม่ยากเลยใช่ไหมคะ ขอให้ลองทำดูนะคะ ทำทุกวัน ๆ ละหลาย ๆ ครั้ง ในไม่ช้า ลูกก็จะลดเวลาการอยู่ในโลกส่วนตัวตามลำพัง และเริ่มที่จะสานต่อกับผู้คนและสภาพแวดล้อมได้มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการพัฒนาทักษะด้านภาษา และสังคม ตลอดจนช่วยให้ลูกเกิดการเรียนรู้เรื่องการควบคุมอารมณ์ และพฤติกรรมได้อีกด้วยค่ะ

เครดิตภาพ: Lesley Curtis | Unsplash