การสานต่อแบบสองทางระหว่างพ่อแม่ผู้ปกครองและเด็ก ๆ มีอยู่ 2 ลักษณะ คือ
- การสานต่อแบบสองทางด้วยการแทรกซึมตัวเราให้เด็กเคยชินที่จะอยู่กับเรา ทำได้โดยเราไม่ปล่อยให้เด็กแยกตัวออกไปทันที หรือแยกตัวออกไปทำกิจกรรมที่หมกมุ่น หรือแยกตัวออกไปนั่งเล่นอยู่คนเดียว การสานต่อแบบสองทางในลักษณะนี้ พ่อแม่ผู้ปกครองต้องเน้นความพยายามทำให้ช่วงเวลาที่ได้ใช้ร่วมกันเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขและความสนุก และให้ความสำคัญกับการเพิ่มความแน่นแฟ้นให้มากขึ้น ๆ ตลอดจนมุ่งขยายระยะเวลาแห่งความสุขและสนุกร่วมกันนี้จากระยะเวลาสั้น ๆ เป็นเวลาที่นานยิ่ง ๆ ขึ้น การแทรกซึมนี้มี “การเล่น” เป็น “สื่อกลาง” ระหว่างเราและเด็ก ซึ่งเป็นทั้งการเล่นแบบที่มีของเล่นและการเล่นระหว่างเรากับเด็กโดยไม่ต้องมีของเล่นก็ได้ เช่น เล่นจะเอ๋ เล่นจั๊กจี้ เล่นวิ่งไล่จับและสบตากัน เล่นนั่งเครื่องบินบนขาและสบตากัน หรือนำเด็กทำกิจกรรมที่เด็กชอบโดยมีเราเป็นส่วนรวม เป็นต้น
- การสานต่อแบบสองทางด้วยการวางเงื่อนไขสองสิ่งเพื่อให้เด็กคุ้นเคยที่ได้อยู่กับเราและเข้ามาอยู่ในครรลองที่เราพยายามนำทางเขาได้ในลำดับถัดไป ซึ่งศูนย์กระตุ้นพัฒนาการ “บ้านอุ่นรัก” จะชวนพ่อแม่ผู้ปกครองคุยรายละเอียดของการสานต่อด้วยวิธีนี้กันต่อในตอนต่อไป อย่างไรก็ตาม การสานต่อแบบสองทางด้วยการวางเงื่อนไขนี้มีข้อพึงระวังคือเราต้องไม่เน้นที่จะการวางเงื่อนไขแบบจริงจังแต่เพียงฝ่ายเดียวจนลืมที่จะเน้นกันสานต่อแบบสองทางในทางบวกกับเด็ก ไม่เช่นนั้น จะกลายเป็นว่าเราเน้นแต่ซีนดุ ซีนวางเงื่อนไข ซีนต้องทำแบบนี้จึงจะได้ความสุขหรือความสนุกเป็นการตอบแทน หากบรรยากาศการวางเงื่อนไขออกเป็นแนวนี้ เด็ก ๆ ก็จะไม่รู้สึกถึงความสุขและสนุกที่ใช้เวลาร่วมกันกับเรา เราจึงต้องระวังเรื่องการสานต่อแบบสองทางด้วยการวางเงื่อนไขอยู่บ้างเช่นกัน
ไม่ว่าพ่อแม่ผู้ปกครองเลือกใช้วิธีใดในการสานต่อแบบสองทางกับลูก ขอให้ท่านคงแก่นแท้ของการสานต่อแบบสองทางดังต่อไปนี้ไว้ให้ได้ เพื่อท่านสามารถสร้างเสริมคุณภาพชีวิตให้กับลูก ๆ เพิ่มบรรยากาศทางบวกในครอบครัว พร้อม ๆ กับได้มีช่วงเวลาแห่งความสุขและสนุกร่วมกัน
- เน้นการสร้างโอกาส หรือมีโอกาสสร้างและสานต่อปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน ได้เล่นด้วยกัน ได้ใช้เวลาสนุกด้วยกันเยอะ ๆ และสร้างสัมพันธภาพทางบวกกับเด็ก
- เน้นเป้าหมายการทำให้เด็กคุ้นเคยที่จะได้อยู่กับเรา ได้ใช้เวลาร่วมกันกับเราเพื่อเล่น สำรวจสิ่งแวดล้อม เรียนรู้และทำกิจกรรมสนุก ๆ แบบใหม่ ๆ ที่มีประโยชน์ต่อการสร้างเสริมทักษะของเด็กอย่างรอบด้าน
- เน้นการได้หัวเราะและได้สบตากัน เพื่อทำให้เด็กรับรู้ว่าการอยู่กับพ่อแม่ผู้ปกครองนั้นมีทั้งความสนุกและความสุข
- เน้นการลงมือทำในชีวิตจริง เพื่อให้เด็กสัมผัสให้ได้ว่าไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใดลูกจะมีพ่อแม่ผู้ปกครองที่รัก เข้าใจ และเป็นเพื่อนกับลูกเสมอ
เครดิตภาพ: Freepik.com