คุณแม่คุณพ่อเคยรู้สึกหรือไม่ว่าลูกที่อยู่ในวัย 2-3 ขวบขึ้นไป มักเริ่มแสดงท่าทีต่อต้าน ดื้อ และแสดงอารมณ์รุนแรงบ่อยขึ้น! เมื่อได้รับคำสั่งจากคุณแม่คุณพ่อ
การที่ลูกมีท่าทีต่อต้าน ช่างปฏิเสธ ไม่ทำตามคำสั่ง และเข้าสู่โหมดเลี้ยงยากนั้น คุณแม่คุณพ่อควรต้องทำใจและยอมรับให้ได้เสียก่อนว่าท่าทีต่าง ๆ ที่ว่านี้ เป็นลักษณะตามธรรมชาติ ตามวัยของลูกวัยนี้ค่ะ
ลูกที่อยู่ในวัย 2-3 ขวบขึ้นไป เริ่มอยากเรียนรู้ที่จะเป็นตัวของตัวเอง แต่เพราะทักษะการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารของลูกวัยนี้ยังไม่ถึงพร้อม และลูกยังไม่รู้วิธีบริหารอารมณ์ของตัวเอง ลูกจึงแสดงท่าทีต่าง ๆ ที่อาจขัดหู ขัดตา ขัดใจ และขัดคำสั่งของคุณแม่คุณพ่ออยู่บ่อยครั้ง อย่างไรก็ตาม คุณแม่คุณพ่อที่เข้าใจและยอมรับธรรมชาติตามวัยของลูก ย่อมสามารถที่จะหาวิธีและปรับเปลี่ยนการเลี้ยงดูให้เหมาะสมกับวัยของลูก จนทำให้ลูกที่ช่างต่อต้านและเลี้ยงยากนี้ เติบโตทางอารมณ์อย่างสมวัยได้ในท้ายที่สุดค่ะ
ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการ “บ้านอุ่นรัก” อยากนำเสนอ “การให้โอกาสลูกวัยต่อต้านได้ร่วมวางแผนในกิจวัตรประจำวันที่เกี่ยวกับตนเอง” เป็นวิธีรับมือลูกวัยต่อต้านให้คุณแม่คุณพ่อได้ลองอ่านและลองทำกันดูนะคะ
เรารับรองว่าการรับมือแบบ “บ้านอุ่นรัก” นี้ จะทำให้ลูกลดการต่อต้าน ตลอดจนเผลอให้ความร่วมมือในการทำสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นกิจวัตรประจำวันของตนเอง อีกทั้งจะสร้างบรรยากาศที่ดีให้กับครอบครัวได้อีกด้วยค่ะ
“การให้โอกาสลูกวัยต่อต้านได้ร่วมวางแผนในกิจวัตรประจำวันที่เกี่ยวกับตนเอง” มีด่านในการทำใจ…..ที่คุณแม่คุณพ่อต้องผ่านไปให้ได้ในเบื้องต้นเพียง 2 ด่านเท่านั้น คือ
ด่านที่ 1: ต้องเปิดโอกาสให้ลูกมีส่วนคิด ร่วมวางแผน และตัดสินใจในเรื่องของตนเองมากขึ้น โดยลูกจะมีคุณแม่คุณพ่ออยู่ข้าง ๆ เป็นเพื่อนคู่คิด…ทำใจยอมรับและให้โอกาสลูกได้ใช่หรือไม่คะ…ถ้าใช่ ไปต่อได้ค่ะ
ด่านที่ 2: ต้องช่วยลูกฝึกการทำสิ่งต่าง ๆ ตามแผนที่ลูกวางไว้ โดยมีคุณแม่คุณพ่อเฝ้าดูอยู่ห่าง ๆ ในขณะที่ลูกกำลังกิจวัตรแต่ละอย่างตามแผนของตนเอง…ทำใจยอมรับและจะช่วยลูกฝึกฝนได้ใช่หรือไม่ค่ะ…ใช่อยู่แล้ว งั้นไปต่อกันค่ะ
เมื่อคุณแม่คุณพ่อผ่านด่านการทำใจทั้ง 2 ด่านมาได้แล้ว เราจะมาดูตัวอย่างการรับมือลูกวัยต่อต้านให้ลูกเผลอร่วมมือทำกิจวัตรประจำวันที่เกี่ยวกับตนเองตามแบบของ “บ้านอุ่นรัก” กันเลยดีกว่า โดยเราขอยกสถานการณ์จำลองว่า “ลูกมีกิจวัตรอะไรที่ต้องทำหลังเวลาเลิกเรียนจนกระทั่งเข้านอน” มาเป็นตัวอย่างนะคะ
ด่านแรก: ให้โอกาสลูกวางแผน
- ให้ลูกลิสต์ภาพรวมของกิจวัตรที่ลูกจำเป็นต้องทำ เช่น ลูกมีกิจวัตรที่ต้องทำหลังเวลาเลิกเรียน 7 อย่าง คือ ทำการบ้าน ทานข้าว กินขนม อาบน้ำ เล่น ดูโทรทัศน์ และเข้านอน
- ให้ลูกวางแผนด้วยตนเองว่าลูกอยากทำกิจวัตรอะไรก่อน-หลังตามลำดับ และลูกจะทำกิจวัตรแต่ละอย่างในเวลาใด
- ให้ลูกทำตารางลำดับกิจวัตรที่ต้องทำ โดยลูกวาดรูป ติดสติ้กเกอร์รูปกิจวัตรที่ต้องทำ หรือเขียนคำสั้นๆ ตามที่ลูกชอบ ลงไปในตารางเวลาว่าจะทำอะไรก่อน-หลัง เพื่อให้ลูกรู้สึกสนุกกับการทำตารางกิจวัตรของตนเอง แถมยังเป็นการย้ำเตือนสิ่งที่ลูกต้องทำให้ครบได้แบบที่ลูกไม่ทันรู้สึกตัวเลยค่ะ
- ให้ลูกกาเครื่องหมายถูกหรือติดสติ๊กเกอร์รูปดาวลงในตารางกิจวัตรตามเช็คลิสต์ของตนเอง การทำเช่นนี้จะช่วยให้ลูกสนุก สามารถนำพาตนเองให้ทำกิจวัตรแต่ละอย่างไปจนครบได้ตามแผนงานที่ลูกวางไว้ได้อย่างราบรื่น และทำสำเร็จได้ในบรรยากาศที่ดีค่ะ
ด่านที่ 2: ช่วยฝึกลูกทำสิ่งต่าง ๆ ตามแผนที่ลูกวางไว้
การช่วยลูกนี้ คุณแม่คุณพ่อควรช่วยแบบเนียน ๆ เช่น
- เป็นเพื่อนคู่คิด คอยอยู่ข้าง ๆ ช่วยปรับแต่ง ให้คำเสนอแนะเพิ่มเติมเรื่องกิจกรรมและเวลาให้สอดคล้องและเหมาะสมกับช่วงเวลาให้มากขึ้น
- ให้กำลังใจลูกในขณะที่ลูกฝึกทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง
- เฝ้าจับตาดูลูกอยู่ห่าง ๆ โดยเฉพาะในระยะแรก ๆ อาจช่วยเตือนลูก ก่อนถึงเวลาที่ลูกต้องทำกิจวัตรแต่ละอย่างค่ะ หรือเข้าแทรกช่วยจับนำให้ทำ สาธิตการทำ เพื่อลูกทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเองได้ต่อไป
งานรับมือลูกวัยต่อต้านตามแบบของศูนย์กระตุ้นพัฒนาการ “บ้านอุ่นรัก” เป็นงานที่ต้องอาศัยความเชื่อใจลูก และอดใจรอให้ลูกได้ทำตามกิจวัตรที่ตนเองจัดลำดับไว้จนกว่าลูกจะทำทุกอย่างได้เองจนสำเร็จค่ะ
วิธีของ “บ้านอุ่นรัก” เน้นการให้โอกาสลูกได้มีส่วนร่วมกำหนดและคุมตนเองตามธรรมชาติที่ลูกวัยนี้ต้องการ
วิธีของเรา เน้นการทำใจยอมรับว่าในระยะแรก ๆ ลูกอาจยังทำไม่สำเร็จ ลูกอาจสั่งใจตนเองให้ต้องหยุดทำกิจวัตรที่ตนเองชอบเพื่อหันไปทำกิจวัตรที่ไม่ชอบไม่ได้ หรือลูกอาจทำกิจวัตรต่าง ๆ ตามลำดับไม่ได้ทั้งหมด
วิธีของเรา เน้นการยิ้มรับและความเข้าใจลูกที่คุณแม่คุณพ่อมอบให้กับลูก ยิ้มรับและเข้าใจว่าลูกยังไม่คุ้นเคย แต่แม่และพ่อยอมรับ อดทนและอดใจรอได้ จับตามอง คอยเตือน (ไม่ใช่คอยสั่ง) และให้กำลังใจลูกให้หมั่นทำ
“บ้านอุ่นรัก” เชื่อมั่นว่าเมื่อคุณแม่คุณพ่อขยันรับมือลูกวัยต่อต้านด้วยวิธีนี้ ในไม่นานคุณแม่คุณพ่อจะเห็นผลว่าลูกนำพาตนเองได้ดีขึ้น ลูกดูแลตนเองได้ และลูกรู้จักวางแผนชีวิตประจำวันของตนเองได้ดี ซึ่งสิ่งต่าง ๆ ที่ว่านี้จะติดตัวเป็นนิสัยของลูกไปจนโต และทำให้ลูกรู้จักรับผิดชอบตนเองได้เป็นอย่างดีค่ะ
คุณแม่คุณพ่อเชื่อใจลูก ไม่ต้องมากวดขันมากนัก แค่ให้โอกาส จับตาดูอยู่ห่าง ๆ คอยช่วยเตือน และหมั่นให้กำลังใจลูกว่าลูกทำได้ นี่คือวิธีรับมือลูกวัยต่อต้านเพื่อให้ลูกร่วมมือทำกิจวัตรต่าง ๆ ประจำวันให้สำเร็จได้ (โดยไม่ต้องใช้คำสั่งกำกับ) ตามแบบของเราค่ะ
“เริ่มต้น…ลองทำ…กันในวันนี้เลยนะคะ”