ตอน: แนวทางที่ 6 ถึง 10 ที่คุณแม่ใช้…

6: สื่อสารกับคนในบ้านให้เข้าใจว่าต้องดูแลลูกยังไงตามแนวทางที่เราต้องการ (จากประสบการณ์ ไม่มีใครทำได้อย่างที่เราต้องการ ต้องยอมรับความจริงว่าทุกคนในบ้านมีข้อจำกัด ทุกคนในบ้านรักลูกเรา และทุกคนทำดีที่สุดในส่วนของตัวเองแล้ว)

7: การแสดงความรักกับลูกมาก ๆ เป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ เมื่อวันที่ลูกพร้อม จากแววตาที่เฉยเมย การสนใจแต่วัตถุ แสงเงา ความเงียบของลูกจะค่อย ๆ เปลี่ยนไป แววตาของลูก การแสดงความรักของลูก ลูกเลียนแบบทุกอย่างที่เราเคยทำกับเค้า

8: คอยสังเกตลูกว่ามีเรื่องอะไรต้องช่วยบ้าง (เปรียบเทียบกับพัฒนาการและความสามารถของเด็กทั่วไปตามวัย) และหาวิธีแก้ไขสิ่งนั้นแบบค่อยเป็นค่อยไปจนลูกค่อย ๆ ชินและสามารถทำได้ด้วยตนเอง เช่น การเหยียบหญ้า กระโดดขาเดียว ติดกระดุม ผูกเชือกรองเท้า ใช้ตะเกียบ ฯลฯ ไม่ว่าลูกจะมีปัญหาเรื่องไหน สิ่งสำคัญที่สุดคือทำให้ลูกรู้ว่าเมื่อมีเราอยู่ข้าง ๆ ลูก คอยให้กำลังใจและพร้อมช่วยลูกเสมอ

9: การทำงานเป็นทีมของครอบครัวสำคัญมาก จากประสบการณ์ตัวเอง แม่ต้องทำหน้าที่คิดว่าจะดูแลลูกอย่างไร นำคำแนะนำที่ได้มาปรับใช้กับลูกอย่างไร ต้องหาหมอที่ไหน ต้องฝึกลูกที่ไหน จัดตารางกิจกรรมลูก หา ร.ร. ให้ลูกยังไง เลือกครูให้ลูกยังไง ต้องจัดการเรื่องที่ ร.ร. เวลามีปัญหายังไง เมื่อแม่วางแผนแล้ว จะขอให้คนในครอบครัวช่วยทำให้ทุกอย่างสำเร็จตามที่ต้องการ

10: หาตัวช่วยจากคุณพ่อคุณแม่ผู้มีประสบการณ์จริงและลูกโตกว่าลูกเรา ศึกษาเพื่อให้รู้สถานการณ์ล่วงหน้าว่าเราจะเจออะไรในอนาคต สิ่งที่เราต้องเตรียมตัวให้ลูกในแต่ละช่วง แต่ละวัย เก็บรายละเอียด และเอามาวางแผนในการพัฒนาลูก

…ในตอนถัดไป เราจะมาพบกับแนวทางที่ 11-15 ของคุณแม่ท่านนี้กันต่อ จากนั้น ค่อยจบท้ายบทความเรื่องนี้กันที่ “สิ่งที่…คุณแม่ท่านนี้…อยากบอกกับทุกบ้าน” ค่ะ โปรดติดตามอ่านไปด้วยกันกับเรานะคะ

เครดิตข้อความ: คุณแม่ท่านหนึ่งของนักเรียนของเรา