1: อ่านข้อมูลเกี่ยวกับโรคนี้เยอะมาก มีข้อมูลบอกว่า สมองของลูกจะพัฒนาสูงสุดตั้งแต่แรกเกิดถึงอายุ 7 ปี แปลว่าเวลาทองของลูกมีถึงแค่ 7 ขวบ เราจึงต้องทำงานแข่งกับเวลาที่เค้าโตขึ้นทุกวัน ๆ จะอยู่เฉย ๆ ปล่อยเวลาแต่ละวันผ่านไปไม่ได้ เพราะเรามีชีวิตลูกเป็นเดิมพัน หลายครั้งที่เหนื่อย ท้อ แต่เมื่อคิดว่าในวันที่เราไม่อยู่แล้วลูกจะเป็นอย่างไร จะช่วยเหลือตัวเองได้มั๊ย จะอยู่ในสังคมได้มั๊ย สิ่งนี้เป็นแรงผลักดันให้ยอมแพ้ไม่ได้ ต้องทำทุกอย่างเพื่อพัฒนาเค้าให้ได้มากที่สุด
2: หาหมอพัฒนาการเด็ก (เพื่อความมั่นใจ ต้องปรึกษาหมอพร้อมกัน 2-3 คน) แต่การหาหมอพัฒนาการหลายคน ทำให้เหนื่อยและเครียด รวมถึงตัวเองไม่สามารถทำได้ทั้งหมดตามที่หมอแนะนำ สุดท้ายตัดสินใจเลือกหมอเหลือคนเดียว ผลที่ได้คือ ทั้งบ้านเหนื่อยน้อยลง สามารถ Focus กับสิ่งที่หมอแนะนำได้ง่ายขึ้น ปัจจุบัน ยังคงพบหมอพัฒนาการอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เรารู้ว่าจะฝึกลูกเตรียมตัวรับมือกับเหตุการณ์ในอนาคตอย่างไร
3: พาลูกตระเวนฝึกปรับพฤติกรรมทุกวัน โดยมีบ้านอุ่นรักเป็นหลัก และตาม ร.พ. ต่าง ๆ ทั้งใกล้และไกลบ้าน พยายามเรียนรู้หลักการฝึกทั้งฝึกพฤติกรรมและฝึกพูด แล้วนำมาปรับใช้กับกิจกรรมที่อยู่กับลูกในชีวิตประจำวัน การฝึกตามทฤษฎีอาจจะไม่ใช่ทางสำหรับบ้านเรา เพราะทำให้เรายึดติดและคาดหวังกับลูกมากเกินไป เกิดภาวะเครียดในบ้าน สุดท้ายเราใช้ใจตัวเองเป็นหลักในการอยู่กับลูก ไม่ได้สนใจว่าเป็นวิธีอะไร แต่ใช้ความรู้ที่ได้มาปรับใช้ให้เหมาะกับสถานการณ์แต่ละอย่าง ผลที่ได้คือ เราอยู่กับลูก เล่นกับลูกได้อย่างมีความสุข ยอมรับในสิ่งที่ลูกเป็น (ยอมรับ แต่ไม่ปล่อยผ่าน เก็บไว้ในใจว่ามีอะไรต้องแก้ไข เมื่อมีโอกาส จะนำไปปรึกษาบ้านอุ่นรักหรือหมอว่าจะต้องแก้ไขอย่างไร) ฝึกให้ลูกช่วยเหลือตัวเอง ฝึกแก้ไขปัญหา
4: ตอนลูกยังเล็ก เราไม่เคยปล่อยให้ลูกอยู่คนเดียว ต้องมีคนในบ้านอยู่เล่นกับลูกเสมอ (แปลว่าลูกได้รับการดึงออกจากโลกของตัวเองตลอดเวลา) จะต้องมีคนอ่านหนังสือ เล่นของเล่นกับลูก โดยงดเปิดทีวี/เล่นมือถือ จนเมื่อลูกโตพอรู้เรื่องแล้ว การดูทีวีและเล่นเกมส์จะให้เป็นเวลา (ปัจจุบันลูกสามารถมีเวลาของตัวเอง ดูทีวี และเล่นเกมส์ได้เหมือนเด็กทั่วไป)
5: ทำตัวให้พูดมากเวลาอยู่กับลูก คอยอธิบายสิ่งรอบตัวลูก เพิ่มคำศัพท์ให้ลูก
… คุณแม่ท่านนี้ยังมีแนวทางที่ 6-15 ในการช่วยพัฒนาลูกมาบอกกันต่อในลำดับถัด ๆ ไป โปรดติดตามอ่านกันให้ได้นะคะ…
เครดิตข้อความ: คุณแม่ท่านหนึ่งของนักเรียนของเรา