“คุณแม่ท่านหนึ่ง” ได้เขียนบทความ เรื่อง “เส้นทางที่ไม่เคยเดิน” นี้ และอนุญาตให้ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการ “บ้านอุ่นรัก” นำมาเผยแพร่ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวที่เธอ ลูก และครอบครัว ได้ร่วมกันเดิน จนผ่านพ้นเส้นทางที่ขรุขระและเต็มไปด้วยขวากหนามมาได้ด้วยดี
ทั้งคุณแม่ท่านนี้และบ้านอุ่นรักขอส่งกำลังใจมายังทุก ๆ ครอบครัว และเราปรารถนาเป็นอย่างยิ่งว่า ในที่สุดแล้ว ทุก ๆ ครอบครัว จะพบวิธีก้าวเดินที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตของตนเอง และสามารถเดินไปกับลูก จนถึงจุดหมายปลายทางที่ดีได้สมดังใจหวังค่ะ
“เส้นทางที่ไม่เคยเดิน” ตอนที่ 8: เส้นทางเสริม...
…สิ่งที่เราเล่ามาทั้งหมดเป็นแนวทางหลักที่เราใช้ในการช่วยลูกให้ดีขึ้น แต่เราเชื่อว่าการรักษาลูกไม่มีเส้นทางเดียว ถ้าทำทุกอย่างที่ทำได้ ลูกน่าจะดีขึ้นบ้างไม่มากก็น้อย เราศึกษาแนวคิด แนวทางรักษาอื่นๆ และสุดท้ายเราเลือกสิ่งที่คิดว่าจะทำลูกให้ดีขึ้นโดยไม่เป็นอันตราย เช่น เลี่ยงอาหารที่ส่งผลต่ออาการของลูกให้มากที่สุด จนกว่าจะแน่ใจว่าไม่มีผลกระทบ (ปัจจุบันลูกทานอาหารได้ทุกอย่างแล้ว) การทานวิตามินเสริม, การรักษาด้วยวิธีต่าง ๆ ซึ่งเราเองก็ตอบไม่ได้ว่าลูกดีขึ้นด้วยสิ่งเหล่านี้หรือไม่ เรารู้แค่ว่า เราทำทุกอย่างเท่าที่เราจะทำได้แล้วและลูกก็ดีขึ้นอย่างน่าชื่นใจจริง ๆ
นอกจากการปรึกษาหมอและผู้เชี่ยวชาญ เรายังหาตัวช่วยจากคุณพ่อคุณแม่ผู้มีประสบการณ์จริงและลูกโตกว่าลูกเรา พูดคุยสอบถาม เก็บรายละเอียด เพื่อให้รู้สถานการณ์ล่วงหน้าว่า เมื่อลูกโตขึ้นในแต่ละวัย เราอาจจะเจอปัญหาอะไรในอนาคต อะไรคือสิ่งที่เราต้องเตรียมตัวให้ลูกในแต่ละช่วง แต่ละวัย หลังจากนั้น เราจะเก็บประเด็นสำคัญเอามาวางแผนในการพัฒนาลูก รวมถึงการอ่านหนังสือที่เขียนโดยคนที่เป็นแบบลูก การอ่านข้อมูลในเวปจากคนที่เป็นเหมือนลูกแต่สามารถสื่อสารได้แล้วว่าทำไมตอนเด็กถึงมีพฤติกรรมแปลก ๆ เพื่อให้เราเข้าใจเวลาลูกทำพฤติกรรมแปลก ๆ และจะถามลูกเสมอว่าอะไรคือเหตุผลที่เค้าทำ เพื่อที่จะได้แก้ปัญหาได้ตรงจุด
เราพยายามหากีฬาให้ลูกได้เล่น เพราะจากข้อมูลที่เราอ่านบอกว่ากีฬาโดยเฉพาะว่ายน้ำจะทำให้ลูกดีขึ้น สำหรับบ้านเรา ลูกคนเล็กเรียนว่ายน้ำอาทิตย์ละ 3-4 วันเป็นเวลา 3 ปี ก็ยังว่ายไม่ได้ ในช่วงแรกก็ท้อเหมือนกัน แต่เมื่อปรึกษาหมอ และหมอบอกว่า ยังไงก็ต้องให้ลูกเล่นกีฬาอะไรบางอย่าง เราก็เลยลองหากีฬาให้ลูกลองเรียนไปเรื่อย ๆ เช่น เตะบอล เทนนิส ซึ่งลูกคนเล็กก็ยังทำไม่ได้อยู่ดี สุดท้าย เรื่องกีฬาของลูกก็มาลงตัวที่แบดมินตันเมื่อตอนอายุ 8 ปี สิ่งที่เห็นคือ เค้ามีสมาธิจดจ่อกับสิ่งต่างๆ ได้นานขึ้น เค้าสามารถตีกับพี่ชายและเพื่อนได้ และพัฒนาจนสามารถไปแข่งวิ่งผลัดกับเพื่อนในงานกีฬาสีที่โรงเรียนได้
ลูกคนเล็กขอเรียนเปียโนเมื่ออายุประมาณ 7.5 ปี เพราะพี่ชายขอเรียน ในตอนแรกเราไม่มั่นใจเลยว่าจะเรียนได้ แต่คิดว่าน่าจะดีต่อการพัฒนากล้ามเนื้อนิ้วและการสั่งการของสมอง ก็เลยคุยกับคุณครูเปียโนให้เข้าใจว่าลูกมีลักษณะยังไง แต่กลายเป็นว่าเราได้ค้นพบความสามารถพิเศษของลูกด้านดนตรี ลูกกลายเป็นลูกศิษย์คนโปรดของครูเพราะเล่นได้ดี และเปียโนก็ทำให้ลูกมีสมาธิมากขึ้น ลูกมีโอกาสได้แสดงออกโดยการเล่นคอนเสิร์ตของโรงเรียน ซึ่งถือว่าเป็นการเพิ่มประสบการณ์ทางสังคมที่ดีมาก เพราะทำให้ลูกรู้จักควบคุมตัวเองได้มากขึ้น…
เครดิตภาพ: Annie Spratt | Unsplash