คุณแม่ท่านหนึ่ง” ได้เขียนบทความ เรื่อง “เส้นทางที่ไม่เคยเดิน” นี้ และอนุญาตให้ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการ “บ้านอุ่นรัก” นำมาเผยแพร่ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวที่เธอ ลูก และครอบครัว ได้ร่วมกันเดิน จนผ่านพ้นเส้นทางที่ขรุขระและเต็มไปด้วยขวากหนามมาได้ด้วยดี

ทั้งคุณแม่ท่านนี้และบ้านอุ่นรักขอส่งกำลังใจมายังทุก ๆ ครอบครัว และเราปรารถนาเป็นอย่างยิ่งว่า ในที่สุดแล้ว ทุก ๆ ครอบครัว จะพบวิธีก้าวเดินที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตของตนเอง และสามารถเดินไปกับลูก จนถึงจุดหมายปลายทางที่ดีได้สมดังใจหวังค่ะ

เส้นทางที่ไม่เคยเดิน” ตอนที่ 7: โรงเรียนของลูก...

…เราหาข้อมูลโรงเรียนที่คิดว่าจะดูแลลูกได้ เข้าไปดูสถานที่จริง 4-5 โรงเรียน พูดคุยกับคุณครู สังเกตการดูแลนักเรียน โดยขอคำปรึกษาจากบ้านอุ่นรักและคุณหมอประกอบการตัดสินใจ ซึ่งโรงเรียนก็มีส่วนสำคัญในการช่วยลูกจริง ๆ โรงเรียนที่ลูกเราอยู่ไม่ได้เน้นวิชาการเกินไป เน้นการแสดงออก การคิด การทำงานเป็นกลุ่ม ทำให้ทักษะทางสังคมลูกพัฒนาขึ้นอย่างมาก

ตอนลูกเข้าโรงเรียนในช่วงแรก ลูกยังไม่สามารถไปโรงเรียนได้เต็ม 5 วันเหมือนเด็กคนอื่น เพราะยังต้องได้รับการฝึกพัฒนาการอยู่ และต้องมีครูประกบช่วยที่โรงเรียน การหาโรงเรียนจึงต้องคำนึงถึงความสะดวกในการเดินทางของครูประกบด้วย ในช่วงแรกเราเลือกโรงเรียนที่คุณครูจากบ้านอุ่นรักสามารถไปดูแลลูกเราได้ แต่หลังจากนั้น เราย้ายโรงเรียนมาเป็นโรงเรียนที่มีถึงมัธยมปลายแทนตามคำแนะนำของคุณหมอและบ้านอุ่นรัก เพื่อให้ลูกไม่ต้องปรับตัวมากเกินไปในช่วงวัยรุ่น

การผูกใจกับคุณครูประจำชั้นของลูกเป็นเรื่องสำคัญ เราจะสืบล่วงหน้าเสมอว่าชั้นปีต่อไปมีครูท่านไหนสอนบ้าง เราจะเลือกครูคนไหนเป็นครูของลูกเรา และเราจะหาวิธีให้ลูกได้อยู่กับครูคนที่เราเลือกให้ได้ จนปัจจุบัน เรายังคุยกับคุณครูประจำชั้นของลูกทุกปีว่าปัญหาลูกคืออะไร อยากให้คุณครูช่วยอะไร และที่บ้านพร้อมจะช่วยทางโรงเรียนอย่างไร (ซึ่งปัญหาในแต่ละปี จะเริ่มน้อยลงตามชั้นปีที่ลูกโตขึ้น)

ตั้งแต่ลูกยังเล็ก เราจะแอบสังเกตกลุ่มผู้ปกครองที่โรงเรียนว่ามีบ้านไหนที่ดูใจกว้างบ้าง (เราไม่เคยบอกผู้ปกครองท่านอื่นว่าลูกเป็นอะไร เพราะเคยมีประสบการณ์ลูกโดนรังเกียจจากโรงเรียนเก่ามาแล้ว) และถ้ามีโอกาส เราจะบอกผู้ปกครองเหล่านั้นอ้อมๆ ว่า ถ้าลูกเราทำอะไรผิด หรือแกล้งเพื่อน ช่วยบอกเราด้วย เพราะลูกเราเล่นไม่ค่อยเป็น ชอบอยู่คนเดียว (โชคดีที่ลูกเราเรียนเก่งแบบโดดเด่นมาก เพื่อนมักจองตัวทำงานกลุ่ม และเอาเล่าความเก่งของลูกเราให้พ่อแม่ฟัง ทำให้เหมือนได้รับการยอมรับด้านวิชาการจากผู้ปกครอง)  รวมถึงแอบสืบจากเพื่อนในห้องว่าลูกมีพฤติกรรมอย่างไร แล้วเอาสิ่งนั้นมาสอนลูก ณ ตอนนี้ เรารู้สึกได้ว่าพ่อแม่ของเพื่อนลูกก็มองลูกเราปกติธรรมดาเหมือนเด็กทั่วไป…

เครดิตภาพ: Annie Spratt | Unsplash