คุณแม่ท่านหนึ่ง” ได้เขียนบทความ เรื่อง “เส้นทางที่ไม่เคยเดิน” นี้ และอนุญาตให้ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการ “บ้านอุ่นรัก” นำมาเผยแพร่ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวที่เธอ ลูก และครอบครัว ได้ร่วมกันเดิน จนผ่านพ้นเส้นทางที่ขรุขระและเต็มไปด้วยขวากหนามมาได้ด้วยดี

ทั้งคุณแม่ท่านนี้และบ้านอุ่นรักขอส่งกำลังใจมายังทุก ๆ ครอบครัว และเราปรารถนาเป็นอย่างยิ่งว่า ในที่สุดแล้ว ทุก ๆ ครอบครัว จะพบวิธีก้าวเดินที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตของตนเอง และสามารถเดินไปกับลูก จนถึงจุดหมายปลายทางที่ดีได้สมดังใจหวังค่ะ

เส้นทางที่ไม่เคยเดิน” ตอนที่ 2: เมื่อลูกได้รับคำวินิจฉัย…        

…ลูกเราได้รับคำวินิจฉัยจากหมอพัฒนาการเด็กเมื่อตอนอายุ 1 ปี 7 เดือน ณ ตอนนั้น มันเป็นเรื่องที่ไกลตัวเรามากจริง ๆ วันที่พบหมอวันแรก เรากลับบ้านมาแบบงง ๆ ไม่รู้ว่าลูกเราเป็นอะไร หลังจากนั้นเราก็เริ่มต้นหาข้อมูลในเวป อ่านทั้งบทความทางวิชาการ อ่านทั้งเรื่องที่คนมาแชร์ประสบการณ์เกี่ยวกับโรคนี้ เริ่มหาหนังสืออ่าน ช่วงนั้นเราอ่านข้อมูลเยอะมาก พยายามคิดเข้าข้างตัวเองว่าหมออาจวินิจฉัยผิดเพราะลูกเรายังเล็ก เช่น เค้าอาจจะแค่ไม่พูด (เพราะเด็กบางคนก็พูดช้า) เค้าอาจจะแค่วิ่งซน อยู่ไม่นิ่ง  (เพราะเด็กซนๆ ก็มี เด็กแต่ละคนธรรมชาติไม่เหมือนกัน) หรือลูกอาจจะเป็นแค่ชั่วคราวก็ได้เพราะช่วงนั้นที่บ้านเปิดทีวีลูกคนโตให้ดู แต่ถึงจะคิดเข้าข้างตัวเองแค่ไหน มันก็มีอีกความคิดนึงผุดขึ้นมาเป็นระยะว่า แล้วถ้าลูกเป็นจริงๆ ล่ะ ช่วงนั้นเป็นช่วงที่สับสน และร้องไห้หนักมาก ถามตัวเองทุกวัน ทำไมเรื่องนี้ต้องเกิดกับเรา รู้สึกอยู่ในฝันร้ายมากกว่าเรื่องจริง

เนื่องจากเราอ่านข้อมูลเยอะ มันทำให้เรารู้ว่าสิ่งที่หมอบอกว่าลูกเป็นนั้นมีหลายระดับ แต่เราคาดเดาไม่ได้เลยว่าลูกอยู่ในระดับอะไร เพราะด้วยอายุที่ยังไม่ถึง 2 ปี ช่วงนั้นเราค่อนข้างมองสถานการณ์ในเชิงลบว่าถ้าเราอยู่เฉยๆ คิดว่าลูกคงไม่เป็นอะไร เราไม่สู้ ไม่พยายาม ปล่อยลูกไปตามเวรกรรม แล้วลูกเราโตขึ้นจะเป็นอะไรที่แย่ที่สุดได้บ้าง เช่น ลูกอาจจะมีอาการเพิ่มมากขึ้นเมื่ออายุเพิ่มขึ้น ลูกอาจจะพูดไม่ได้ไปตลอดชีวิต ลูกอาจจะช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เลย แล้วลูกจะอยู่ในสังคมแบบไหน อยู่แบบไม่มีเพื่อน หรืออยู่แบบโดนสังคมรังเกียจตามที่เราเห็นในข่าว

สุดท้าย เราก็ได้ข้อสรุปกับตัวเองว่าไม่สำคัญว่าลูกเราจะเป็นหรือไม่เป็นอย่างที่หมอวินิจฉัย ถ้าเรามัวแต่คิดเข้าข้างตัวเองว่าลูกไม่เป็นอะไร โตแล้วก็หาย ไม่ต้องทำอะไร ถึงวันที่ลูกเราโตแล้ว ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ อยู่ในสังคมไม่ได้ เราจะทำยังไง เราจะเสียใจทีหลังกับเวลาที่ทิ้งไปหรือไม่ เราจึงตัดสินใจว่าต้องลองทำไปก่อนจนกว่าจะแน่ใจว่าลูกไม่ได้เป็นอะไร และเนื่องจากข้อมูลที่เราอ่าน เราได้รับรู้ว่า สมองของลูกจะพัฒนาสูงสุดตั้งแต่แรกเกิดถึงอายุ 7 ปี แปลว่าเวลาทองของลูกมีถึงแค่ 7 ปี (ตอนนั้นลูกอายุ 2 ปีกว่าแล้ว) นั่นหมายถึงว่าเราต้องทำงานแข่งกับเวลาที่เค้าโตขึ้นทุกวันๆ จะอยู่เฉยๆ ปล่อยเวลาแต่ละวันผ่านไปไม่ได้ เพราะเรามีชีวิตลูกเป็นเดิมพัน หลายครั้งที่เหนื่อย ท้อ แต่เมื่อคิดว่าในวันที่เราไม่อยู่แล้ว ลูกจะเป็นอย่างไร จะช่วยเหลือตัวเองได้มั้ย จะอยู่ในสังคมได้มั้ย สิ่งนี้เป็นแรงผลักดันให้ยอมแพ้ไม่ได้ เราต้องทำทุกอย่างเพื่อพัฒนาเค้าให้ได้มากที่สุด…

เครดิตภาพ: Annie Spratt | Unsplash