“คุณแม่ท่านหนึ่ง” ได้เขียนบทความ เรื่อง “เส้นทางที่ไม่เคยเดิน” นี้ และอนุญาตให้ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการ “บ้านอุ่นรัก” นำมาเผยแพร่ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวที่เธอ ลูก และครอบครัว ได้ร่วมกันเดิน จนผ่านพ้นเส้นทางที่ขรุขระและเต็มไปด้วยขวากหนามมาได้ด้วยดี
ทั้งคุณแม่ท่านนี้และบ้านอุ่นรักขอส่งกำลังใจมายังทุก ๆ ครอบครัว และเราปรารถนาเป็นอย่างยิ่งว่า ในที่สุดแล้ว ทุก ๆ ครอบครัว จะพบวิธีก้าวเดินที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตของตนเอง และสามารถเดินไปกับลูก จนถึงจุดหมายปลายทางที่ดีได้สมดังใจหวังค่ะ
“เส้นทางที่ไม่เคยเดิน” ตอนที่ 4: อยู่กับลูกแบบใจเต็ม 100..
…ตั้งแต่ได้รับการวินิจฉัยจากหมอ เราไม่เคยปล่อยให้ลูกอยู่คนเดียวเลย ที่บ้านจะต้องมีคนในบ้านอยู่เล่นกับลูกเสมอ (แปลว่าลูกได้รับการดึงออกจากโลกของตัวเองตลอดเวลา) จะต้องมีพ่อ แม่ หรือพี่เลี้ยงเป็นคนอ่านหนังสือ เล่นของเล่นกับลูก โดยงดเปิดทีวี/ เล่นมือถือ จนเมื่อลูกโตพอรู้เรื่องแล้ว การดูทีวีและเล่นเกมจะให้เป็นเวลา (ปัจจุบันลูกสามารถมีเวลาของตัวเอง ดูทีวีและเล่นเกมได้เหมือนเด็กทั่วไป) และทุกที่ที่พาลูกไปฝึก เราและพี่เลี้ยงจะพยายามเรียนรู้หลักการฝึกทั้งฝึกพฤติกรรมและฝึกพูด แล้วนำมาปรับใช้กับกิจกรรมที่อยู่กับลูกในชีวิตประจำวัน การฝึกตามทฤษฎีอาจจะไม่ใช่ทางสำหรับบ้านเรา เพราะทำให้เรายึดติดและคาดหวังกับลูกมากเกินไป เกิดภาวะเครียดในบ้าน สุดท้ายเราใช้ใจตัวเองเป็นหลักในการอยู่กับลูก ไม่ได้สนใจว่าเป็นวิธีอะไร แต่ใช้ความรู้ที่ได้มาปรับใช้ให้เหมาะกับสถานการณ์แต่ละอย่าง ผลที่ได้คือ เราอยู่กับลูก เล่นกับลูกได้อย่างมีความสุข ยอมรับในสิ่งที่ลูกเป็น (ยอมรับ แต่ไม่ปล่อยผ่าน เก็บไว้ในใจว่ามีอะไรต้องแก้ไข เมื่อมีโอกาส จะนำไปปรึกษาบ้านอุ่นรัก หรือหมอว่าจะต้องแก้อย่างไร)
เราพยายามที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับลูกเกือบจะตลอดเวลาที่อยู่ด้วยกัน ทั้งในบ้าน ในรถ นอกบ้าน โดยเน้นการอ่านหนังสือ การเล่นเกมเป็นครอบครัว ให้คุณพ่อ พี่เลี้ยง และลูกคนโตของเรามีส่วนร่วมเสมอ หลักในการเล่นของเราคือ เน้นดึงลูกออกจากโลกของตัวเอง สังเกตว่าลูกมีพฤติกรรมอะไรที่แปลกไปจากเด็กทั่วไป แล้วพยายามเปลี่ยนสิ่งนั้นให้ออกมาเป็นเกมครอบครัว เช่น ลูกเดินเขย่ง ไม่ยอมเหยียบหญ้า เราก็ใช้วิธีปูเสื่อกลางสนามหญ้า โยนของเล่นที่ลูกชอบออกไปนอกเสื่อให้ลูกพยายามออกไปเอา จนในที่สุดลูกก็สามารถเหยียบหญ้าได้โดยไม่เขย่งเท้า ที่บ้านจะมีหนังสือพัฒนาการตามวัยเพื่อเปรียบเทียบพัฒนาการของลูกกับเด็กปกติ ถ้าอายุของลูกถึงวัยที่จะต้องกระโดด 2 ขาได้ แต่ลูกยังทำไม่ได้ ก็จะมีเกมแข่งกระโดด 2 ขาระหว่างพี่ชายกับน้อง เป็นต้น ถ้าช่วงไหนเหนื่อย เล่นกับลูกไม่ไหว เราก็จะนั่งข้างลูก เปลี่ยนเป็นกอดเค้า หอมเค้า ลูบตัวเค้า เปิดหนังสือชี้สิ่งที่อยู่ในหนังสือเพื่อเพิ่มคำศัพท์ให้ลูกไปเรื่อย ๆ แทน
การเล่นเกมในรถในช่วงที่ลูกยังพูดไม่ได้ จะเน้นสัมผัสตัว จั๊กจี้ให้เค้าขำ เอาวัตถุต่าง ๆ มาสัมผัสตัวเพิ่มประสาทสัมผัส เมื่อลูกเริ่มพอพูดได้ ก็เล่นเกมโดยดึงสิ่งที่ลูกคนเล็กสนใจมาเป็นหลัก เช่น เกมคิดคำที่ตั้งต้นด้วยอักษร ก-ฮ หรือ A-B หรือเกมต่อคำง่าย ๆ เกมนับเลข คือเล่นอะไรก็ได้ที่จะดึงคนทุกคนในรถมาเล่นด้วยกัน เพิ่มความสนุกและเสียงหัวเราะ
เราเล่าแบบนี้ดูเหมือนเป็นสิ่งที่ง่ายดาย แต่จริง ๆ ทุกบ้านก็คงเข้าใจอยู่แล้วว่าชีวิตไม่ได้ง่ายขนาดนั้น เพราะกว่าเราจะผ่านจุดเหล่านี้มาได้ก็ใช้เวลาเยอะพอสมควร การเล่นตอนแรก ๆ จะมีแต่ความเครียด ความเหนื่อยและท้อ มีความกดดัน ไม่สนุก แต่จากประสบการณ์ อยากแนะนำว่าอย่าคาดหวังใด ๆ วันนึง เมื่อลูกพร้อม ลูกจะเอาข้อมูลที่เราป้อนให้เค้าในช่วงเวลาหลายปีออกมาใช้เอง ลูกจะเริ่มเล่น สานความสัมพันธ์กับเราได้ทีละนิดอย่างค่อยเป็นค่อยไป
สิ่งที่เรายึดหลักในการมีปฏิสัมพันธ์เล่นกับลูกคือ การปล่อยให้ลูกเล่นแบบอิสระภายใต้กรอบวินัยที่เราวางไว้ หมายถึงว่า เราต้องเอาลูกให้อยู่ เราไม่ตามใจลูกเสมอไป ลูกจะต้องเชื่อเราเมื่อเราห้าม (เน้นเฉพาะสิ่งที่เป็นอันตรายและรบกวนคนอื่น) แต่เราพยายามปล่อยให้ลูกได้คิด ให้ลูกหัดแก้ปัญหาด้วยตัวเอง จนกว่าจะแก้ไม่ได้ เราถึงจะเริ่มจากการค่อย ๆ ชี้นำ การให้ทางเลือก การถามให้ตอบ หรือสุดท้ายคือการเฉลยคำตอบ
นอกจากการดึงลูกออกจากโลกของลูก การปรับพฤติกรรมของลูกที่แปลกและแตกต่างแล้ว เราจะคอยสังเกตลูกว่ามีเรื่องอะไรต้องช่วยบ้าง ฝึกให้ลูกพยายามช่วยเหลือตัวเอง ฝึกให้คิดแก้ไขปัญหา (เปรียบเทียบกับพัฒนาการและความสามารถของเด็กทั่วไปตามวัย) และหาวิธีแก้ไขสิ่งนั้นแบบค่อยเป็นค่อยไปจนลูกค่อย ๆ ชินและสามารถทำได้ด้วยตนเอง เช่น การแปรงฟัน อาบน้ำ การติดกระดุม ผูกเชือกรองเท้า ใช้ช้อนส้อม ใช้ตะเกียบ ฯลฯ แต่ละอย่างกว่าลูกจะทำได้ก็ใช้เวลาหลายเดือน หรืออาจจะเรียกว่าเป็นปี แต่ไม่ว่าลูกจะมีปัญหาเรื่องไหน สิ่งสำคัญที่สุดคือทำให้ลูกรู้ว่าไม่เป็นไรที่ลูกทำไม่ได้ ลูกมีเราอยู่ข้าง ๆ คอยให้กำลังใจและพร้อมช่วยลูกเสมอ…
เครดิตภาพ: Annie Spratt | Unsplash