“คุณแม่ท่านหนึ่ง” ได้เขียนบทความ เรื่อง “เส้นทางที่ไม่เคยเดิน” นี้ และอนุญาตให้ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการ “บ้านอุ่นรัก” นำมาเผยแพร่ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวที่เธอ ลูก และครอบครัว ได้ร่วมกันเดิน จนผ่านพ้นเส้นทางที่ขรุขระและเต็มไปด้วยขวากหนามมาได้ด้วยดี
ทั้งคุณแม่ท่านนี้และบ้านอุ่นรักขอส่งกำลังใจมายังทุก ๆ ครอบครัว และเราปรารถนาเป็นอย่างยิ่งว่า ในที่สุดแล้ว ทุก ๆ ครอบครัว จะพบวิธีก้าวเดินที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตของตนเอง และสามารถเดินไปกับลูก จนถึงจุดหมายปลายทางที่ดีได้สมดังใจหวังค่ะ
“เส้นทางที่ไม่เคยเดิน” ตอนที่ 3: เริ่มต้นเดิน..
…ในช่วงแรก เราหาหมอพัฒนาการเด็กพร้อมกัน 2-3 คน เพราะเราก็ไม่มั่นใจว่าหมอคนไหนดีที่สุด แต่การหาหมอพัฒนาการหลายคน ทำให้เราเหนื่อยและเครียดจากการเดินทาง การนั่งรอคิวนาน ๆ และคำแนะนำจากหลายมุมมองซึ่งเราไม่สามารถทำได้ทั้งหมดตามที่หมอแนะนำ สุดท้ายตัดสินใจเลือกหาหมอคนเดียวที่เราชอบวิธีการรักษามากที่สุด ผลที่ได้คือ ทั้งบ้านเหนื่อยน้อยลง สามารถตั้งใจทำสิ่งที่หมอแนะนำได้ง่ายขึ้น (ปัจจุบัน เรายังพาลูกไปพบหมอพัฒนาการอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เรารู้ว่าจะฝึกลูกเตรียมตัวรับมือกับเหตุการณ์ในอนาคตอย่างไร)
นอกจากการพบหมอแล้ว เราคิดว่าต้องให้ลูกได้รับการฝึกปรับพฤติกรรม และมีกิจกรรมทุกวัน เพื่อไม่ให้ลูกมีเวลาว่างอยู่กับตัวเองมากนัก ดังนั้น ชีวิตลูกตั้งแต่อายุ 2 ปีไม่เคยได้หยุดพักเลยซักวันเดียว (ปัจจุบัน ลูกมีชีวิตทำกิจกรรมเหมือนเด็กปกติแล้ว) ในวันจันทร์ – ศุกร์ ลูกจะถูกอุ้มจากที่นอนตั้งแต่ 6.30 น. นอนหลับในรถโดยมีคุณตาและพี่เลี้ยงพาไปบ้านอุ่นรัก ระยะทางจากบ้านไปบ้านอุ่นรักค่อนข้างไกลเมื่อไปถึงก็เกือบถึงเวลาเข้าเรียน ลูกใช้เวลาหน้าบ้านอุ่นรักในการแปรงฟัน เช็ดตัว เปลี่ยนชุด ทานข้าวเช้า และเข้าเรียน พอถึงช่วงบ่ายคุณตาและพี่เลี้ยงก็จะมารับไปเรียนว่ายน้ำต่ออาทิตย์ละ 3-4 วัน
ในวันเสาร์-อาทิตย์ เราจะพาลูกทั้ง 2 คนออกจากบ้านตั้งแต่เช้า เพื่อพาลูกคนเล็กไปฝึกพัฒนาการ ฝึกพูดตาม รพ. และศูนย์ฝึกต่าง ๆ ทั้งใกล้และไกลบ้าน เมื่อฝึกเสร็จแล้วก็จะเป็นกิจกรรมครอบครัวพาลูกไปสถานที่ต่าง ๆ เพื่อให้ลูกได้ประสบการณ์ รู้จักสิ่งต่าง ๆ มากขึ้น โดยเราจะพยายามทำตัวให้พูดมากเวลาอยู่กับลูก คอยอธิบายสิ่งรอบตัวลูก เพื่อเพิ่มคำศัพท์ให้ลูก ทั้งระหว่างที่อยู่ในรถ และอยู่ในสถานที่ต่าง ๆ รวมถึงให้ลูกทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่คิดว่าเค้าสามารถเริ่มทำได้ โดยทำร่วมกับพี่ชายของเค้า และทุกสถานที่ที่ลูกคนเล็กไปฝึก เราจะพยายามหากิจกรรมให้ลูกคนโตบริเวณใกล้ๆ เสมอ เพราะเรายึดหลักว่าลูกคนโตต้องได้รับความใส่ใจ และความสำคัญไม่ต่างจากลูกคนเล็ก
เราเชื่อว่าการพาลูกไปในสถานที่ต่าง ๆ ตั้งแต่เล็ก ๆ มีประโยชน์อย่างมาก เพราะมันทำให้เค้าคุ้นชินกับสิ่งที่เค้ากลัว สามารถเชื่อมโยงสิ่งต่าง ๆ ที่เค้าสัมผัสจริงกับสิ่งที่เราคุยกับเค้าบ่อย ๆ ได้เวลาอยู่บ้าน หรืออ่านหนังสือด้วยกัน นอกจากนี้ เรายังสามารถสังเกตว่าลูกมีพฤติกรรมที่ต้องตักเตือนมั้ยในสถานที่ต่าง ๆ และเราไม่เคยปล่อยพฤติกรรมผิดกาละเทศะนั้นให้ผ่านไป เราจะพยายามอธิบายซ้ำ ๆ หรือหาวิธีให้ลูกเข้าใจให้ได้ ลูกอาจจะไม่ได้เข้าใจได้ในครั้งแรก ๆ แต่เมื่อเราอธิบายซ้ำ ๆ มากพอ เมื่อลูกพร้อม ลูกจะค่อย ๆ เข้าใจมากขึ้น ๆ จนถึงระดับที่ลูกทำตัวได้ถูกกาละเทศะ (งานนี้เราก็ยังเจออยู่จนถึงปัจจุบัน แค่เปลี่ยนเรื่องไปเรื่อย ๆ สำหรับตอนนี้ การสอนลูกเหมือนกับการเลี้ยงลูกโดยปกติทั่วไปมากกว่า ไม่ได้ยากเหมือนสมัยแรก ๆ)
เรื่องหนึ่งที่เราอยากยกเป็นตัวอย่างคือเมื่อตอนลูกอายุ 4 ปี มีเหตุการณ์ที่ทำให้เรามีโอกาสพาลูกทั้ง 2 คนไปสนามโกคาร์ทพร้อมเด็ก ๆ วัยเดียวกับลูกคนเล็กของเรา สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เด็ก ๆ คนอื่นขับรถโกคาร์ทอย่างสนุกสนาน ในขณะที่ลูกคนเล็กของเรากลัวเสียงรถในสนามโกคาร์ท และเนื่องจากลูกยังอยู่ในโลกตัวเอง ไม่ค่อยเข้าใจคำพูดคนอื่น ไม่มีสติพอที่จะควบคุมตัวเอง รวมถึงความระมัดระวังสิ่งต่าง ๆ รอบด้านน้อยมาก เราจึงไม่กล้าให้ลูกขับรถแบบเด็กคนอื่นได้ สิ่งนี้ทำให้เรามองสถานการณ์ในอนาคตว่าลูกจะสามารถขับรถแบบคนอื่นได้อย่างไร และลูกจะทำได้มั้ย เป็นสิ่งที่อาจจะเรียกว่าเกินเอื้อมสำหรับลูกแบบเราจริง ๆ
แต่อยากเล่าให้ฟังว่า จากที่ลูกอยู่ในสนามไม่ได้ กลัวเสียงรถ เราก็ยังหาโอกาสพาลูกทั้ง 2 คนมาสนามนี้ให้ลูกคนโตขับรถเล่น จนถึงวันหนึ่ง ลูกเราเริ่มชินกับเสียงดังได้ (ผลมาจากเราพยายามให้ลูกออกมาเล่นนอกบ้าน พาไปหลายที่ที่มีเสียงดัง เค้าค่อยๆ เริ่มทนเสียงดังได้มากขึ้นๆ เพราะเค้าสนุกจนลืมเสียงเหล่านั้น) และลูกเริ่มอยากขับรถแบบพี่ชายบ้าง ก็เริ่มจากนั่งรถคู่กับพ่อ ต่อมาก็ขับเอง แต่พ่อขับตามคอยกำกับการขับรถ และต่อมาก็ขับเดี่ยว แต่กลายเป็นว่าความระมัดระวังน้อยมาก ไม่มองถนน หันไปโบกมือกับต้นไม้ข้าง ๆ ไม่ฟังเจ้าหน้าที่ ไม่สนใจกติกาสนาม จนเกิดเหตุการณ์ที่ลูกกลัวจนกลายเป็นไม่กล้าขับรถอีก
แต่เราก็ยังอยากให้ลูกขับรถให้ได้อยู่ดี บ้านเรายังคงพาเค้าไปที่สนามโกคาร์ท คอยให้กำลังใจในสิ่งที่เค้ากังวล บอกวิธีขับรถ วิธีหยุด บอกกติกาในสนาม ในที่สุด เค้าก็ลองขับรถอีกครั้ง แบบระมัดระวัง และมีสติกว่าที่เคย จุดนี้ แค่เป็นจุดเริ่มต้นของเค้าในเรื่องของการขับรถ แต่ที่เราอยากเล่าให้ฟังก็เพราะจะบอกว่า แต่ละเรื่องกว่าเค้าจะทำได้ใช้เวลานานกว่าเด็กทั่วไป แค่เราพยายามไปเรื่อย ๆ วันหนึ่งเค้าจะเริ่มทำได้ (ลูกเราติดกระดุมได้เองใช้เวลา 6 เดือน ผูกเชือกรองเท้าเองใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปี)…
เครดิตภาพ: Annie Spratt | Unsplash