วันนี้ ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการ “บ้านอุ่นรัก” อยากชวนพ่อแม่ผู้ปกครองลองหลับตาและคิดภาพลูกวัยอนุบาลตัวน้อยที่กำลังออกจากบ้านเพื่อเข้าสู่วิถีชีวิตใหม่ที่โรงเรียนกันค่ะ

การที่ลูกต้องออกจากบ้านเพื่อไปใช้ชีวิตที่โรงเรียนอย่างน้อยวันละ 6 ชั่วโมง หมายถึง (1) ลูกต้องรู้จักปรับตัวให้เข้ากับวิถีชีวิตใหม่ ผู้คนหน้าใหม่ ๆ ตลอดจนกิจวัตรใหม่ ๆ ที่หลากหลายตามตารางเรียน และ (2) ลูกต้องมีทักษะพื้นฐานตามวัยหลายด้านประกอบกันเพื่อสามารถดูแลตนเอง ตลอดจนเข้าร่วมทำกิจกรรมแบบต่าง ๆ ตามตารางเรียนให้ลุล่วงไปได้

นอกจากลูกเล็ก ๆ ต้องรู้จักปรับตัวและต้องมีทักษะพื้นฐานตามวัยที่มากพอแล้ว ลูกยังต้องมีแรงจูงใจ ความสนใจ ความกระตือรือร้น และมีความกระหายที่จะเข้าไปสำรวจสิ่งใหม่ ๆ ในลักษณะที่อดใจไม่ได้ มีความพยายามที่จะเข้าไปตอบสนองหรือมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ตรงหน้าร่วมกับครูและเพื่อนในชั้นเรียน เมื่อลูกทำได้และผ่านกระบวนการเรียนรู้ไปสักระยะหนึ่ง ลูกก็จะคุ้นชินกับวิถีชีวิตใหม่นอกบ้าน ตลอดจนเกิดการเรียนรู้เรื่องราวใหม่ ๆ ที่โรงเรียนได้อย่างมีความหมาย

กล่าวโดยย่อ คือ ลูกจะสามารถใช้ชีวิตที่โรงเรียนและเกิดการเรียนรู้อย่างมีความหมายได้ก็ต่อเมื่อลูกมี “ความพร้อมหลายด้านที่มากพอในระดับหนึ่ง” ซึ่งระดับความพร้อมของลูกแต่ละคนก็มากน้อยต่าง ๆ กันไปขึ้นอยู่กับพัฒนาการของลูก ตลอดจนการลงมือลงแรงของพ่อแม่ผู้ปกครองในการช่วยกันเสริมสร้างและเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ ให้กับลูก ๆ ล่วงหน้าก่อนส่งลูกไปโรงเรียน

กลับมาที่ลูกออทิสติก ….“บ้านอุ่นรัก” ขอทวนประเด็นปัญหาด้านพัฒนาการและภาวะการขาดความพร้อมอย่างน้อย 3 ด้านดังต่อไปนี้อีกสักรอบเพื่อพ่อแม่ผู้ปกครองเข้าใจลูกได้ดีขึ้นว่าทำไมลูกออทิสติกจึงปรับตัวให้เข้ากับวิถีชีวิตที่โรงเรียนได้อย่างยากลำบากเมื่อเทียบกับเด็กที่อยู่ในวัยเดียวกัน

ปัญหาพัฒนาการของลูกออทิสติกที่ส่งผลเรื่องการปรับตัวให้เข้ากับวิถีชีวิตที่โรงเรียน

  1. ขาดทักษะสังคม

ลูกออทิสติกมักขาดทักษะทางสังคม เลี่ยงการสบตา ขาดความสนใจที่จะสานต่อปฏิสัมพันธ์แบบสองทางกับคนรอบข้าง ชอบแยกตัวอยู่คนเดียว หรือแม้ในตอนที่ลูกนั่งรวมอยู่ในกลุ่ม ลูกก็ไม่ได้สานต่อกับบุคคลรอบตัว หรือทำกิจกรรมตรงหน้าร่วมกับเพื่อน ๆ อย่างจริงจัง ลูกมักไม่มองหน้าคนที่เข้ามาพูดด้วย ไม่สนใจเข้าไปเล่นร่วมกับเพื่อน ไม่สานต่อกับคุณครูเท่าที่ควร ลูกจึงแตกต่างจากเพื่อน ๆ ในชั้นเรียน ที่เมื่อได้ใช้ชีวิตในโรงเรียนไปสักระยะหนึ่ง เพื่อน ๆ ก็จะปรับตัวได้ รวมกลุ่มเล่นด้วยกัน ยึดโยงคุณครูเป็นจุดศูนย์กลางของห้องเรียน และไม่ว่าคุณครูจะนำไปทางไหน เพื่อน ๆ ในชั้นเรียนก็จะเฮตามได้โดยง่าย

  1. ล่าช้าด้านการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร

ความล่าช้าทางพัฒนาการด้านภาษา เช่น การพูด  การใช้ภาษาท่าทาง  การแสดงออกทางสีหน้า การแสดงออกด้วยแววตา การสื่อสารเพื่อบอกความต้องการ การฟังเข้าใจ และการตอบสนองต่อการสื่อสารระหว่างบุคคล ลูกออทิสติกมักมีสีหน้าเรียบเฉย ไม่สนใจที่จะพูดคุยกับเพื่อน ๆ และคุณครู  ไม่ทำตามคำสั่งในชั้นเรียน เพราะไม่ได้ฟังและคิดตามอย่างมีความหมาย  ไม่แสดงภาษาท่าทาง ไม่พยักพเยิด หรือชี้ชัดให้ครูรู้ว่าลูกต้องการอะไร แต่มักจะใช้วิธีดึงมือคุณครูไปหาสิ่งนั้นหรือแก้ปัญหาด้วยตนเอง เป็นต้น

  1. มีพฤติกรรมไม่สมวัย

ปัญหาลูกขาดความพร้อมด้านพฤติกรรมมักเห็นได้ชัดและเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจลูก ๆ เป็นอย่างมากทั้งนี้เพราะลูกมีอาการยึดติดรูปแบบ รู้สึกปลอดภัยกับการหมกมุ่นกับกิจกรรมเดิม ๆ ที่ตนเองรู้ขั้นตอนอย่างชัดเจน ลูกจะไม่กังวลหากได้ทำเรื่องเดิม ๆ ในรูปแบบเดิม ๆ ซ้ำ ๆ อาการยึดติดรูปแบบนี้ทำให้ลูกไม่ชอบเปลี่ยนแปลงกิจวัตร แต่ชอบทำอะไรซ้ำ ๆ ในแง่การทานอาหาร ลูกจะทานยาก เลือกทานแต่อาการเดิม ๆ ใส่เสื้อแบบเดิม ชอบกิจวัตรที่คุ้นเคยในแบบที่เลือกเอง ไม่ชอบให้ใครมาชี้นำหรือมาจัดสภาพ รู้สึกกังวลกับความเปลี่ยนแปลงรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นกิจวัตรที่ต้องทำ สิ่งแวดล้อมและผู้คนที่ต้องพบเจอ ทำให้ลูกแทบไม่มีส่วนร่วมอย่างจริงจังกับกิจกรรมที่กำลังเกิดตรงหน้า แม้ลูกอาจเข้าร่วมกับกิจกรรมในชั้นเรียนได้บางกิจกรรมที่เข้ากับความสนใจ  ก็มักร่วมทำในแบบเฉพาะของตนเองมากกว่าทำตามการนำของคุณครู

นอกจากความไม่พร้อม 3 ด้านดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ลูกออทิสติกบางคนอาจมีปัญหาเรื่องขาดความสมดุลของระบบการรับรู้เพิ่มเข้ามาอีกประการหนึ่งด้วย เช่น รับรู้ไวมากเกินไป  อารมณ์หวั่นไหว หงุดหงิดง่าย มีอาการกลัวเลี่ยงหนีสภาพบางอย่าง เช่น ไม่ชอบเข้าห้องน้ำที่เปียกแฉะ ไม่ชอบเปรอะเปื้อน ไม่ชอบเสียงดัง ไม่ชอบกลิ่นอาหารบางอย่าง หรือในรายที่ระบบการรับรู้น้อยเกินไปในบางด้าน ลูกจะชอบทำอะไรบางอย่างซ้ำ ๆ เพื่อกระตุ้นตนเองในระบบที่ตนเองขาดสมดุล (เช่น ชอบเคาะของเพื่อฟังเสียง ชอบเล็งเพ่งมองของที่หมุน ๆ  ชอบสัมผัสพื้นผิวบางอย่าง โดยจะจดจ่อทำสิ่งนั้นอย่างมาก หากเราเข้าไปแทรก ลูกจะแสดงอาการหงุดหงิด และในกรณีลูกขาดความสมดุลของระบบการรับรู้ ลูกก็จะยิ่งปรับตัวได้ยากมากขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง

จะเห็นได้ว่า การที่ลูกออทิสติกมีพัฒนาการไม่สมวัยหลายด้านประกอบกัน อีกทั้งอาจมีอาการบางประการที่ส่งผลต่อการปรับตัว ลูกจึงต้องใช้ความพยายามอย่างมากหากต้องไปใช้ชีวิตที่โรงเรียน ในเมื่อ “การปรับตัวให้เข้ากับวิถีชีวิตที่โรงเรียน” เป็นเรื่องใหญ่ไม่ใช่เล่นสำหรับลูกออทิสติก “บ้านอุ่นรัก” จึงอยากชวนเชิญให้พ่อแม่ผู้ปกครองรีบลงมือช่วยลูกเตรียมความพร้อมเสียแต่เนิ่น ๆ ก่อนส่งลูกวัยอนุบาลเข้าโรงเรียน ซึ่งพ่อแม่ผู้ปกครองสามารถติดต่อ “บ้านอุ่นรัก” เพื่อสอบถามเกี่ยวกับ “บริการเตรียมความพร้อมให้ลูกออทิสติกวัยอนุบาล” ได้ทั้งที่บ้านอุ่นรักสวนสยามและบ้านอุ่นรักธนบุรีในวันและเวลาทำการ หรือจะเลือกเรียนคอร์สออนไลน์ของครูนิ่มบ้านอุ่นรัก เรื่อง “การเลี้ยงดูเด็กออทิสติก ให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ” และ “เตรียมลูกออทิสติกวัยอนุบาลให้พร้อมก่อนเข้าโรงเรียน” ก็ได้เช่นกัน