1. ใช้คำพูดสั้น ๆ พูดกระชับและบอกอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรมว่าต้องการให้เด็กแสดงพฤติกรรมอะไร

ตัวอย่างสถานการณ์: ลูกเขี่ยอาหาร / ไม่ยอมทานอาหาร
✔คำพูดที่เราควรใช้: “ทานอาหารค่ะ”
❎ คำพูดที่เราไม่ควรใช้: ทำตัวดี ๆ ตอนทานอาหาร / อย่าเขี่ยอาหารแบบนั้น/ หยุดเดี๋ยวนี้นะ ทำไมชอบเขี่ยอาหารอยู่เรื่อยเลยนะ

ทำไมเราควรใช้คำพูดสั้น ๆ กระชับและบอกเด็กให้เห็นเป็นรูปธรรมว่าเราต้องการให้เด็กทำอะไร: เพราะเด็กออทิสติกมีข้อจำกัดเรื่องการใช้ การฟัง และการทำความเข้าใจภาษา (การสื่อภาษาไม่สมวัย) ดังนั้น การพูดให้ตรงประเด็นและพูดสั้น ๆ จะทำให้เด็กเข้าใจได้ง่ายว่าเราต้องการให้เด็กทำอะไร

ข้อควรจำ: ในกรณีที่เด็กยังทำไม่ได้ตามที่เราบอก เราควรบอกเด็กให้ชัดเจนอีกครั้งว่าเราต้องการให้เด็กทำอะไร

2. บอกเด็กอย่างชัดเจนว่าในแต่ละสถานการณ์ เราต้องการให้เด็กแสดงพฤติกรรมแบบใด

ตัวอย่าง: แม่จะคุยโทรศัพท์ 5 นาที ในระหว่างที่แม่โทรศัพท์ ลูกต้องเล่นคนเดียวแบบเงียบ ๆ ถ้าลูกทำได้ เมื่อแม่คุยโทรศัพท์เสร็จ แม่จะเล่นกับลูกค่ะ

ทำไมเราต้องทำเช่นนี้: เพราะเราต้องการปรับพฤติกรรมของเด็กให้เข้าที่เข้าทางจนขึ้นรูปเป็นพฤติกรรมที่เด็กทำได้เองเป็นกิจวัตร การบอกให้เด็กแสดงพฤติกรรมเช่นนั้นเสมอในสถานการณ์หนึ่ง ๆ ไม่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ทำให้เด็กรู้อย่างชัดเจนว่าเขาต้องทำอะไรและไม่สับสน (เราควรบอกให้ลูกเล่นแบบเงียบ ๆ เสมอในระหว่างที่เราคุยโทรศัพท์ เราไม่ควรเปลี่ยนไปมา เช่น วันนี้ เราบอกให้ลูกเล่นแบบเงียบ ๆ ในขณะที่เราโทรศัพท์ แต่พรุ่งนี้เรากลับยอมให้ลูกส่งเสียงดังหรือถามแทรกว่าเมื่อไรแม่จะโทรศัพท์เสร็จ เป็นต้น)

ข้อควรจำ: 

– การปรับพฤติกรรมเด็กออทิสติกเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ทำต่อเนื่องและทำสม่ำเสมอ

– หากเด็กยังทำไม่ได้ตามที่เราบอก เราควรบอกเด็กให้ชัดเจนอีกครั้งหนึ่งว่าเราต้องการให้เด็กทำอะไรในสถานการณ์นั้น ๆ เช่น ในระหว่างที่แม่โทรศัพท์ ลูกส่งเสียงดัง เราควรบอกลูกว่า “ลูกต้องเล่นเงียบ ๆ ในขณะที่แม่โทรศัพท์” ทั้งนี้เราไม่ควรพูดว่า “หยุดส่งเสียงดัง” หรือ “เคยบอกแล้วใช่มั๊ยว่าให้ทำยังไงตอนที่แม่โทรศัพท์” เป็นต้น

– ใช้ตัวช่วยในการบอกเวลา เช่น นาฬิกาบอกเวลา จับเวลา ตั้งเวลา ให้เด็กรู้ว่าเราใช้เวลในการโทรศัพท์ไปกี่นาทีแล้วและยังเหลือเวลาอีกนานเท่าไรจึงจะครบ 5 นาทีนั้น การทำเช่นนี้ช่วยให้เด็กไม่วิตกกังวลหรือลดความวิตกกังวลเรื่องระยะเวลาลงได้

แล้วมาติดตามกันในตอนต่อไปนะคะ 

Credit: บทความ โดย Rachel Wise จากบล็อกของ International Board of Credentialing and Continuing Education Standards หรือ IBCCES