ตอนที่ 3: อาการของลูกออทิสติกและการฝึกฝนอาชีพ

ตามที่เราทราบกันแล้วว่าลูกออทิสติกแต่ละรายจะมีรายละเอียดของอาการและระดับของอาการที่แตกต่างกัน คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจในอาการและระดับอาการของลูกให้ดีพอ เพื่อหาวิธีดูแล เลี้ยงดู รับมือ และจะได้วางเป้าหมายระยะสั้นและระยะยาวให้ลูกได้อย่างถูกต้องต่อไป

เพื่อให้ทุกท่านได้เห็นภาพรวมของอาการและข้อบ่งชี้อาการออทิสติก ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการ “บ้านอุ่นรัก” จึงนำภาพรวมของอาการออทิสติกมากล่าวอีกครั้งในบทความนี้ ขอให้คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง หมั่นสังเกตอาการของลูก ตลอดจนรีบพาลูกที่มีร่องรอยของอาการไปพบและปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กหรือจิตแพทย์เด็ก เพื่อแพทย์ให้แนวทางการบำบัดรักษาอย่างถูกวิธีต่อไป

อาการออทิสติกในภาพรวม

1: ความไม่สมวัยด้านสังคมและปฏิสัมพันธ์แบบสองทาง

  • เลี่ยงการสบตา
  • ไม่สนใจสานต่อปฎิสัมพันธ์แบบสองทางกับบุคคล  ทั้งกับบุคคลใกล้ชิด และเด็กวัยเดียวกัน
  • มักจะแยกตัว ชอบเลี่ยงออกไปเล่นคนเดียวในแบบของตนเอง
  • ขาดการชี้ชวนออดอ้อนพยักพเยิด  ไม่สานต่อหรือแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทางอารมณ์กับบุคลใกล้ชิด
  • ไม่สนใจเลียนแบบท่าทาง  การกระทำ หรือการพูดจากบุคคลรอบตัว

2: ภาษา/การสื่อความหมาย :ลักษณะการพูดและการสื่อความหมายไม่สมวัย

  • เริ่มพูดเพื่อสื่อความต้องการ ได้ช้ากว่าวัย (พูดช้ากว่า 2 ขวบ)
  • สานต่อ การสนทนา ไม่ได้
  • การแสดงออกทางแววตา/สีหน้า/ท่าทาง สื่อความหมายได้จำกัด

3: พฤติกรรม

  • ติดรูปแบบในการดำรงชีวิต ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง
  • บางรายมีการเคลื่อนไหวอวัยวะซ้ำ (กระตุ้นระบบการรับสัมผัส)
  • หมกมุ่นกับสิ่งของเฉพาะอย่างเป็นพิเศษ
  • เล่นเป็นรูปแบบซ้ำ ๆ หรือมีวิธีเล่นเฉพาะตัว ขาดการเล่นแบบสำรวจทดลองหรือ ใช้จินตนาการ
  • สนใจและตอบสนองต่อสิ่งเร้ารอบตัวอย่างจำกัด
  • ระดับการเคลื่อนไหวไม่สมดุล  (ซนอยู่ไม่สุข/ เฉื่อย ไม่ชอบเคลื่อนไหว)

4: อารมณ์

  • ดูเหมือนเปลี่ยนแปลงง่าย วิตกกังวลสูง อารมณ์กวัดแกว่ง หงุดหงิดรุนแรง เพราะการรับรู้ไว ตื่นตัวถูกรบกวนจากประสาทสัมผัส กลัว/เลี่ยงหนีหรือเข้าหา หมกมุ่นกับสิ่งเร้าบางอย่างเป็นพิเศษ

สำหรับลูกออทิสติกที่มีศักยภาพสูง (มีข้อจำกัดทางอาการน้อย) และลูกออทิสติกที่มีอาการระดับกลาง (ยังมีความจำกัดด้านพัฒนาการอยู่บ้าง) คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองควรเน้นเรื่องการดูแลและเลี้ยงดูควบคู่ไปกับการค่อย ๆ นำทางลูกสู่การฝึกฝนอาชีพ ซึ่งในตอนต่อ ๆ ไป เราจะมาตามกันต่อว่าลูกที่มีศักยภาพสูง (มีข้อจำกัดทางอาการน้อย) และลูกที่มีอาการระดับกลาง (ยังมีความจำกัดด้านพัฒนาการอยู่บ้าง) จะทำอาชีพอะไรได้บ้างกันนะคะ

เครดิตภาพ: Slides Carnival