การที่ลูกออทิสติกชอบอ่านหนังสือ ฟังเพลง ดูยูทูป หรือใช้สื่อการสอนประเภทต่าง ๆ อาจดูว่ามีประโยชน์ แต่ถ้าลูกใช้เวลาหมกมุ่นวนทำแต่สิ่งนั้นซ้ำ ๆ นานจนเกินไปหรือมากจนเกินไป สิ่งที่เป็นประโยชน์อาจกลายเป็นโทษ เพราะยิ่งดึงลูกให้หลุดเข้าไปอยู่ในโลกส่วนตัวจนยากที่เราจะเข้าถึง
“การหมกมุ่นทำซ้ำ” เป็นหนึ่งในอาการของลูกออทิสติกที่ชอบอยู่ในโลกส่วนตัว โดยเฉพาะโลกส่วนตัวของการรับรู้ทางประสาทสัมผัสที่มีความสุขเมื่อได้ใช้เวลาเฝ้าเพ่งมองดูภาพ ดูตัวอักษร เรียงสิ่งของ จัดเรียงสิ่งของ (การรับรู้ทางสายตา) เฝ้าฟัง (การรับรู้เสียง) ลูบ จับสิ่งของ (การสัมผัส) หรือดมกลิ่น (การรับรู้กลิ่น) ซึ่งถ้าเราไม่เข้าใจและปล่อยลูกไว้อย่างนั้น วนซ้ำ วันแล้ววันเล่า เท่ากับเราได้ปล่อยลูกให้จมอยู่กับภาวะออทิซึมที่ซึมลึกขึ้น
สำหรับลูกที่หมกมุ่น ชอบอยู่ในโลกส่วนตัว เราช่วยลูกได้หลายวิธี เช่น
- ใช้เวลาอยู่กับลูกบ่อย ๆ เข้าหาลูก คลุกคลีกับลูก เข้าแทรกแซงสัก 10 นาทีต่อรอบเป็นอย่างน้อย เข้าแทรกเช่นนี้ให้ได้ทุกชั่วโมง หรือทำให้บ่อยมากที่สุดในระหว่างวัน
- หากิจกรรมหลากหลายที่ส่งเสริมพัฒนาการครบทุกด้านสลับให้ลูกได้ทำ เช่น การเคลื่อนไหว การใช้มือ-นิ้ว-สายตาประสานกัน การกระตุ้นทักษะทางภาษา การฝึกการช่วยเหลือตนเองในชีวิตประจำวัน การส่งเสริมการเรียนรู้ตามวัย และการฝึกทักษะทางสังคม
- เมื่อลูกแยกตัวไปเล่นอะไรอยู่คนเดียวนาน ๆ ต้องหาโอกาสเข้าไปเล่นกับลูกในสิ่งที่ลูกสนใจ และในระหว่างการเล่น เราใช้การสังเกตสิ่งที่ลูกสนใจและรูปแบบการเล่นของลูก ถ้าพบรูปแบบการเล่นวนซ้ำ ให้เข้าแทรก ต่อยอดเป็นการเล่นที่มีรูปแบบหลากหลายหรือสลับซับซ้อนมากขึ้น
- ในขณะอยู่กับลูก ให้กระตุ้นการสานต่อแบบสองทางตลอดเวลา เช่น นำลูกเลียนแบบการลงมือทำ เลียนแบบท่าทาง กระตุ้นการสบตา กระตุ้นการพูดโต้ตอบ หากลูกยังพูดไม่ได้หรือยังสานต่อบทสนทนาเองไม่ได้ ให้เราพูดพากย์สิ่งที่กำลังทำสั้น ๆ ให้ลูกฟัง กระตุ้นให้ลูกพูดตาม พูดทวนซ้ำ ออกเสียง หรือพูดโต้ตอบด้วยการบอกบทนำไปก่อนก็ได้
- สร้างบรรยากาศที่ดีเพื่ออยู่กับลูกด้วยความสนุกและได้หัวเราะด้วยกัน
- เมื่อจำเป็นต้องชี้นำ ให้ชี้นำลูกด้วยท่าทีที่หนักแน่นและชัดเจนโดยไม่จำเป็นต้องดุหรือคุกคาม
ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการเด็ก “บ้านอุ่นรัก” ขอส่งแนวทางข้างต้นมาช่วยพ่อแม่ผู้ปกครองเลี้ยงดูลูกออทิสติกในช่วงที่ลูกอยู่บ้าน และเราหวังว่าแนวทางของเราจะมีส่วนช่วยลดความหมกมุ่นของลูก ตลอดจนสามารถค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนลูกที่ชอบอยู่ในโลกส่วนตัวมาเป็นลูกที่ได้อยู่ร่วมกับคนในครอบครัวเพื่อทำกิจกรรมหรือเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อย่างมีความหมายได้ต่อไป