ในช่วงไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาด แม้ผู้ปกครองจะพาลูกออกไปกระตุ้นพัฒนาการนอกบ้านไม่ได้ แต่ผู้ปกครองยังสามารถจัดสภาพแวดล้อมที่บ้านให้เป็น “บ้านบำบัด” เพื่อฟื้นฟูพัฒนาการให้ลูกได้ ทั้งนี้ คนที่บ้านอาจฟื้นฟูพัฒนาการให้ลูกได้มากบ้างน้อยบ้าง แต่ขอให้ทำสม่ำเสมอต่อเนื่องอย่างจริงจัง ลูกที่ผ่านการกระตุ้นพัฒนาการระยะเริ่มแรกจากทีมบำบัดมาแล้ว มักมีการขึ้นรูปพัฒนาการไว้บางส่วน คนที่บ้านจึงสามารถต่อยอดให้ลูกได้ไม่ยากนัก

สำหรับผู้ปกครองของลูกศิษย์ของศูนย์กระตุ้นพัฒนาการเด็ก “บ้านอุ่นรัก” ทีมครูจะส่งแนวทางให้ทราบเป็นประจำ โดยหวังให้เกิดประโยชน์แก่ลูกศิษย์ที่ต้องเก็บตัวอยู่ที่บ้าน ซึ่งสูตรเดิมที่ทีมครูเคยให้ไว้ ทีมครู “บ้านอุ่นรัก” ก็อยากแบ่งปันให้พ่อแม่ผู้ปกครองทุกบ้านได้ทราบเป็นแนวทาง ดังนี้

  • ทุกชั่วโมง หากิจกรรมชวนลูกทำร่วมกันสัก 2 รอบ ๆ ละ 10 นาทีเป็นอย่างน้อย
  • กิจกรรมที่ทำควรใส่ความหลากหลาย ครอบคลุมพัฒนาการทุกด้าน เช่น ฝึกกล้ามเนื้อมัดใหญ่การเคลื่อนไหว ฝึกการใช้มือ-นิ้ว-สายตาในการหยิบ ใส่ กด ดึง หมุน รวมทั้งวาดภาพ ขีดเส้น เขียน ฝึกการช่วยเหลือตนเองในชีวิตประจำวัน ฝึกทักษะทางภาษา ทั้งขยายศัพท์ ฝึกการฟัง กระตุ้นการพูด ส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ เช่น ทำกิจกรรมที่ใช้สมาธิ ฝึกการจับคู่สิ่งที่เหมือนกัน ทำแบบฝึกง่าย ๆ ส่งเสริมการสานสัมพันธ์แบบสองทาง เช่น การสบตา  การเล่นหัวเราะด้วยกัน  ฝึกการเลียนแบบท่าทาง เลียนแบบการกระทำ หรือทำกิจกรรมร่วมกับพี่น้องหรือสมาชิกในบ้าน
  • ไม่ปล่อยผ่านพฤติกรรมที่มาจากอาการ หากพบพฤติกรรมที่ควรแทรกแซงต้องเข้าแทรกแซง
  • อย่าเผลอไปเสริมแรงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เพราะนั่นเท่ากับเราเป็นผู้เพิ่มอาการให้ลูก หากลูกมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เราควรหาทางปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนั้น ๆ ของลูก

สำหรับตัวอย่างพฤติกรรมที่ควรแทรกแซง เช่น การหมกมุ่นวนเวียนทำกิจกรรมบางอย่างซ้ำ ๆ หรือใช้เวลาในการทำกิจกรรมนั้น ๆ นานเกินไป ไม่ว่าจะเป็นหมกมุ่นดูตัวอักษร  ดูตัวเลข  ดูโทรศัพท์ ดู YouTube  นั่งวาดรูป นั่งเขียนอักษร นั่งเรียงของหรือถือของบางอย่าง หรือนำสิ่งของมาเพ่งมองซ้ำ ๆ กิจกรรมที่ลูกทำซ้ำ ๆ หมกมุ่นแบบนี้คืออาการ ดังนั้น หากผู้ปกครองเห็นลูกวนทำกิจกรรมนั้นซ้ำ ๆ หรือใช้เวลาทำนานจนเกินไป ก็ต้องเข้าแทรกเซงด้วยการดึงลูกมาเล่นด้วยกัน หรือจัดกิจกรรมเสริมทักษะที่หลากหลายแบบอื่นทดแทน ตลอดจนคลุกคลีอยู่กับลูกตรงหน้าแบบอยู่ด้วยกันจริง ๆ ให้ได้สัก 10 นาที

ส่วนพฤติกรรมที่ผู้ปกครองต้องหาทางช่วยลูกปรับเปลี่ยนมี 3 รูปแบบ ดังนี้ ซึ่งผู้ปกครองสามารถช่วยลูกปรับเปลี่ยนได้ด้วยการเข้าแทรก ชวนทำกิจกรรมสร้างสรรค์หลากหลายด้วยกันบ่อย ๆ

  • พฤติกรรมยึดติดรูปแบบ หรือการทำกิจวัตรแบบมีรูปแบบ ชนิดที่ลูกรับการเปลี่ยนแปลงไม่ได้แม้สถานการณ์จะไม่เอื้ออำนวย ลูกก็ยังต้องการทำ เช่น ต้องใส่เสื้อตัวเดิม ต้องทานอาหารแบบเดิม
  • พฤติกรรมที่ไร้รูปแบบบางประการ เช่น วิ่งวนไปมา ปีนป่าย เล่นแบบซ้ำ ๆ โดยไม่ต่อยอด นำสิ่งของที่ไม่ใช่ของเล่นมาเล่น เช่น นั่งดูยี่ห้อสินค้า
  • พฤติกรรมแยกตัว เลี่ยงปลีกตัวออกไปเล่นอะไรอยู่คนเดียว

แม้ผู้ปกครองจะพาลูกออกไปกระตุ้นพัฒนาการนอกบ้านไม่ได้ แต่ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการเด็ก “บ้านอุ่นรัก” หวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้ปกครองจะสามารถใช้สูตรลับของเราข้างต้น ไปปรับใช้ในช่วงไวรัสโควิด-19 ระบาด เพื่อจัดสภาพแวดล้อมที่บ้านให้เป็น “บ้านบำบัด” และประสบความสำเร็จในการช่วยลูกฟื้นฟูพัฒนาการที่บ้านได้ต่อไป

เครดิตภาพ: Unsplash | Delaram Bayat