ลักษณะที่เด่นชัดอีกสองประการของลูกออทิสติก คือ (1) มีทักษะทางภาษาที่จำกัด และ (2) มีการสื่อความหมายแบบไม่สมวัย
ปัญหาทั้งสองประการนี้ ส่งผลให้ลูกมีชีวิตประจำวันที่ไม่ค่อยปกติสุข ไม่สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างมีประสิทธิภาพได้ด้วยตนเอง ไม่สามารถบอกความต้องการของตนเองให้ผู้อื่นรู้และเข้าใจได้ ไม่ค่อยเข้าใจความหมายของเรื่องต่าง ๆ ที่เราหรือผู้อื่นสื่อสารกับลูก พูดสื่อความหมายได้จำกัด โต้ตอบการสนทนาแบบไม่สมวัย ใช้ภาษากาย สีหน้า และแววตาในการแสดงอารมณ์ได้ไม่ดี และใช้ท่าทางในการสื่อความหมายได้น้อย กล่าวโดยสรุป คือ ลูกไม่ค่อยเข้าใจภาษา และแม้จะเข้าใจภาษาพื้นฐานสั้นๆ ที่คุ้นเคยในชีวิตประจำวัน แต่ก็ไม่เข้าใจความหมายของการสื่อสารผ่านประโยคยาวๆ หรือประโยคที่มีความหมายซับซ้อนได้อย่างแท้จริง
สำหรับปัญหาทักษะการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารของลูกนี้ คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองไม่ควรปล่อยผ่านหรือละเลย แต่ต้องรีบพาลูกไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กหรือจิตแพทย์เด็ก เพื่อแพทย์วินิจฉัยอาการ ตลอดจนหาทางบำบัดรักษาให้ทันท่วงที โดยปกติแล้ว การบำบัดรักษาปัญหานี้ต้องใช้ระยะเวลาที่ยาวนาน (ประมาณ 6-24 เดือน) และควรบำบัดรักษาก่อนลูกเข้าเรียนร่วมในโรงเรียนอนุบาล เพราะหากบำบัดรักษาลูกหลังลูกเข้าเรียนร่วมในโรงเรียนอนุบาลแล้ว ปัญหาของลูกอาจจะซับซ้อนจนแก้ไขได้ยาก และทำให้ลูกไม่สามารถเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ในชั้นเรียนได้ตามปกติค่ะ
ในการเรียนการสอนลูกออทิสติกที่ไม่ค่อยเข้าใจภาษา บ้านอุ่นรักใช้ “การสื่อสารอย่างเป็นรูปธรรมในการสื่อสารกับลูกออทิสติก” เพื่อช่วยให้ลูก ๆ เข้าใจภาษาหรือเข้าใจความหมายของการสื่อสารตรงหน้าได้ดียิ่งขึ้น กล่าวคือ ในการสอนเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เราจะ…
- ประมวลภาพรวมของเหตุการณ์นั้น จากนั้น แยกภาพรวมออกเป็นส่วน ๆ เป็นภาพย่อย ๆ เรียงตามลำดับ…หนึ่ง…สอง…สาม…ไปจนกระทั่งจบเหตุการณ์
- แปลงภาพเหตุการณ์แต่ละส่วนออกมาเป็นรูปภาพ ภาพวาด หรือภาพถ่ายย่อย ๆ เพื่อสื่อสารกับลูก ทั้งนี้ เราอาจใช้ตัวเขียน ตัวอักษร ตัวเลข การเขียนคำประกอบ ใช้สีช่วยความจำ ใช้ของจริง โมเดล หรือการ์ดภาพ มาประกอบการสื่อสารกับลูก เพื่อทำให้ลูกเข้าใจภาษาได้ง่ายขึ้น
- แปลงภาษาประโยคที่ยาว ๆ ออกมาเป็นภาพสั้น ๆ เป็นคำพูดสั้น ๆ อธิบายแบบกระชับตรงไปตรงมา หรือย่อสั้นๆ แบบสรุปความ เพื่อค่อย ๆ แนะนำลูกไปช้า ๆ ทีละขั้นตามลำดับ ให้เหมาะกับระดับความเข้าใจหรือความสามารถทางภาษาของลูก
- แปลงคำโดยนัยให้กลายเป็นคำที่สื่อความหมายทางตรง เช่น
คำที่มีความหมายโดยนัย: วันนี้ฝนตกแบบไม่ลืมหูลีมตา ลูกไม่ควรออกไปวิ่งเล่นในสนามนะคะ
คำที่สื่อความหมายทางตรง: วันนี้ฝนตกหนัก ลูกจึงต้องเล่นอยู่ในบ้านค่ะ
- ใช้สมุดสื่อสารหรือการอัดเสียงมาประกอบการสื่อสารกับลูก
- ให้ลูกได้มีส่วนร่วมลงมือทำสิ่งต่าง ๆ ตามลำดับขั้นตอนที่ระบุชัด (จากขั้นตอนที่หนึ่ง สอง สาม ไปทีละขั้นตามลำดับจนถึงขั้นตอนสุดท้าย) เพื่อสร้างประสบการณ์ตรงหรือประสบการณ์จริงให้กับลูก ทั้งนี้ เราจะอธิบายขั้นตอนการลงมือทำด้วยภาพวาดหรือคำอธิบายสั้น ๆ ที่ระบุแนวทางการแก้ปัญหา และมีการแสดงบทบาทสมมุติเสมือนจริงหรือจำลองเหตุการณ์ให้ลูกได้ลงมือทำ การชวนลูกคุยในขณะที่ลงมือทำจะช่วยกระตุ้นให้ลูกคิดและฝึกฝนการตอบโต้เสมือนจริง ทั้งนี้ ต้องมีการฝึกและลงมือปฏิบัติจริงบ่อย ๆ เพื่อสร้างประสบการณ์ตรงซ้ำ ๆ ให้กับลูกจนลูกจดจำทุกขั้นตอนของเหตุการณ์นั้น ๆ ได้อย่างแม่นยำ เช่น แม่ผลักตัวลูก แม่ล๊อคตัวลูกไว้ แล้วพูดสอนลูกว่า เมื่อเกิดสถานการณ์แบบนี้ ลูกจะพูดว่าอะไรและลูกจะทำอะไรเพื่อแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าว เป็นต้น
สำหรับลูกออทิสติกนั้น การสื่อสารอย่างเป็นรูปธรรมตามแนวทางที่บ้านอุ่นรักกล่าวไว้ข้างต้น จะช่วยให้ลูกเรียนรู้ได้ดีขึ้น เรียนรู้ได้ง่ายขึ้น และช่วยให้ลูกเข้าใจภาษาได้ดีขึ้นมากกว่าการพูดคุยแต่เพียงอย่างเดียว ลองทำดูนะคะ
Photo Credit: Joshua Coleman | Unsplash