คุณภาพการพูดของลูกจะดีขึ้นได้…ก็ต่อเมื่อ….?
หนึ่ง: สมาชิกทุกคนในบ้านร่วมกันกระตุ้นการพูดของลูก ร่วมกันสร้างบรรยากาศ ร่วมกันสร้างสถานการณ์ที่จะกระตุ้นให้ลูกได้พูดกับคนในบ้านให้บ่อยที่สุด
สอง: มีการกระตุ้นการพูดแบบเนียน ๆ ในชีวิตประจำวันของลูก โดยสมาชิกทุกคนในบ้านจะไม่ให้อะไรแก่ลูกโดยง่าย ทุก ๆ คนจะลดการมองตาก็รู้ใจ และทุก ๆ คนจะกระตุ้นให้ลูกพยายามพูดจาสื่อสารเพื่อบอกให้เรารู้ถึงความต้องการของลูกเสียก่อน จากนั้นเราจึงจะให้ลูกได้รับในสิ่งที่ลูกต้องการ
สาม: ในกรณีที่ลูกยังพูดเองไม่ได้หรือยังตอบคำถามเองไม่ได้ เราทุก ๆ คนที่เป็นคู่สนทนาของลูก จะถามนำและบอกบทให้ลูกพูดตาม เราจะไม่ย่อท้อ แต่จะขยันที่จะถามนำเช่นนั้น ทวนซ้ำ ๆ อยู่บ่อย ๆ จนกว่าลูกจะยอมพูดเองและตอบคำถามเอง
สี่: การกระตุ้นการพูดจะมาพร้อมกับการกระตุ้นให้ลูกสบตากับคู่สนทนาเสมอ ดังนั้น เราจะพูดกับลูก สบตาลูก ยิ้มให้ลูก เชยคางลูกหรือจับใบหน้าของลูกเบา ๆ ให้ลูกมองตรงมาที่เราซึ่งเป็นคู่สนทนา ในที่สุด ลูกก็จะเคยชินที่จะพูดพร้อม ๆ กับสบตากับคู่สนทนาได้ดียิ่งขึ้น
ความสามัคคีของสมาชิกทุก ๆ คนในบ้าน การร่วมใจ การร่วมแรง และการร่วมกันลงมือสร้างคุณภาพการพูดให้กับลูกสำคัญมากจริง ๆ ค่ะ แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ “ต้องเริ่มต้นทำ..ทำทุกวัน..ทำอย่างสม่ำเสมอ..ทำอย่างต่อเนื่องในระยะเวลาที่ยาวนานมากพอ.. และทุก ๆ คนในบ้านต้องทำแบบเดียวกัน” ในไม่ช้าไม่นาน เราก็จะพบว่าลูกพูดได้อย่างมีคุณภาพมากขึ้นค่ะ
Photo Credit: Daiga Ellaby | Unsplash