ในการสอนลูกเลียนแบบ เช่น เลียนแบบการขยับปาก การออกเสียงพูด การทำท่าทาง หรือการลงมือทำตามสิ่งต่าง ๆ ที่จะช่วยเสริมสร้างทักษะด้านการช่วยเหลือหรือการดูแลตนเอง เราจะพบว่าในระยะแรก ๆ หรือแม้แต่ผ่านไปสักพักใหญ่แล้ว ลูกก็ยังอาจไม่ให้ความร่วมมือ หรือแม้ลูกร่วมมือ ลูกก็ยังเลียนแบบผิด ๆ ถูก ๆ จนเราเกิดความท้อใจ
หากเราตกอยู่ในภาวะนี้ ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการเด็ก “บ้านอุ่นรัก” อยากให้กำลังใจว่าอย่าเพิ่งถอดใจ การถอดใจไม่ใช่คำตอบ เพราะสิ่งที่เราเห็นลูกทำหรือไม่ทำในวันนี้ยังไม่ใช่ตัวจริงของลูก หัวใจสำคัญคือเราต้องยึดมั่น ต้องให้เวลาลูกได้เรียนรู้ ให้โอกาสลูกได้ทำซ้ำได้ซักซ้อมทำตามบ่อย ๆ เราต้องยื้อแบบไม่ปล่อยผ่าน และที่สำคัญคือเราต้องไม่ตั้งเงื่อนไขที่ยากหรือสลับซับซ้อนมากเกินไปจนลูกเป็นฝ่ายถอดใจไปก่อนเสียเอง
เราจะวัดความสำเร็จเรื่องการสอนลูกเลียนแบบได้อย่างไร?
ทุกความสำเร็จมีลำดับขั้นตอน ขอให้สังเกตให้ดี เราจะพบความสำเร็จเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่น่าชื่นใจ
• ลูกมองเราเมื่อเราสาธิตหรือแสดงแบบให้ลูกดู
• ลูกสบตาเราในขณะเรียนรู้การเลียนแบบ
• ลูกสนใจฟังสิ่งที่เรากำลังสอน
• ลูกเลียนแบบเราได้อย่างสอดคล้องกับการนำของเรา
• ลูกเข้าใจเราว่าเราต้องการให้ลูกทำอะไร
• ลูกพยายามเลียนแบบ ส่วนจะทำได้เป๊ะหรือไม่เป๊ะนั้น เป็นรายละเอียดที่เราสามารถจัดเก็บให้เข้าที่ได้ในเวลาต่อ ๆ ไป
ในการเรียนรู้ของลูกที่มีอาการออทิสติก สมาธิสั้น พัฒนาการช้ากว่าวัย ลูกจำเป็นต้องผ่านขั้นตอนต่าง ๆ ใช้เวลายาวนาน และต้องพากเพียรพยายามมากกว่าเด็กโดยทั่วไปอยู่มาก เราจึงควรใช้ความสม่ำเสมอ ใช้ระยะเวลา ใช้ความถี่ที่เพียงพอ และใช้ความเข้มแข็งในใจในการสอนจนกว่า “ลูกจะเข้าใจและตระหนักรู้ว่าตนเองทำเป็นและจำเป็นต้องทำบางอย่างสานต่อกลับมา”
แนวทางการเติมเต็มทักษะการเลียนแบบ
• หาจังหวะเข้าแทรกและกระตุ้นให้เหมาะสม เช่น ระหว่างที่เล่นสนุกกับลูก
• กระตุ้นให้ลูกเลียนแบบการกระทำที่กำลังเกิดตรงหน้า
• แทรกการวางเงื่อนไขอย่างเป็นธรรมชาติไม่ให้ลูกรู้ตัว
• กระตุ้นนำให้ลูกเลียนแบบง่าย ๆ เช่น ชี้สิ่งที่ต้องการ ทำท่าตาม หรือพูดตาม
• รอจนกว่าลูกจะพยายามทำ ลองทำ หรือแม้แต่การจับนำให้ลูกทำสำเร็จตามการนำ ก่อนที่จะให้ลูกได้รับสิ่งที่ลูกต้องการ
จากประสบการณ์การทำงานด้านนี้ของ “บ้านอุ่นรัก” ยาวนานต่อเนื่องเกิน 30 ปี ขอให้เชื่อเถอะว่าในความไม่ทำและความไม่เป๊ะของลูก ลูกของเราเขาพยายามอย่างหนักและสักวันลูกของเราจะทำได้ดีกว่าที่ทำอยู่ในวันนี้อย่างแน่นอน
“บ้านอุ่นรัก” ขอเป็นกำลังใจให้
ติดต่อ ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการเด็ก “บ้านอุ่นรัก”
บ้านอุ่นรักสวนสยาม โทร 086 775 9656
บ้านอุ่นรักธนบุรี ถนนพุทธมณฑลสายสอง โทร 087 502 5261
วันและเวลาทำการ: จันทร์ – ศุกร์ | 09.00 น. – 15.00 น.
Photo Credit: Igor Omilaev | Unsplash