สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองของลูกออทิสติก สมาธิสั้น พัฒนาการช้ากว่าวัย ท่านจะพบว่าลูก ๆ มีรูปแบบการเล่นดังต่อไปนี้ที่ท่านต้องเข้าแทรกแซง ทั้งนี้เพราะรูปแบบการเล่นเหล่านี้ไม่ได้ช่วยสร้างเสริมพัฒนาการที่รอบด้านให้กับลูก แต่กลับส่งเสริมอาการต่าง ๆ ที่เป็นปัญหาของลูกให้มีมากยิ่ง ๆ ขึ้นจนแก้ไขได้ยาก
ลักษณะและรูปแบบการเล่นของลูกที่เราต้องเข้าแทรกแซง
- สนใจเล่นหรือทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นรูปแบบที่เฉพาะเจาะจงเป็นพิเศษ เช่น ชอบมองสิ่งของที่หมุน ๆ หรือชอบเล็งสิ่งของ เป็นต้น
- เล่นของเล่นที่ลงมือทำแต่เป็นรูปแบบซ้ำ ๆ เดิม ๆ เช่น ชอบต่อบล็อก เรียงของ ต่อเลโก้ ต่อภาพจิ๊กซอว์ ปักหมุด หยอดเหรียญ เรียงภาพ เรียง/พูด/ท่องตัวอักษร-สี-รูปทรงแบบเดิม ๆ
- เล่นแบบขาดการสำรวจตามวัย ขาดการเล่นบทบาทสมมุติ ไม่เล่นเชิงจินตนาการ
- เล่นคนเดียว ไม่เล่นร่วมกันกับเพื่อนหรือบุคคลที่อยู่รายรอบตนเอง
- เล่นสะบัดมือ
- เล่นเสียงแบบซ้ำ ๆ เล่นเปล่งเสียงที่ไม่มีความหมาย
- สนใจที่จะเล่น แต่เล่นได้ไม่ซับซ้อนสมวัย
ลักษณะและการเล่นอย่างเป็นรูปแบบที่ซ้ำ ๆ ดังกล่าวข้างต้น ส่งผลให้ลูกยิ่งหมกมุ่นกับการทำสิ่งนั้น ๆ มากขึ้น ขาดการใช้จินตนาการให้สมวัย ขาดทักษะทางสังคมกับบุคคลรอบข้าง ขาดโอกาสพัฒนาทักษะการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารแบบสองทางอย่างมีความหมายกับบุคคลอื่น ตลอดจนไปเสริมหรือกระตุ้นปัญหาและอาการที่มีอยู่เดิมของลูกให้มีมากขึ้น แยกตัวมากขึ้น อยู่ในโลกของตนเองมากขึ้น ซึ่งในที่สุดก็จะพัฒนาไปเป็นพฤติกรรมที่ไม่สมวัยอย่างเห็นได้ชัด
สำหรับวิธีเข้าแทรกการเล่นเพื่อช่วยเสริมสร้างพัฒนาการให้กับลูก ๆ นั้น ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการ “บ้านอุ่นรัก” ขอแนะนำให้พ่อแม่ผู้ปกครองและคนที่บ้านคลุกคลีและอยู่กับลูกบ่อย ๆ เพื่อสามารถสังเกตลักษณะและรูปแบบการเล่น ตลอดจนเข้าแทรกแซงได้อย่างทันท่วงทีตามโอกาสและสถานการณ์ที่เหมาะสม
วิธีการเข้าแทรกแซงที่ท่านสามารถทำได้ง่าย ๆ เช่น ชวนเล่นแบบอื่น ๆ ที่สนุก เล่นให้หลากหลาย เน้นการเล่นเชิงจินตนาการ เล่นเชิงสำรวจ กระตุ้นให้เล่นร่วมกับบุคคลอื่น มีการถาม-ตอบง่าย ๆ ตามวัยในระหว่างการเล่น มีการตั้งเป้าหมายที่การได้เล่นพร้อม ๆ กับการกระตุ้นการสบตาและการพูดเพื่อสื่อสารบอกความต้องการ ทั้งนี้ เมื่อท่านแทรกแซงบ่อย ๆ ในระหว่างวันทุก ๆ วัน ลูก ๆ ก็จะได้ประโยชน์จากการเล่นอย่างเต็มที่ และการเล่นจะกลายเป็นเครื่องมือประจำบ้านที่ใช้ต่อยอดทักษะของลูกให้รอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นทักษะทางภาษา สังคม การแสดงพฤติกรรม และการควบคุมอารมณ์ให้เหมาะสมได้ตามวัย แถมยังสามารถเสริมสร้างสติปัญญาของลูก ๆ ได้อีกประการหนึ่งด้วย
“บ้านอุ่นรัก” จะช่วยสะท้อนปัญหาต่าง ๆ ที่ลูก ๆ มี และนำเสนอแนวทางแก้ไขแบบง่าย ๆ ที่พ่อแม่ผู้ปกครองและคนที่บ้านสามารถลงมือช่วยลูกได้ด้วยตนเอง เราหวังว่าแนวทางต่าง ๆ ที่ได้นำเสนอ จะเป็นประโยชน์ต่อการนำไปประยุกต์ใช้ในเวลาที่ท่านอยู่ร่วมกับลูก ๆ เด็ก ๆ ที่บ้านต่อไป ทั้งนี้ เมื่อท่านได้ลงมือทำสิ่งดี ๆ ต่าง ๆ เพื่อลูกด้วยความจริงจังและทำอย่างต่อเนื่อง ท่านก็จะพบว่าลูก ๆ ที่มีความต้องการเป็นพิเศษสามารถลดการเล่นที่เป็นรูปแบบซ้ำ ๆ เดิม ๆ ลงได้ ลูก ๆ จะสนุกที่ได้เล่นแบบใหม่ ๆ และให้ความสนใจกับการเรียนรู้สิ่งอื่น ๆ เพิ่มเติมในแต่ละวัน
เครดิตภาพ: Freepik.com by Racool Studio