ก่อนจะเข้าสู่กิจกรรมลุก ๆ นั่ง ๆ เพื่อฟังนิทานที่ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการ “บ้านอุ่นรัก” เราขอให้เล่าให้คุณแม่ คุณพ่อ ผู้ปกครอง ทราบกันคร่าว ๆ สักนิดหนึ่งว่า “บ้านอุ่นรัก” แบ่งการเรียนการสอนนักเรียนตัวน้อย ๆ วัย 2-5 ขวบออกเป็น 3 กลุ่ม คือ
กลุ่มที่ 1: กลุ่มกระตุ้นพัฒนาการระยะเริ่มแรก
กลุ่มที่ 2: กลุ่มเตรียมก่อนไปโรงเรียน และ
กลุ่มที่ 3: กลุ่มต่อยอดพัฒนาการ
“บ้านอุ่นรัก” เปิดสอนเพื่อกระตุ้นพัฒนาการ เตรียมความพร้อม และปรับพฤติกรรม ในวันทำการ (วันจันทร์ถึงวันศุกร์) และเป็นการเรียนการสอนแบบมาเช้ากลับบ่ายหรือเย็น (ขึ้นอยู่กับตอร์สที่นักเรียนลงเรียนว่าเป็นคอร์สครึ่งวันหรือเต็มวัน) ส่วนในวันเสาร์จะเป็นการสอนเสริมสำหรับนักเรียนกลุ่มที่ 3 ที่เป็นนักเรียนของ “บ้านอุ่นรัก” เท่านั้น
สำหรับกิจกรรมการเรียนการสอนในวันเสาร์ คุณครูจะเน้นการชวนลูกศิษย์กลุ่มที่ 3 หรือลูกศิษย์ที่ผ่านการกระตุ้นพัฒนาการและการเตรียมความพร้อมก่อนไปโรงเรียนที่ “บ้านอุ่นรัก” มาเรียบร้อยแล้ว เข้าร่วมการทำกิจกรรมสนุก ๆ ที่มีเป้าหมายในการต่อยอดพัฒนาการ และในตอนนี้ เรานำภาพตัวอย่างบางส่วนของกิจกรรมวันเสาร์ที่ “ครูโอ๋” (คุณฐิติมา สุพิสาร ครูกระตุ้นพัฒนาการและนักจิตวิทยา ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการ “บ้านอุ่นรักสวนสยาม”) ชวนลูกศิษย์กลุ่มที่ 3 มาร่วมทำ “กิจกรรมฟังนิทาน” มาให้คุณแม่ คุณพ่อ ผู้ปกครอง และทุกท่านที่สนใจ ได้ร่วมชม
ในการทำ “กิจกรรมฟังนิทาน” เพื่อต่อยอดพัฒนาการให้กับเด็ก ๆ ครูจะใช้เทคนิคการสอนแบบพิเศษในรูปแบบ 4 มิติเพื่อจูงใจให้เด็กสนใจเข้าร่วมทำกิจกรรม ตลอดจนสามารถร่วมทำกิจกรรมไปกับกลุ่มตั้งแต่ต้นจนจบได้ด้วยความสนุกสนาน
การสอนแบบพิเศษในรูปแบบ 4 มิติ คือ การเรียนการสอนที่ทำให้เด็ก ๆ (1) ได้มองเห็น (2) ได้ยิน (3) ได้สัมผัส และ (4) ได้ลงมือทำ ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้ได้ดีกับเด็ก ๆ ที่สามารถเข้าไปเรียนร่วมที่โรงเรียนได้แล้ว ทั้งนี้ “บ้านอุ่นรัก” จะใช้กิจกรรมฟังนิทานและกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องมาผสมผสานกันเพื่อ (1) ต่อยอดทักษะการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารของเด็ก ๆ ให้ทำได้ซับซ้อนมากขึ้น (2) เพิ่มทักษะทางสังคม (3) เพิ่มช่วงการคงสมาธิในการร่วมกลุ่มทำกิจกรรมกับเพื่อน และ (4) ส่งเสริมด้านการเรียนรู้ตามหลักสูตรในโรงเรียน
เวลาที่ครูโอ๋และครูกระตุ้นพัฒนาการทุก ๆ ท่านของ “บ้านอุ่นรัก” ชวนเด็ก ๆ เข้าร่วมกิจกรรมฟังนิทาน ครูจะมีบทบาทหน้าที่สำคัญ 2 ประการ คือ (1) เป็นนักเล่านิทาน และ (2) เป็นนักแก้ปัญหาที่ต้องตีโจทย์ให้แตกว่าครูต้องทำอย่างไรจึงจะกระตุ้นและช่วยให้ลูกศิษย์ที่มีอาการสมาธิสั้นและไม่สามารถจดจ่อกับการฟังอะไรนาน ๆ สามารถฟังและเข้าใจนิทานที่ครูเล่าได้ในระดับหนึ่ง ส่วนลูกศิษย์ออทิสติกที่มีปัญหาด้านพัฒนาการทางภาษา ปัญหาการฟังเพื่อจับใจความ และปัญหาความเข้าใจด้านภาษาที่ไม่สมวัย ต้องได้เข้าร่วมฟังนิทานด้วยความเข้าใจและเกิดการเรียนรู้อย่างมีความหมาย
เทคนิคการสอนแบบพิเศษที่ครูระดมมาใช้ในการเล่านิทานให้เด็ก ๆ ฟัง ประกอบด้วย
- การย่อยเนื้อหา
- การสรุปใจความทีละส่วน
- การใช้สื่อประกอบการเล่า และ
- การทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่ต่อเนื่องเพื่อย้ำการเรียนรู้อย่างมีความหมาย
การทำเช่นนี้ คือ การสร้างมิติการเรียนรู้ทางภาษา การฟังจับใจความให้เข้าใจ การเสริมทักษะทางสังคม และการส่งเสริมจินตนาการของเด็ก ๆ ผ่าน 4 มิติ คือ การได้มองเห็น ได้ยิน ได้สัมผัส และได้ลงมือทำ (กิจกรรมประดิษฐ์หน้ากาก) ก่อนจะตบท้ายความสนุกอย่างมีความหมายด้วยการให้เด็ก ๆ ได้ผลัดกันออกมาเล่าเรื่องหน้าชั้นเรียนให้เพื่อน ๆ และครูรับฟัง
….วันเสาร์ เราทำกิจกรรมอะไรกัน? ที่ “บ้านอุ่นรัก” ยังมีอีกมาก แถมยังสนุกทุกกิจกรรม ไว้ติดตามชมในคราวต่อไปกันค่ะ
เครดิตภาพ: Waldemar Brandt | Unsplash