เมื่อถึงวัยที่ลูกพยายามเรียนรู้ที่จะเป็นตัวของตนเอง เช่น ลูกในวัย 2-5 ขวบ ลูกออทิสติก หรือลูกสมาธิสั้น ที่เริ่มมีพัฒนาการทางอารมณ์ซับซ้อนขึ้น พ่อแม่ผู้ปกครองจะรู้สึกว่าลูก ๆ เริ่มเป็นเด็กเลี้ยงยากและช่างปฏิเสธ ทั้งนี้เพราะเด็กในวัยนี้กำลังเริ่มเรียนรู้ที่จะเป็นตัวของตัวเอง แต่ยังไม่รู้วิธีที่จะจัดการและบริหารอารมณ์ จึงมักแสดงออกด้วยท่าทีต่อต้านหรือปฏิเสธจนกลายเป็นความขัดแย้งกับพ่อแม่ผู้ปกครองในบางเหตุการณ์ได้
เมื่อลูกเติบโตมาถึงวัยนี้ พ่อแม่ผู้ปกครองจะต้องทำความเข้าใจธรรมชาติตามวัยของลูก ทำใจยอมรับ พร้อมกับปรับเปลี่ยนยุทธวิธีในการเลี้ยงดูลูกเพื่อลดความขัดแย้ง เพราะแต่เดิมนั้น พ่อแม่ผู้ปกครองอาจเคยชินที่จะเป็นคนนำทางและสั่งให้ลูกทำสิ่งต่าง ๆ ตาม “คำสั่ง” เสียเป็นส่วนใหญ่
แนวทางหลัก ๆ ของการปรับเปลี่ยนวิธีเลี้ยงดูลูกที่อยู่ในวัยนี้ คือ การเปิดโอกาสให้ลูกมีส่วนคิดและร่วมวางแผนในกิจวัตรของตนเองแทนการทำตามคำสั่ง หรือทำตามการชี้นำของพ่อแม่ผู้ปกครองทั้งหมด โดยมีเป้าหมายที่การฝึกลูกให้สามารถทำกิจวัตรทุกอย่างได้ครบถ้วนและเหมาะสมด้วยตนเอง ซึ่งการทำเช่นนี้ นับเป็นการสนับสนุนให้ลูกได้เติบโตทางอารมณ์อย่างสมวัย อีกทั้งสามารถตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับตนเองได้ดียิ่งขึ้นตามไปด้วย โดยลูกจะมีพ่อแม่ผู้ปกครองช่วยเป็นคู่คิดอยู่ข้าง ๆ
จากแนวทางข้างต้น ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการ “บ้านอุ่นรัก” จะยกตัวอย่างขั้นตอนการลงมือทำเพื่อให้พ่อแม่ผู้ปกครองได้เห็นภาพยุทธวิธีที่ชัดเจนขึ้น ดังนี้
- หลังเลิกเรียนหรือในแต่ละวัน พ่อแม่ผู้ปกครองชวนลูกพูดคุยว่ามีกิจกรรมใดที่ลูกจำเป็นต้องทำในแต่ละวันบ้าง
- เขียนลิสต์ (List) ภาพรวมของกิจกรรมหรือกิจวัตรที่ลูกจำเป็นต้องทำให้เสร็จ และค่อยเพิ่มกิจกรรมที่ลูกชอบหรือต้องการทำเพิ่มเติม เพื่อลูกรับรู้ภาพรวมของกิจกรรมทั้งหมดที่ต้องทำในแต่ละวัน เช่น วันนี้ลูกจะทำอะไรบ้าง ทำอะไรก่อน-หลัง และทำกิจกรรมใดในเวลาใด เป็นต้น
- เพิ่มสีสันและความสนุกลงไปในตารางกิจวัตรประจำวันของลูก โดยให้ลูกออกแบบและลงมือทำตารางกิจวัตรนั้น ๆ ด้วยตนเอง เช่น วาดเป็นรูป ตัดแปะรูปกิจกรรม เขียนคำสั้น ๆ พร้อมกับใส่กำหนดเวลาว่าจะทำอะไร ในเวลาใด ทั้งนี้ การให้ลูกลงมือทำตารางกิจวัตรให้น่าสนใจนับเป็นการฝึกให้ลูกทวนย้ำกับตนเองถึงกิจวัตรต่าง ๆ ที่จะต้องทำอีกด้วย
- พ่อแม่สามารถช่วยลูกปรับแต่งตารางกิจวัตรตามความเหมาะสม หรืออาจเสนอแนะเพิ่มเติมเรื่องกิจกรรมและเวลาในการลงมือทำกิจกรรม
- เชื่อใจ ใจเย็น รอให้ลูกทำตามกิจวัตรที่วางแผนไว้ หากลูกมีท่าทีงอแง หรือยังไม่สามารถควบคุมตนเองได้ดีนัก ในระยะแรก พ่อแม่ผู้ปกครองอาจช่วยเตือนลูกก่อนถึงเวลา และเฝ้าดูอยู่ห่าง ๆ หรือแม้กระทั่งจับนำให้ลูกทำ หรือควบคุมให้ลูกทำแบบไม่ให้ลูกรู้ตัว เพื่อให้ลูกลงมือทำได้ตามรายการที่ลูกวางแผนไว้ หรือหากจำเป็นก็สามารถปรับแต่งแผนได้บ้างตามความเหมาะสม
- เมื่อลูกทำกิจวัตรแต่ละอย่างเสร็จ เพิ่มความสนุกด้วยการให้ลูกกากบาทเช็คลิสต์ด้วยตนเอง ติดสติ๊กเกอร์รูปดาว หรือรูปการ์ตูนน่ารัก ๆ แทนสัญลักษณ์ว่าลูกได้ทำกิจวัตรนั้น ๆ สำเร็จแล้ว
- อาจมีการคุยหรือตกลงกันว่าถ้าลูกทำสำเร็จได้ต่อเนื่อง เช่น ทำได้ครบ 1 วันในระยะแรก ครบ 3 วัน หรือครบ 1 สัปดาห์ ลูกจะได้ทำกิจกรรมพิเศษอื่น ๆ เช่น ทำขนมที่ลูกชอบ ขี่จักรยาน ซื้อขนมพิเศษ เพิ่มเวลาวิ่งเล่น หรือเพิ่มเวลาในการดูรายการต่าง ๆ ที่เหมาะสมตามความชอบของลูก เป็นต้น
เมื่อเราได้ทำตามแนวทางและขั้นตอนต่าง ๆ ข้างต้น เท่ากั[เราได้เริ่มเปิดโอกาสให้ลูกมีส่วนร่วมกำหนดชีวิตตนเอง และนำพาตนเองตามธรรมชาติที่ลูกวัยนี้ต้องการ ทั้งนี้ทั้งนั้น ยังอยู่ในขอบเขตที่พ่อแม่ผู้ปกครองยังสามารถดูแลลูกได้
พ่อแม่ผู้ปกครองลองทดลองทำอย่างสม่ำเสมอด้วยความเข้าใจ ใจเย็น และอดทน ทั้งนี้ ในระยะแรก ลูกอาจยังหยุดตัวเองไม่ได้ หรือไม่สามารถทำตามลำดับกิจวัตรได้ทั้งหมด เพราะลูกยังไม่คุ้นเคย แต่เมื่อเราขยันทำไปเรื่อย ๆ อย่างมีรูปแบบที่ชัดเจน ในวันหนึ่งจะเริ่มเห็นผลและก่อให้เกิดความภาคภูมิใจว่าเราช่วยลูกได้ และลูกของเราสามารถดูแลตนเองได้ นำพาตนเองได้ รู้จักวางแผนชีวิตประจำวัน และทำกิจวัตรต่าง ๆ สำเร็จได้ด้วยตนเอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นนิสัยติดตัวลูกไปจนโตอย่างเด็กที่รู้จักรับผิดชอบตนเองได้อย่างดีโดยที่พ่อแม่ผู้ปกครองไม่ต้องกวดขันมากเกินไปนัก
ไม่ลองก็คงไม่รู้ ดังนั้น ต้องเริ่มต้น ต้องลงมือทำ ต้องใจเย็น เพื่อผลสำเร็จปลายทางที่อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมค่ะ