อาการหลัก 3 ประการของโรคสมาธิสั้น

ก่อนที่เราจะมาเรียนรู้วิธีรับมือกับอาการสมาธิสั้นของลูก ๆ อย่างมีชั้นเชิงไปด้วยกัน ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการ “บ้านอุ่นรัก” ขอแนะนำให้คุณแม่ คุณพ่อ ผู้ปกครอง คุณครู และทุกท่าน ได้รู้จักกับอาการหลัก ๆ ของ “โรคสมาธิสั้น” หรือ “Attention Deficit/Hyperactivity Disorder” หรือ “ADHD” กันเสียก่อนค่ะ

อาการหลัก ๆ ของโรคสมาธิสั้นมี 3 ลักษณะ คือ

หนึ่ง: ช่วงการคงสมาธิสั้น

  • มักจะเหม่อ
  • ละความสนใจกลางคัน
  • ไม่อยู่กับปัจจุบัน
  • หันเหความสนใจได้ง่าย
  • ทำกิจกรรมไม่เสร็จ
  • มีความยุ่งยากในการจัดการสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นระบบ
  • หากมีสิ่งเร้าจำนวนมากจะเริ่มสับสน

สอง: ซนอยู่ไม่สุข

  • ชอบปีนป่าย ชอบเคลื่อนไหว
  • รน รีบ ทำอะไรรวดเร็ว ไม่ระมัดระวัง
  • ลงมือทำสิ่งต่าง ๆ แบบอัตโนมัติ แต่การทำงานของตาและมือมักจะไม่ประสานกัน
  • ขาดความประณีตในการทำสิ่งต่าง ๆ

สาม: หุนหันพลันแล่น

  • หงุดหงิดง่าย
  • รอคอยไม่ได้
  • พฤติกรรมเกิดอัตโนมัติและเกิดแบบคาดเดาได้ยาก

จากเช็คลิสต์ข้างต้น ทั้งเรื่องของ (1) ช่วงการคงสมาธิสั้น (2) ความซุกซนแบบซนอยู่ไม่สุข และ (3) ความหุนหันพลันแล่น เราจะมาหาวิธีรับมือกับอาการต่าง ๆ เหล่านี้ไปด้วยกันในตอนต่อไปค่ะ

การรับมืออย่างมีชั้นเชิงเป็นเรื่องที่ว่าไปแล้วก็มีทั้งง่ายและยากปน ๆ กันไป อย่างไรก็ตาม คุณแม่ คุณพ่อ ผู้ปกครอง คุณครู หรือแม้แต่ผู้ดูแลลูก สามารถที่จะเรียนรู้จนทำได้จริงค่ะ แม้จะทำไม่ได้ภายในพริบตาเดียว แต่ “บ้านอุ่นรัก” มั่นใจว่าความรักที่ทุกท่านมีต่อลูกหลาน จะเป็นแรงส่งให้ท่านพยายามเรียนรู้และฝึกฝนวิธีรับมือ และแต่ละท่านจะค่อย ๆ กลายเป็นเซียนและสามารถรับมือกับอาการต่าง ๆ ของลูกหลานสมาธิสั้น อย่างมีชั้นเชิง แถมยังเป็นชั้นเชิงที่เหนือชั้นได้อีกด้วยค่ะ

อย่าท้อถอยนะคะ แม้เหนื่อยแค่ไหน เราก็จะนำทางลูกด้วยใจที่เบิกบานค่ะ

เครดิตภาพ: Nathan Bingle + Tyler Nix | Unsplash