ตอน…รับมือด้วยกิจกรรม

อาการหลัก ๆ ของโรคสมาธิสั้นเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ลูกมีช่วงการคงสมาธิสั้น ซนอยู่ไม่สุข และอาจหุนหันพลันแล่นแบบ Fast and Furious ค่ะ

แต่ไม่เป็นไร ขอให้คุณแม่ คุณพ่อ ผู้ปกครอง ทำใจเย็น ๆ และคิดบวกว่าทุกปัญหามีทางแก้ไข เพียงเราเรียนรู้วิธีรับมือและแก้ไขปัญหาให้ถูกวิธี ลูกสมาธิสั้นก็จะมี “มือโปรประจำบ้าน” คอยช่วยนำทางค่ะ

การรับมือในตอนท้ายนี้ “บ้านอุ่นรัก” ขอแนะนำให้ลูกทำกิจกรรมค่ะ

  • ให้ทำกิจกรรมฝึกการคงสมาธิ เช่น กิจกรรมที่อาศัยการลงมือทำ กิจกรรมฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็ก กิจกรรมศิลปะ เพื่อฝึกช่วงการคงสมาธิ
  • ให้ทำกิจกรรมที่ฝึกการลงมือทำงานแบบรวดเดียวจบ เพื่อให้ได้จำนวนชิ้นงานที่เหมาะสมกับวัย เช่น 10 ชิ้น 15 ชิ้น หรือ 20 ชิ้น ตามอายุ โดยใช้ระยะเวลาการทำที่เหมาะสมกับงาน และลงมือทำแบบไม่ละความสนใจกลางคันและไม่ยืดเยื้อ
  • หากมีกิจกรรมหรือแบบฝึกหัดจำนวนมาก ซับซ้อนไปสักนิด หรือยุ่งยากเกินระดับที่ลูกจะทำได้ เราควรแบ่งเนื้องานออกเป็นหลายส่วน ให้ลูกลงมือทำหลาย ๆ ครั้ง ทั้งนี้ ควรกำหนดจากเวลาหรือระยะการตั้งสมาธิพื้นฐานตามปกติที่เด็ก ๆ ทำได้
  • หากงานนั้น ๆ มีความซับซ้อน มีความยาก เราอาจแบ่งช่วงเวลาทำงานเป็นช่วงสั้น ๆ หรือแบ่งให้ทำงานทีละส่วน เช่น เริ่มจากทำต่อเนื่องครั้งละ 10-15 นาที และนำมาผลงานมาส่ง เพื่อผู้ใหญ่ช่วยกำกับให้ทำต่อจนทำสำเร็จได้ทีละส่วน

ลองให้ลูกลงมือทำกิจกรรมต่าง ๆ ข้างต้นกันดูสักตั้งนะคะ ทำแบบไม่ถอดใจ และทำกันเป็นทีม แล้วคุณแม่ คุณพ่อ ผู้ปกครอง ก็จะพบว่า “มือโปรประจำบ้านทุก ๆ ท่าน” ช่วยลูกสมาธิสั้นให้มีพัฒนาการรอบด้านที่ดีและสมวัยมากขึ้นได้ด้วยมือของท่านเอง

“บ้านอุ่นรัก” จะอยู่กับท่าน เป็นกำลังใจให้ทุกท่าน เป็นเพื่อนคู่คิด และคอยชื่นชมความสำเร็จของท่านและลูก ๆ เสมอค่ะ

เครดิตภาพ: Nathan Bingle + Tyler Nix | Unsplash