ตอน…ลูกชอบให้เราบอกลูกดี ๆ
แม้ลูกเป็นเด็ก แต่ลูกก็มีหัวจิตหัวใจและอารมณ์ไม่ต่างจากเราที่เป็นผู้ใหญ่ ดังนั้น คำพูดบางประเภทของเรา โดยเฉพาะการพูดตำหนิ ติเตียน หรือดุว่าลูกแรง ๆ ก็อาจเป็นสาเหตุที่จะทำให้ลูกเสียใจและอารมณ์ บ่ จอย ได้เช่นกันค่ะ เพราะฉะนั้น เราควรต้องปรับวิธีการพูดและน้ำเสียงของเรากันสักนิดนึง เพื่อให้ลูกรับฟังเรา เรียนรู้ เข้าใจสิ่งที่เราบอก และรู้สึกดีที่ได้สื่อสารกับเราและได้รับฟังคำพูดแบบภาษาดอกไม้ของเราค่ะ
- เลี่ยงการตำหนิ ดุว่า หรือการใช้คำพูดตีตรา เช่น เลี่ยงการใช้คำพูดว่าเด็กพิเศษ สมาธิสั้น ซน โดยเฉพาะการดุลูกในกลุ่มคน
- หากจำเป็นต้องเตือนหรือดุ ควรเตือนโดยระบุเฉพาะพฤติกรรม เช่น ขอให้นั่งกับที่ไม่ลุกเดิน ขอให้ยกมือก่อนตอบ
- ในกรณีที่เลี่ยงไม่ได้และจำเป็นต้องเตือนทันที ควรเตือนโดยระบุเฉพาะพฤติกรรมที่ต้องการเห็น ต้องการให้ทำ ด้วยประโยคสั้น ๆ ที่ลูกเข้าใจโดยง่าย
- เลี่ยงการกล่าวพาดพิงถึงลูกเป็นการส่วนตัวหรือการกล่าวถึงลักษณะนิสัยหรือบุคลิกภาพของลูก เช่น ขอให้ทำการบ้านให้เสร็จและส่งภายในเวลา…. ขอให้นั่งกับที่ไม่ลุกเดิน ขอให้ยกมือก่อนและรอฟังคู่สนทนาพูดให้จบก่อน ไม่พูดแทรก
- พูดชมทุกครั้งที่พบว่าลูกทำสิ่งที่ดี แม้เพียงเล็กน้อย เพื่อสร้างความมั่นใจ กระตุ้นให้ลูกทำสิ่งดี ๆ นั้นอีก และรู้สึกดีต่อสิ่งที่ตนพยายามทำหรือทำได้สำเร็จ
- สร้างและหาโอกาสให้ลูกได้รับผิดชอบ ได้ช่วยงานบ้านเล็ก ๆ น้อย ๆ ตามวัยที่ลูกพอจะทำได้ ได้ช่วยเหลือในเรื่องที่ไม่ซับซ้อน เพื่อสร้างโอกาสให้ลูกได้รับคำชมเชยจนเกิดความเชื่อมั่นและรู้สึกดีต่อตนเองในทิศทางที่เราต้องการ
เรามาทดแทนการพูดตำหนิ ติเตียน ดุกล่าว ตะคอก หรือพูดด้วยน้ำเสียงที่ประชดประชันเสียดสี มาเป็นการบอกลูกดี ๆ บอกสั้น ๆ และใช้คำพูดกระชับที่แฝงไปด้วยความเมตตาว่าลูกควรทำอะไร เพียงเท่านี้ ลูกก็จะรับฟังเรา เข้าใจสิ่งที่เราต้องการให้ลูกทำ ทำได้ รู้สึกดีกับเรา และเกิดความภาคภูมิใจในความสามารถของตนเองค่ะ
เครดิตภาพ: Nathan Bingle + Tyler Nix | Unsplash