ตอน…ต้องจัดระเบียบ ระบบ กันสักหน่อย
จากภาพรวมของสิ่งที่เราต้องทำทั้ง 2 ประการที่ได้กล่าวไว้ในตอนที่ 2 เราขยับมาพบกับวิธีต่าง ๆ ที่ “บ้านอุ่นรัก” จะนำเสนอให้คุณแม่ คุณพ่อ ผู้ปกครอง คุณครู ผู้ดูแลเด็ก ๆ และทุกท่านได้ลงมือทำกันค่ะ
เรามาเริ่มต้นที่การจัดระเบียบและวางระบบกันก่อนเลยนะคะ
ระเบียบบ้านและสภาพแวดล้อม
- จัดสภาพแวดล้อมให้เป็นระเบียบเพื่อตัดวงจรสถานการณ์ที่จะกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมวุ่นวาย หรือเกิดพฤติกรรมที่เป็นปัญหาอยู่เป็นประจำ
- ลดจำนวนของเล่นที่วางไว้ตามมุม เพื่อลดโอกาสที่ลูกจะรื้อค้นจนของเล่นเกลื่อนกระจาย
- เล่นของเล่นเสร็จ ชวนลูกช่วยเก็บให้เรียบร้อย (ทำแบบนี้ไปบ่อย ๆ ซ้ำ ๆ เดี๋ยวลูกจะเคยชินและกลายเป็นนิสัยของลูกต่อไป)
- เก็บขวดแชมพู ขวดแป้ง ที่ลูกชอบเทเล่น หรือสิ่งของที่อาจเป็นอันตรายไว้ในที่สูงจนพ้นมือลูก
- ย้ายโต๊ะ เก้าอี้ หรือโซฟา ออกจากจุดที่ลูกเคยชินที่จะกระโดดเล่นเป็นประจำ จนสปริงหลุด เก้าอี้ขาโย้ หรือโต๊ะใกล้จะพังยับเยินแล้ว
วางระบบโภชนาการและการออกกำลังกายให้ดี
- ลดสารอาหารกระตุ้นอาการ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ขนม หรือเครื่องดื่มรสหวาน เช่น ลูกอม น้ำอัดลม และขนมที่มีสารคาเฟอีนแฝงอยู่ เช่น ไอศกรีม ชานมไข่มุก และช็อกโกแลต เป็นต้น
- วางระบบและจัดตารางการออกกำลังกายในระดับที่เหงื่อออกให้เกิดเป็นประจำ เช่น ออกกำลังกายสัปดาห์ละ 3 วัน ๆ ละ 15 ถึง 30 นาทีเป็นอย่างน้อย (ตามวัย) จะออกกำลังกายแบบไหนก็ได้ที่สะดวกที่จะทำ สนุกสนาน ได้ยิ้มและหัวเราะด้วยกัน ได้สร้างประสบการณ์ดี ๆ และมีเวลาดี ๆ ร่วมกัน ตลอดจนมีความปลอดภัย เช่น วิ่งเล่นไล่จับ ชวนลูกแตะบอล ขี่จักรยาน เล่นของเล่นสนาม หรือในวันที่ฝนตก ก็ชวนกันเต้นตามเพลงในบ้าน หรือออกกายบริหารในห้องรับแขกไปด้วยกันค่ะ
- การระเบียบและระบบที่สำคัญอีกประการที่เราต้องทำให้ได้ คือ ทุกคนในทีมทำเหมือน ๆ กันค่ะ
คุณแม่ คุณพ่อ ผู้ปกครอง และทุกท่าน เริ่มจัดระเบียบและระบบรอไว้เลยนะคะ พอถึงตอนหน้า เราจะมาทำเรื่องอื่น ๆ กันต่อ รับรองว่างานนี้ลูกจะรู้สึกสนุกสนานไปกับวิธีรับมือของเราควบคู่กันไปด้วยอย่างแน่นอนค่ะ
เครดิตภาพ: Nathan Bingle + Tyler Nix | Unsplash