ในบางครั้งที่ลูกหงุดหงิด คุณพ่อ คุณแม่ และผู้ปกครอง อาจพบว่าลูกจะอาละวาดและมีการระเบิดอารมณ์ออกมาอย่างรวดเร็วและรุนแรงจนเราคิดทบทวนหาทางรับมือกันแทบไม่ทัน
เราไม่อยากให้คุณพ่อ คุณแม่ และผู้ปกครองรอให้ถึงสถานการณ์แบบนั้นแล้วค่อยตั้งรับ แต่อยากให้ลองหาวิธีรับมือกันไว้ล่วงหน้า เพื่อที่ว่าเมื่อต้องเจอกับปัญหาดังกล่าว ก็จะสามารถรับมือได้อย่างทันท่วงทีค่ะ
ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการ “บ้านอุ่นรัก” มีวิธีรับมือลูกหงุดหงิด อาละวาด อารมณ์รุนแรง มาฝากดังนี้ค่ะ
1: ปรับใจและสร้างทัศนคติเชิงบวก เข้าใจข้อจำกัดว่าวุฒิภาวะของลูกไม่สมวัย ในบางสถานการณ์ลูกจึงแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ไม่ดีนัก และด้วยพัฒนาการในปัจจุบันที่ลูกยังพูดสื่อความต้องการไม่ได้ดังใจ ลูกจึงมีอารมณ์หงุดหงิดหรืออาละวาดรุนแรงกว่าปกติ เราจึงควรคิดในแง่บวกว่า “ดีแล้วที่ลูกมีอารมณ์หงุดหงิดถึงขีดสุดในยามที่ลูกมีพ่อแม่อยู่เคียงข้าง เพราะพ่อแม่จะได้มีส่วนค่อย ๆ ช่วยปรับพฤติกรรมให้กับลูกและจะไม่ปล่อยผ่านพฤติกรรมเหล่านี้ แต่จะช่วยจนกว่าลูกจะฝึกควบคุมตนเองได้ เพื่อในอนาคต ลูกจะสามารถอยู่ได้ด้วยตนเอง ตลอดจนอยู่ร่วมกับบุคคลอื่นในสังคมได้อย่างปกติสุขและปลอดภัย”
2: พูดสั้น ๆ ระบุพฤติกรรมที่ลูกควรทำ แทนการดุ ตำหนิ หรือบ่น และเลี่ยงการใช้คำพูดที่จะกระตุ้นอารมณ์ของลูก
3: ตั้งสติ ไม่ตกใจ ไม่รน ทั้งนี้เพราะการมีสติจะทำให้เราสามารถคาดการณ์ล่วงหน้าและไวต่อการตอบสนอง และหากเราเคยพบว่าลูกมีพฤติกรรมรุนแรง เราต้องถอยหลังเว้นระยะห่างไม่ให้ลูกเข้าประชิดตัว
4: หยุดความรุนแรงเฉพาะหน้า เช่น เราคาดว่าลูกอาจหงุดหงิดรุนแรง เราก็จะต้องแยกลูกออกจากบุคคล สิ่งของ หรือจุดอันตราย ตลอดจนต้องหยุดการสูญเสียด้วยการเก็บสิ่งของอันตรายแบบต่าง ๆ ที่ลูกอาจนำมาใช้ระบายความโกรธหรือหยิบมาขว้างปาจนเกิดความเสียหายหรือเป็นอันตรายต่อตนเองหรือผู้อื่นออกไปให้หมด
5: เริ่มปรับทีละขั้นตามระดับความรุนแรง ด้วยการเบี่ยงเบน การแยกลูกออกจากสถานการณ์ การพาลูกเปลี่ยนอิริยาบถ การเปลี่ยนความโกรธของลูกมารับรู้ความรู้สึกทางกาย การเพิกเฉย ไปจนกระทั่งการสอนลูกจัดการกับปัญหาหลังลูกสงบอารมณ์ของตนเองได้แล้ว ซึ่งการปรับทีละขั้นนี้มีรายละเอียดอีกหลายประการที่เราจะนำมาเสนอกันต่อในตอนต่อไปค่ะ
Photo Credit: Ninety Eyes | Unsplash