1. การเตรียมการจัดการเรียนรู้ของเด็กเรียนร่วม

1.1 จัดการเรียนการสอนเป็นรายบุคคล ศึกษาให้เข้าใจและรู้จริง

– วิธีการศึกษาหาข้อมูลพื้นฐานของเด็กเป็นรายบุคคลโดยศึกษาจากการสังเกต สอบถาม และการปฏิบัติ ว่านักเรียนเหล่านั้นมีความสามารถอยู่ในระดับใดบ้าง และดำเนินการจัดหา เอกสารเพิ่มเติม เช่นคำและภาพประกอบ  

1.2 จัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการ

– การใช้สื่อผสม สื่อของจริง

– การจัดการเรียนการสอนนอกสถานที่ (ทัศนศึกษา)

– การจัดการเรียนการสอนโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

1.3 ส่งเสริมพัฒนาการตามศักยภาพเป็นขั้นตอน

1.4 ร่วมกิจกรรมที่สามารถร่วมกับเพื่อนๆได้

1.5 การจัดการในห้องเรียน ต้องจัดห้องเรียนแบบธรรมชาติ โดยมีมุมต่างๆเพื่อเสริมพัฒนาการของเด็ก

– ครูต้องสร้างบรรยากาศในห้องเรียนให้เหมือนบ้าน เสมือนอยู่ใกล้กับพ่อแม่ พี่น้อง

– เด็กได้ทำงานกับครูเสร็จแล้ว เด็กสามารถเข้าตามมุมกิจกรรม หาความรู้เพิ่มเติมได้หลากหลาย

– เด็กเรียนร่วมมักจะชอบทำงานเมื่อมีเวลาว่าง โดยมีเด็กปกติคอยช่วยเหลือ และทำงานร่วมกัน

– มุมที่สามารถจัดได้ในห้องเรียนระดับอนุบาลและประถมศึกษา ได้แก่ มุมหนังสือ มุมเกมมุมคณิตศาสตร์ มุมภาษา มุมศิลปะ และอื่นๆ

– การจัดโต๊ะเรียนในลักษณะรูปวงกลมหรือตัวยู เพื่อให้ครูและเด็กได้สื่อสารถึงกันได้ดีกว่าการจัดโต๊ะเรียนแบบอื่น

1.6 ครูจะต้องพูดคุยและปลูกฝัง ให้เด็กในห้องเรียนรักกันและช่วยเหลือเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน

1.7 ครูจะต้องจัดกิจกรรมต่างๆ ให้สอดคล้องกับบทเรียน โดยเปิดโอกาสให้เด็กทุกคนมีส่วนร่วมในกิจกรรม

– บางกิจกรรม เด็กปกติจะทำการที่ครูอธิบายและมอบหมายให้ แต่ถ้าเป็นเด็กเรียนร่วม      

ครูจะต้องคอยดูแลอย่างใกล้ชิด คอยให้คำแนะนำ งานที่จะทำจะต้องเป็นงานที่เหมาะสมตามศักยภาพของเด็ก

1.8 สื่อการเรียนการสอนต้องเหมาะสมกับวัย และสามารถใช้ได้กับเด็กทั้งสองกลุ่ม

1.9 งานที่ทำกับเด็กทั้งสองกลุ่มจะต้องสอดคล้องกันทั้งเนื้อหาและกิจกรรมเชื่อมโยง โดยเป็นเรื่องเดียวกันแต่มีความยากง่ายต่างกัน

1.10 การทำงานเดี่ยวและงานกลุ่ม ครูจะเปิดโอกาสให้เด็กทั้งสองกลุ่มออกมาเสนอผลงานร่วมกันครูให้กำลังใจและกล่าวชมเชยเด็กๆต่อหน้าเพื่อนทุกคน

1.11 ฝึกทักษะกระบวนการเรียนรู้ต่างๆ โดยการปฏิบัติจริงจากสิ่งที่ใกล้ตัว โดยมุ่งเน้นรูปธรรมเพื่อให้เด็กมีการสร้างจินตนาการจนเกิดพัฒนาการและการเรียนรู้ ตลอดจนมีความมั่นใจในตนเอง

1.12 ครูต้องเข้าถึง เรียนรู้ เข้าใจ ช่วยเหลืออย่างถูกวิธี

1.13 ครูผู้สอนจะต้องมีเวลาศึกษาตัวเด็กที่เป็นกลุ่มเรียนร่วมก่อนเปิดภาคเรียน

– เกี่ยวกับด้านร่างกายว่ามีความบกพร่องด้านใด

– มีความรู้ระดับพื้นฐานมาน้อยเท่าใด

– การอยู่ร่วมในสังคมระดับใด

1.14 เมื่อเปิดภาคเรียน ครูต้องสร้างความเข้าใจกับเด็กปกติเสียก่อน เพื่อขอความร่วมมือในการช่วยเหลือ ซึ่งจะทำให้การเรียนร่วมประสบผลสำเร็จ

1.15 ครูต้องรับฟังและเรียนรู้ เด็กเรียนร่วมยังแยกแยะความเป็นรูปธรรมและนามธรรมไม่ได้เช่น การมองโลกในแง่ดี ตัวแบบที่ดี การเรียนรู้สิ่งดีๆ จากผู้อื่น การเคารพสิทธิผู้อื่น ความหนักแน่น การสร้างบรรทัดฐานบนความเมตตา การเป็นนักฟังที่ดี ตลอดจนการรู้จักบทบาทของตนเอง

1.16 การให้การสนับสนุนเด็กในเรื่องการยอมรับตนเอง การสร้างความเข้าใจ การมีเมตตา มิตรภาพและความอดทน

1.17 เด็กเรียนร่วมจะต้องมีส่วนร่วมแสดงความรับผิดชอบร่วมกับสังคม ชุมชน โดยทำกิจกรรมร่วมกันร่วมแบ่งปันคุณค่าและคุณความดีของตน

1.18 การวางแผน เด็กเรียนร่วมต้องมีการเตรียมความพร้อมของตนเอง โดยกำหนดเป็นกิจวัตร กระตุ้นให้ใฝ่หาความรู้และต้องพึ่งพาตนเองเป็นหลัก

2. ปัญหาอุปสรรคที่พบในมุมมองของครูผู้สอน

2.1 ผู้ปกครองและครูขาดการร่วมมือกันในการพัฒนาเด็กให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน  

2.2 ผู้ปกครองมีความคาดหวังกับเรื่องเรียนของลูกสูงเกินไป การประเมินผลการเรียน ผู้ปกครองควรรับทราบและยอมรับว่า เด็กสามารถที่จะเลื่อนชั้นได้หรือไม่ ทั้งนี้ต้องอยู่ในดุลยพินิจของครู ไม่มีสิทธิที่จะมาคาดคั้นหรือชี้นำ ว่าจะต้องซ้ำชั้นหรือเลื่อนชั้น

2.3 เด็กเรียนร่วมบางคนเรียนรู้ได้จริง เขียนได้ อ่านได้ แต่ไม่รู้ความหมายของสิ่งที่เด็กอ่านและเขียน

2.4 การเรียนรู้คณิตสาสตร์ เด็กเรียนร่วมบางคนก็สามารถบวกเลขได้เพียงอย่างเดียว ที่สูงกว่านั้นอาจจะมีเด็กเรียนร่วมในบางกรณี สามารถเรียนสิ่งที่ยากได้ แต่โดยทั่วไป จะพบปัญหา อุปสรรคทั้งสิ้น

2.5 เด็กบางคนมีพฤติกรรมก้าวร้าว ไม่สนใจและปฏิบัติตามคำสั่ง ในขณะที่ครูทำการเรียนการสอน

2.6 ผู้ปกครองที่มีลูกเป็นเด็กเรียนร่วม มักมีความคาดหวังสูงจะให้ลูกได้เรียนรู้ในด้านวิชาการให้ได้อย่างเด็กปกติ โดยไม่ได้คำนึงถึงความสามารถและศักยภาพของเด็ก

2.7 ผู้ปกครองบางท่านจะไม่ค่อยยอมรับเกี่ยวกับพฤติกรรมหรืออาการของลูกตนเองในเวลาที่ครูรายงานพัฒนาการของลูกให้ทราบ และจะอ้างว่า อยู่ที่บ้านลูกไม่มีพฤติกรรมเช่นนี้ และโยนความผิดว่าพฤติกรรมต่างๆ ว่าเป็นมาจากโรงเรียน หรือเรียนแบบเพื่อนๆ ซึ่งทำให้ครูผู้สอนหนักใจ และจะเป็นผลเสียต่อเด็ก

2.8 ไม่ควรตั้งความคาดหวังในตัวลูกที่เป็นเด็กเรียนร่วมสูงเกินความเป็นจริง ว่าจะต้องเรียนให้ได้เกรด เท่าเทียมกับเด็กปกติ

2.9 ผู้ปกครองมักจะปิดบังพฤติกรรมบางอย่างของลูก โดยไม่บอกครู หรือปรึกษากับแพทย์ไม่พาไปฝึก ไม่มาพบครู เมื่อมีจดหมายติดต่อให้มาพูดคุย หรือประชุมตามที่นัดหมายมักบอกว่าติดธุระ ไม่มีเวลา

3. สิ่งที่อยากจะบอกกับผู้ปกครองเด็กพิเศษทุกท่าน

3.1 การเรียนรู้ของเด็กเรียนร่วมต้องใช้เวลา ผู้ปกครองไม่ควรเร่งรัดให้เด็กอ่านออกเขียนได้เหมือนเด็กปกติ บางครั้งวันนี้เด็กเรียนรู้ได้ วันต่อมาอาจจะทำไม่ได้ ครูต้องเริ่มต้นใหม่ เด็กแต่ละคนสามารถเรียนรู้ได้ไม่เหมือนกัน   

3.2 ผู้ปกครองควรมีใจยอมรับที่จะและเปลี่ยนเรียนรู้กับครูผู้สอน เพื่อช่วยให้เด็กได้เกิดการพัฒนามากขึ้น บางรายทิ้งให้เป็นหน้าที่ของครูฝ่ายเดียว

3.3 การพูดคุยกับลูกทุกวัน เป็นการฝึกในด้านภาษาที่ถูกต้อง ทักษะการพูดเป็นความสามารถสำคัญที่สุดของเด็กเรียนร่วม เพราะเขาต้องนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน (สำหรับครูต้องทำทุกวันอย่างน้อยวันละ 10 นาที) เช่น

        – วันนี้ตื่นนอนขึ้นมา ได้ทำอะไรบ้าง                    – วันนี้อากาศเป็นอย่างไร

        – วันนี้เป็นวันอะไร                                        – เมื่อเช้าทานอะไร

        – ถามวันในสัปดาห์                                      – ถามสีของเสื้อผ้า

        – ถามอวัยวะของร่างกาย                   – ชอบเล่นอะไร

        – ถามชื่อเพื่อน                                             – ถามเรื่อง เมื่อวาน วันนี้ วันพรุ่งนี้

3.4 ให้ท่านผู้ปกครองท่านอื่นที่มีลูกปกติเปิดใจรับเด็กเรียนร่วม และเปิดโอกาสให้เด็กมีส่วนร่วมในการ

ทำกิจกรรมต่างๆ

3.5 ผู้ปกครองควรปรึกษาและพูดคุยกับครูที่ดูและอย่างเปิดเผย ไม่ควรปิดบังพฤติกรรมของเด็กและยอมรับฟังเมื่อครูผู้เกี่ยวข้องรายงานผลของเด็กให้ทราบ เพื่อที่จะนำข้อมูลไปพัฒนาเด็กในด้านต่างๆ

3.6 เมื่อโรงเรียนจัดกิจกรรมในวันสำคัญต่างๆ ผู้ปกครองควรมีส่วนร่วมกิจกรรมกับลูก

3.7 ให้ผู้ปกครองติดตามพฤติกรรมของลูกอย่างต่อเนื่อง เพราะเด็กบางคนมักจะมีพฤติกรรมในแง่ลบที่โรงเรียนซึ่งแตกต่างจากพฤติกรรมที่อยู่ที่บ้าน  เพื่อการพัฒนาแก้ไขปรับปรุง อย่างมีประสิทธิภาพ

3.8 ความสำเร็จของลูกมีทางแก้ ขอให้ท่านผู้ปกครองช่วยด้วยใจ ให้ลูกร่าเริง สนุกสนานเหมือนเป็นนักผจญภัย และได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์การเรียนรู้ มีส่วนร่วมสนับสนุนสิ่งที่ลูกสนใจปล่อยความรู้สึกให้เป็นไปตามธรรมชาติ สร้างสรรค์ความทรงจำที่ดี ให้ถึงขีดสุดศักยภาพการพัฒนา ซึ่งจะเป็นของขวัญยิ่งใหญ่ของพ่อแม่ที่รอคอย

3.9 ขอเป็นกำลังใจให้ผู้ปกครองที่เป็นเด็กเรียนร่วม (เด็กพิเศษ) มีพลังที่จะเลี้ยงลูกไปจนเติบโตอย่าท้อแท้กับสิ่งที่ยากลำบาก เราอาจจะโชคดีในวันข้างหน้าต่อไปได้

3.10 กิจกรรมบางอย่างอาจจะไม่เป็นอันตรายสำหรับตัวเด็กเรียนร่วมและเด็กอื่น ผู้ปกครองควรเปิดโอกาสให้เด็กได้ลองทำ แต่ควรอยู่ในสายตาของผู้ปกครองในระยะห่างพอสมควร

3.11 ศึกษาเรียนรู้จากลูก ลองพูดคุยสอบถามความนึกคิด บางสิ่งที่เขาชอบพูดตอนที่อยู่คนเดียว

หรือสังเกตลักษณะท่าทางการทำกิจกรรม หรือการทำพฤติกรรมซ้ำที่เราชอบทำแล้วเราสังเกตเห็น

3.12 บางอย่าง สิ่งที่ผู้ปกครองคิดว่าดีที่สุด และเหมาะสมกับเขาที่สุด ที่เขาแสดงออกมา แต่ไม่ใช่สิ่งที่เหมาะสมสำหรับเขา อาจจะเกิดผลเสียตามมาหรือเกิดอันตรายกับตัวเด็กเองหรือผู้คนรอบข้าง

3.14 ผู้ปกครองควรจะมีเวลาพูดคุย บอกเหตุและผล กับการกระทำของเขาที่บางครั้งแสดงออกมาไม่เหมาะสม ควรยกตัวอย่างสิ่งนั้นไม่เหมาะสมเพราะเหตุใด และสิ่งที่เหมาะสมคืออะไร

รวบรวมโดย . . . ครูผู้มีประสบการณ์จัดการเรียนร่วม

โรงเรียนอนันตา จำนวน 19 คน

ผู้เรียบเรียง . . . ดร. มัณฑริกา   วิฑูรชาติ

       12 กันยายน 2553

เอกสารประกอบการบรรยาย “เรื่องที่พ่อแม่ควรตระหนักก่อนลูกเข้าสู่วัยรุ่น และอนาคตของลูกออทิสติก สมาธิสั้น พัฒนาการช้า/การเตรียมการเรียนรู้ของลูก”  จัดโดย ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการ “บ้านอุ่นรัก” ณ ห้องสัมมนาชั้น 4 อาคาร 2 ตึก ไอทีสแควร์