Rachel Wise ผู้เขียนบทความต้นฉบับตาม ลิ้งค์ ที่แนบมานี้ เขียนถึงวิธีหลากหลายที่ดีและมีประโยชน์ต่อพ่อแม่/ผู้ปกครอง/ครูที่ต้องการได้เทคนิคการรับมือลูกออทิสติก/เด็กออทิสติก พร้อม ๆ ไปกับการยับยั้งโอกาสที่เด็กจะแสดงพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ ตลอดจนสร้างเสริมให้เด็กเกิดพฤติกรรมทางบวกทดแทนพร้อม ๆ กันไปได้ในเวลาเดียวกัน
แม้วิธีต่าง ๆ ที่ Rachel Wise เขียน ไม่ใช่วิธีแปลกใหม่ แถมเธอยังยอมรับด้วยว่าเพราะเด็กออทิสติกแต่ละคนล้วนแตกต่างกัน (แตกต่างทั้งอาการที่แต่ละคนมีและระดับของอาการที่เป็น) จึงไม่มีวิธีใดวิเศษสุดที่จะแก้ปัญหาได้อย่างเบ็ดเสร็จ บางวิธีที่เธอนำเสนออาจใช้ได้กับเด็กเพียงบางคน หรือไม่ก็เหมาะที่จะใช้กับบางสถานการณ์ และไม่ว่าจะใช้วิธีใด การช่วยเด็กเรื่องพฤติกรรมเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยระยะเวลานาน เราต้องทำซ้ำ ๆ อย่างใจเย็นและทำอย่างสม่ำเสมอ
แต่ความน่าสนใจของบทความนี้ (ตลอดจนข้อเท็จจริงต่าง ๆ ตามที่ Rachel Wise แจ้งไว้ดังที่กล่าวมาแล้ว) ทำให้เราอดไม่ได้ที่จะพยายามแปล ประมวลความคิด และสรุปวิธีการ ตลอดจนแชร์ให้เพื่อน ๆ ของศูนย์กระตุ้นพัฒนาการบ้านอุ่นรักได้อ่านไปด้วยกัน
😎😍 เรามาอ่านบทสรุปไปด้วยกันนะคะ
อะไรคือเรื่องที่พ่อแม่/ผู้ปกครอง/ครูทำ แล้วช่วยเด็กออทิสติกเรื่องพฤติกรรมได้ 😎😍
1.ใช้คำพูดสั้น ๆ พูดกระชับ และบอกอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรมว่าต้องการให้เด็กแสดงพฤติกรรมอะไร
2.บอกเด็กอย่างชัดเจนว่าในแต่ละสถานการณ์ เราต้องการให้เด็กแสดงพฤติกรรมแบบใด
3.ใช้สถานการณ์ตรงหน้าในการสอนเด็กได้อย่างเหมาะสม
4.แสดงให้เด็กเห็นเป็นตัวอย่าง สาธิตหรือทำให้ดูว่า พฤติกรรมที่ต้องการให้ทำ
5.บอกให้เด็กรู้ลำดับหรือขั้นตอนของสิ่งที่จะเกิดขึ้นก่อนและหลังอย่างชัดเจน
6. ใช้ตารางกิจวัตรเป็นตัวช่วยให้เด็กรู้ลำดับของเรื่องที่ต้องทำ
7.ใช้ตัวช่วยในการบอกเวลา/ตั้งเวลา/จับเวลาเพื่อเด็กได้รู้ว่าเด็กใช้เวลาในการทำสิ่งนั้น ๆ ไปนานเท่าไรแล้ว และยังเหลือเวลาอีกเท่าไร
8.กำหนดเวลาหรือจำนวนชิ้นงานที่เด็กต้องทำอย่างชัดเจน ว่าสิ่งที่ต้องทำนั้นจะจบลงเมื่อไร
9.ใช้การเสริมแรง (Reinforcement) (เช่น คำชม รางวัล ให้ดาวความดี) เพื่อกระตุ้นให้เด็กทำพฤติกรรมที่พึงประสงค์
10.ทำข้อตกลงที่ทำร่วมกันมีความชัดเจนว่าเราจะทำอะไร อะไรเกิดก่อน-หลัง และหากเด็กทำได้ตามข้อตกลง เด็ก จะได้อะไรเป็นรางวัล
11.ชมเด็กและแสดงให้เด็กรู้ว่าเรารู้สึกดีอย่างไรที่เด็กทำได้ตามข้อตกลง
12.ให้เด็กได้เลือกเองบ้าง
13.ให้เด็กร่วมทำงานหรือทำกิจกรรมที่มีสื่อ เป็นองค์ประกอบ หรือใช้สายตาในการดำเนินงาน เพราะเด็กออทิสติกมักมีทักษะที่ดีในเรื่องเหล่านี้
14.อนุญาตให้เด็กหยิบของชิ้นโปรดจากกิจกรรมที่เพิ่งจบไปติดไม้ติดมือไปด้วยในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านสู่กิจกรรมใหม่ เพื่อทำให้เด็กสบายใจ
15.ใช้การหันเหความสนใจของเด็กแทนการบอกว่า “ไม่” หรือ “หยุด” โดยเฉพาะเวลาที่ต้องการหยุดพฤติกรรมทางลบ
16.คิดให้รอบคอบเรื่องสถานที่ ๆ จะพาเด็กออทิสติกที่มีปัญหาเรื่องระบบรับสัมผัส (รับรู้ไว)
17.สื่อสาร พูดคุย หรือรับมือเด็กด้วยความเมตตา ใจเย็นและสงบ
18.เราไม่โทษเด็กหรือตัวเราเองหากเราทำดีที่สุดแล้วแต่สถานการณ์กลับไม่เป็นไปตามที่เราต้องการ
สุดท้ายนี้ ขอบคุณบทความดีๆ ต้นฉบับกดคลิกที่นี่ได้เลยค่ะ
แปลและเรียบเรียงโดย คุณจินตวีร์ สายแสงทอง
บทความถัดไป ทางทีมงานบ้านอุ่นรัก จะมาชวนคุยกันให้ลึกขึ้นในแต่ละข้อนะคะ ติดตามกันได้ค่ะ สำหรับตอนนี้ ขอขอบคุณทุกๆ ท่านที่ติดตามมา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ