สำหรับศูนย์กระตุ้นพัฒนาการเด็ก “บ้านอุ่นรัก” เราให้ความสำคัญกับด่านแรก คือ การทำความเข้าใจกับพ่อแม่ผู้ปกครองโดยการพูดคุยกับพ่อแม่ผู้ปกครองให้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับอาการและระดับอาการของลูกให้มากพอจนสามารถจับประเด็นแก่นแท้ของอาการและระดับอาการของลูกให้ได้อย่างชัดเจน ทั้งนี้เพื่อกำหนดทิศทางการเลี้ยงดูที่ถูกต้องซึ่งต้องทำต่อเนื่องยาวนานมากพอเพื่อช่วยให้ระดับอาการของลูกบรรเทาเบาบางลงและลูกมีพัฒนาการรอบด้านที่ดีมากขึ้นได้ตามลำดับ
อย่าปล่อยลูกออทิสติกให้โตไปตามธรรมชาติ
พ่อแม่ผู้ปกครองบางท่านอาจเข้าใจผิดว่าท่านก็เลี้ยงดูลูกออทิสติกไปตามธรรมชาติ เพราะเมื่อลูกโตขึ้น อาการของลูกจะดีขึ้นเองตามวัยโดยปริยาย แต่ในโลกของความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะอาการของโรคออทิซึมจะไปขัดขวางการเรียนรู้และการดำรงชีวิตของลูก ดังนั้น หากท่านปล่อยลูกให้เติบโตไปตามธรรมชาติ ลูกจะเติบโตโดยชอบเลี่ยงและชอบแยกตัวออกจากผู้คนไปใช้เวลานาน ๆ ในการหมกมุ่นอยู่ในโลกของตนเอง ลูกจะชอบทำกิจกรรมซ้ำ ๆ มีพฤติกรรมยึดติด ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง จนปิดกั้นการเรียนรู้ใหม่ ๆ และยังจะเกิดการสะสมพฤติกรรมแปลก ๆ จนพ่อแม่ผู้ปกครองเริ่มรู้สึกว่าเข้าถึงลูกได้ยากและเลี้ยงดูลูกในชีวิตประจำวันได้ลำบากขึ้นเรื่อย ๆ
ลูกออทิสติกที่เริ่มต้นด้วยอาการดีในระดับ High Function ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดว่าลูกจะประสบความสำเร็จในชีวิต ทั้งนี้เพราะตัวกำหนดที่สำคัญคือการเลี้ยงดูที่ถูกต้อง และในทางกลับกัน ลูกที่ดูเหมือนมีอาการออทิซึมชัดเจนเต็มรูปแบบแต่ได้รับการเลี้ยงดูที่ถูกต้อง อาการของลูกกลับคลี่คลายและใช้ชีวิตได้ดียิ่ง ๆ ขึ้นตามลำดับ
ใช้การเข้าแทรกแซง (Intervention) เป็นกลยุทธในการนำทางลูก
การเข้าแทรกแซงลูกอย่างถูกหลักวิชาการและถูกวิธีจะช่วยแก้ไขอาการต่าง ๆ ของลูกได้ ดังนั้น พ่อแม่ผู้ปกครองต้องหันมาใช้การเข้าแทรกแซงลูกเป็นอาวุธสำคัญในการต่อสู้กับอาการออทิซึม
วิธีการเข้าแทรกแซง
พ่อแม่ผู้ปกครองต้องจับประเด็นอาการของลูกให้ได้ว่าลูกมีอาการใดบ้างจากอาการ 4 กลุ่มหลัก คือ ภาษา สังคม อารมณ์ และพฤติกรรม จากนั้นจะได้หาทางคลี่คลายอาการตามแนวทางที่ “บ้านอุ่นรัก” นำเสนอกรอบแนวคิด คือ
- สร้างสัมพันธภาพทางบวก กระตุ้นการสบตา หัวเราะ เล่นสนุก คลุกคลีกับลูกมากขึ้น
- จัดสภาพการดำรงชีวิตของลูกเสียใหม่โดยทุก ๆ 30-60 นาที โดยต้องมีการเข้าแทรกแซงและกระตุ้นพัฒนาการให้ครบทุกด้าน
- มีการปรับพฤติกรรมที่ขัดขวางการเรียนรู้และดำรงชีวิตของลูก ต้องค่อย ๆ แปลงสภาพพฤติกรรมยึดติดโดยฝึกให้ลูกดำรงชีวิตให้ได้ตามจริง ดึงความหมกมุ่นของลูกแปลงสภาพมาเป็นกิจกรรมที่สร้างสรรค์
การเข้าแทรกแซงเพื่อกระตุ้นพัฒนาการแม้ทำไม่ได้ง่าย ๆ แต่ถ้าเรายอมรับลูกตามความเป็นจริง เข้าใจอาการของลูก มีแนวทางการเข้าแทรกแซงและกระตุ้นพัฒนาการที่ถูกต้อง เราพร้อมสู้โดยใช้ความรักความปรารถนาดีที่พ่อแม่ผู้ปกครองมีให้ลูก เมื่อฮึดสู้สุดใจ ก็ไม่ได้ยากเกินความสามารถ และยังไง ๆ ลูกเราต้องรอดและอาการออทิซึมของลูกจะคลี่คลายลงได้ค่ะ
ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการเด็ก “บ้านอุ่นรัก” อยู่ตรงนี้และทำงานกระตุ้นพัฒนาการเด็กออทิสติกมาเกือบ 30 ปีแล้วจึงได้เห็นภาพของเด็ก ๆ ที่ค่อย ๆ เติบโต ก้าวหน้า และเก่งขึ้นจนเรามั่นใจว่าทุกอย่างจะดีขึ้นตามลำดับขึ้นอยู่กับแรงฮึดที่เราพยายามจริง ๆ
สถานการณ์ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่เราคิด ถ้าเราสู้ขาดใจ ยังไง ๆ ลูกเราก็รอดค่ะ