สำหรับลูกออทิสติก ลูกสมาธิสั้น ลูกที่มีพัฒนาการช้าไม่สมวัย ลูกมักมีความซุกซน อยู่ไม่สุข และบางครั้งก็แสดงออกซึ่งพฤติกรรมบางประการ ที่ส่งผลให้ทั้งเราและคนรอบข้างที่รักและหวังดีต่อลูก อดไม่ได้ที่จะบ่น ว่ากล่าว หรือแม้กระทั่งดุลูก จนลูกเสียเซลฟ์ (Self) รู้สึกว่าตนเองเป็นเด็กไม่ดี และสูญเสียความภาคภูมิใจในตนเอง

ในฐานะพ่อแม่ผู้ปกครอง เมื่อลูกแสดงพฤติกรรมต่าง ๆ ที่เป็นปัญหา เราก็ต้องหาทางแก้ไขปัญหาให้เหมาะสม โดยไม่ลืมที่พลิกวิกฤตให้กลายเป็นโอกาสที่ลูกจะได้เรียนรู้ แก้ไข และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมพร้อม ๆ กันไปด้วย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราจะตั้งเป้าหมายซ้อนเข้าไปอีกชั้นว่า ลูกจะต้องยังรู้สึกดีต่อตนเอง และคงความภาคภูมิใจในตนเอง (Self Esteem) ไว้ได้ด้วย

ในตอนนี้ ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการ “บ้านอุ่นรัก” มีแนวทางการแก้ไขปัญหามาฝากคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง ซึ่งเราขอเน้นที่ “บรรยากาศการเลี้ยงดูที่บ้าน” ที่จะสามารถช่วยทั้งลูกและเราให้ร่วมทางกระบวนการเรียนรู้ แก้ไข และปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ไปด้วยกันโดยลูกจะยังคงรู้สึกดีและภาคภูมิใจในตนเอง ดังนี้ คือ

บรรยากาศการเลี้ยงดูแบบไหน ช่วยสร้างความภาคภูมิใจในตนเองให้ลูกได้?

หนึ่ง: ยอมรับลูกอย่างที่ลูกเป็น การยอมรับนี้เท่ากับเป็นการบอกลูกให้มีความนับถือตนเองที่ไม่ต้องเหมือนใคร แต่เป็นการยอมรับบนเงื่อนไขว่าพ่อแม่ผู้ปกครองจะไม่ปล่อยผ่านพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมและจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนและแก้ไข ส่วนจะปรับเปลี่ยนหรือแก้ไขกันอย่างไร “บ้านอุ่นรัก” เคยนำเสนอแนวทางไปบ้างแล้ว และเราจะนำมาเสนอทบทวนซ้ำอีกครั้งในโอกาสต่อไป

สอง: สอนให้ลูกรู้ว่าความผิดพลาดไม่ใช่เรื่องน่าอับอาย เพราะคนทุกคนทำสิ่งผิดพลาดได้เสมอ แต่เมื่อทำผิดพลาดไปแล้ว ลูกต้องเรียนรู้ เข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบผลการกระทำของตนเอง ตลอดจนหาทางแก้ไขไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำ ๆ ในโอกาสต่อ ๆ ไป

สาม: เมื่อลูกแสดงพฤติกรรมที่ไม่ควรปล่อยผ่าน เราจำเป็นต้องตักเตือน โดยพูดกับลูกสั้น ๆ ระบุพฤติกรรมที่ลูกควรทำในครั้งต่อไป พูดให้ลูกมองเห็นภาพ โดยไม่จำเป็นต้องกล่าวโทษสิ่งที่เกิดขึ้นในครั้งนี้

สี่: ให้โอกาสลูกได้แสดงความรู้สึกของตนเอง รับฟังและใส่ใจความรู้สึกของลูกด้วยความจริงใจ

ห้า: ชื่นชมในความพยายามและทุกความตั้งใจดีของลูก โดยระบุความรู้สึกของผู้ชมและระบุการกระทำดี ๆ ที่ลูกได้ทำไป

หก: ให้โอกาสลูกได้ตัดสินใจด้วยตนเองมากขึ้น

เจ็ด: แสดงความสนใจในสิ่งที่ลูกสนใจ แม้เป็นเพียงสิ่งเล็กน้อย แต่ถ้าสิ่งนั้นมีความหมายกับลูก สิ่งนั้นย่อมมีค่าเสมอ 

แปด: เปิดโอกาสให้ลูกได้ค้นคว้า อนุญาตให้ลูกได้ทดลองทำสิ่งใหม่ ๆ ที่ลูกสนใจ

เก้า: บอกรักลูกเสมอ มองลูกด้วยแววตาแห่งรัก โอบกอดสัมผัสลูกอย่างนุ่มนวล พูดกับลูกอย่างให้เกียรติ บอกให้ลูกได้รู้ “ลูกของพ่อแม่คือสิ่งล้ำค่าสิ่งเดียวในโลกที่ไม่เหมือนใคร เป็นความภูมิใจสูงสุดในชีวิตการเป็นพ่อแม่

ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการ “บ้านอุ่นรัก” หวังว่าคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองที่ได้อ่านบทความนี้ ตลอดจนบทความอื่น ๆ ของเรา จะเห็นภาพรวมของแนวทางการรับมือและการสร้างบรรยากาศดี ๆ ในการดูแลและเลี้ยงดูลูกที่จะส่งผลให้ท่านช่วยปรับเปลี่ยนและแก้ไขพฤติกรรมต่าง ๆ ที่เป็นปัญหาของลูกได้สำเร็จ และเป็นการทำได้สำเร็จโดยละม่อม ราบรื่น และนุ่มนวลค่ะ  

แม้ลูกจะซุกซนเหลือเกิน

ถึงลูกมักอยู่ไม่สุขกับใครเขาเลย

และลูกมักแสดงพฤติกรรมที่ขัดหู เคืองตา และไม่ถูกใจมนุษย์พ่อแม่พี่ป้าน้าอาเอาเสียเลย

แต่เราจะยิ้มในใจ และเข้าใจว่าด้วยข้อจำกัดหลายประการจากอาการของลูก ไม่ว่าจะเป็นข้อจำกัดด้านการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร การเข้าสังคม การควบคุมอารมณ์และพฤติกรรม ลูกจึงทำเรื่องต่าง ๆ ที่ขัดหู ขัดตา และขัดใจเรา

แต่ลูกโชคดีที่มีเรา ซึ่งพร้อมจะนำทางลูกไปด้วยความรัก ความเมตตา และความหวังดี

เรามาสร้างบรรยากาศการเลี้ยงดูดี ๆ ที่บ้านเพื่อลูก ๆ รู้สึกดีต่อคนรอบข้างและตนเอง อีกทั้งเกิดความภาคภูมิใจในตนเองกันค่ะ

เครดิตภาพ: Roman Kraft | Unsplash