จากประสบการณ์การทำงานของศูนย์กระตุ้นพัฒนาการ “บ้านอุ่นรัก” มา 26 ปีกว่า เราได้พบปะพูดคุยกับคุณพ่อ คุณแม่ และผู้ปกครองของลูกหลานออทิสติกนับร้อยนับพันครอบครัว ที่เข้ามาพบเพื่อขอคำปรึกษาและแนวทางการดูแลและกระตุ้นพัฒนาการลูกหลานกับเราเป็นครั้งแรก
ทุกครอบครัวที่เราได้พบ ต่างหวังว่าเมื่อเด็ก ๆ อายุครบ 3 ขวบ พวกเขาจะได้เริ่มต้นการเรียนรู้ที่โรงเรียนอนุบาล และได้ศึกษาเล่าเรียนอย่างต่อเนื่องในชั้นเรียนต่าง ๆ ตามวัยที่เพิ่มขึ้นเหมือนกับเด็กคนอื่นทั่ว ๆ ไป
อย่างไรก็ตาม คุณพ่อ คุณแม่ และผู้ปกครองของลูกหลานออทิสติกวัย 3 ขวบขึ้นไปจำนวนมากที่เราได้พบ บอกให้เรารู้ในครั้งแรกที่เจอกันว่า “เขายังไม่ประสบความสำเร็จในการส่งลูกหลานออทิสติกเข้าเรียนร่วมในโรงเรียนอนุบาล” และอยากรู้ว่า “เขาจะทำเรื่องนี้ได้สำเร็จหรือไม่” และ “เขาจะต้องทำอย่างไรเพื่อทำเรื่องนี้ให้สำเร็จได้ในท้ายที่สุด”
บ้านอุ่นรักอยากบอกคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองทุกท่านของลูกหลานออทิสติกว่า “ท่านมีโอกาสทำเรื่องนี้ได้สำเร็จ” และ “เรามีวิธีทำเรื่องนี้ให้สำเร็จมาบอกกล่าว”
อย่างไรก็ตาม การทำเรื่องนี้ให้สำเร็จตามวิธีของเรา คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองต้องเป็นหัวเรือใหญ่และทำงานร่วมกับ 3 ทีม คือ ทีมครอบครัว ทีมบำบัด และทีมโรงเรียน อย่างแข็งขันเพื่อช่วยกันผลักดันให้ลูกหลานออทิสติกประสบความสำเร็จในการเรียนร่วมในโรงเรียน
เราจะแนะนำให้คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง ได้รู้จักกับ “ทีมครอบครัว” “ทีมบำบัด” และ “ทีมโรงเรียน” ผู้จะร่วมเป็น 3 แรงแข็งขัน ตลอดจนอธิบายบทบาทในภาพรวมที่แต่ละทีมจะต้องทำเพื่อผลักดันเด็กออทิสติกให้ประสบความสำเร็จในการเรียนร่วมในโรงเรียนกันในตอนนี้เลยค่ะ
ทีมที่ 1 + เรื่องที่ต้องทำ: ทีมครอบครัว
ทีมครอบครัวประกอบด้วยคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง และสมาชิกทุกคนในบ้านของลูกหลานออทิสติก
ทีมครอบครัวนี้ต้องมีคุณพ่อ คุณแม่ หรือผู้ปกครอง อย่างน้อย ๆ ท่านใดท่านหนึ่งมาทำหน้าที่เป็นหัวเรือใหญ่ในการทำงาน
ทีมครอบครัวเป็นทีมที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งในการเริ่มต้นผลักดันลูกหลานออทิสติกให้ประสบความสำเร็จในการเข้าเรียนร่วมในโรงเรียน ทั้งนี้เพราะเด็กใช้ชีวิตประจำวันส่วนใหญ่อยู่ร่วมกับคนในครอบครัว คนในครอบครัวจึงมีโอกาสมากที่สุดที่จะเข้าแทรกแซงและกระตุ้นพัฒนาการให้เด็กได้ตามสภาพชีวิตจริง
เรื่องที่ทีมครอบครัวต้องทำเพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเองให้กลายเป็นผู้ที่สามารถผลักดันเด็กให้ก้าวเข้าสู่การเรียนร่วมที่โรงเรียนได้อย่างต่อเนื่อง คือ
หนึ่ง: ทีมครอบครัวต้องเรียนรู้ธรรมชาติ ภาพรวมของกลุ่มอาการ และระดับอาการของลูกหลานออทิสติกให้ดีในระดับหนึ่งก่อน ทั้งนี้เพื่อจะได้รู้ว่าอาการแบบใดของเด็กที่เป็นปัญหาและอาจกลายเป็นอุปสรรคในการดำรงชีวิตและการเรียนรู้ของเด็กต่อไป
ทั้งนี้ โดยทั่วไป เด็กออทิสติกจะมีธรรมชาติและกลุ่มของอาการดังต่อไปนี้ที่เป็นอุปสรรคในการดำรงชีวิตและการเรียนรู้
- ขาดการสานต่อปฎิสัมพันธ์แบบสองทางกับบุคคลรอบข้าง
- แยกตัว
- สนใจและตอบสนองต่อสิ่งรอบตัวแบบจำกัด
- เลือกหมกมุ่นจำกัดเฉพาะกับเรื่องที่ตนเองสนใจ จนตัดความสนใจสิ่งรอบตัวอื่น ๆ หากมีใครเข้าไปแทรกแซง เด็ก ๆ จะวิตกกังวลหรือหงุดหงิด
- ยึดติดรูปแบบในการดำรงชีวิต และไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง หากต้องเปลี่ยนแปลงกิจวัตรประจำวันหรือพบกับสิ่งเร้ารอบตัวที่ไม่คุ้นเคย ก็จะวิตกกังวลได้โดยง่าย
- ปรับตัวยากกว่าเด็กในวัยเดียวกัน หากต้องปรับตัว เด็กบางรายจะแสดงท่าทีตอบสนองด้วยการต่อต้านรุนแรง
- มีระบบประสาทสัมผัสรับรู้ที่ไม่สมดุลและส่งผลต่อการดำรงชีวิตจนมีชีวิตไม่ปกติสุข (รับรู้ไวกว่าปกติ | รับรู้ได้น้อยกว่าปกติ)
- ถูกหันเหความสนใจได้โดยง่าย เช่น ตาไว หูไว จมูกไว รับรู้ไว จึงเลี่ยงหนีสัมผัสบางประเภท หมกมุ่นกับสัมผัสบางรูปแบบจนเกินปกติ หรือแม้แต่เลือกทานอาหารเฉพาะอย่าง และ
- ถูกรบกวนจากสิ่งเร้ารอบตัวได้ง่ายเสมอ ๆ จึงมักจะแสดงพฤติกรรมแบบแปลก ๆ ออกมาและพฤติกรรมเหล่านั้นก็จะแตกต่างจากพฤติกรรมของเพื่อนที่อยู่ในวัยเดียวกัน เป็นต้น
เมื่อทีมครอบครัวรู้และเข้าใจธรรมชาติและกลุ่มอาการต่าง ๆ ของลูกหลานออทิสติก ก็ต้องจดบันทึกอาการ จากนั้น ควรนำข้อมูลที่ได้จากการช่วยกันสังเกตที่บ้าน ไปปรึกษาทีมทำบัดเพื่อหาแนวทางบำบัดหรือแก้ไขธรรมชาติและอาการต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคในการดำรงชีวิตและการเรียนรู้ เมื่อได้แนวทางการบำบัดมาจากทีมบำบัดแล้ว ก็ต้องนำมาปฏิบัติเพื่อช่วยบำบัดบรรเทาอาการของลูกหลานที่บ้านอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง เมื่อทำได้เช่นนี้ ผ่านไปสักระยะหนึ่ง ทีมครอบครัวก็จะได้เห็นว่าลูกหลานออทิสติกค่อย ๆ มีทักษะและพัฒนาการที่ดีขึ้นจนกระทั่งมีความพร้อมมากพอที่จะเข้าเรียนร่วมที่โรงเรียนได้ตามลำดับ
ทีมครอบครัวสามารถค้นหาข้อมูลและความรู้ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการเรื่องธรรมชาติและภาพรวมของอาการออทิสติกได้จากสื่อหลายประเภท เช่น หนังสือวิชาการ หรือเวบไซต์ของหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ ไม่ว่าจะเป็นมูลนิธิออทิสติกไทย | สมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิซึม (ไทย) | ศูนย์การศึกษาพิเศษส่วนกลาง | สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข | สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข | หรือศูนย์กระตุ้นพัฒนาการบ้านอุ่นรัก เป็นต้น
คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง และสมาชิกทุกคนในครอบครัวสามารถเปลี่ยนแปลงตนเองให้กลายเป็น “ทีมครอบครัว” ที่จะผลักดันเด็ก ๆ ให้ก้าวเข้าสู่การเรียนร่วมที่โรงเรียนอย่างต่อเนื่องได้จริง เราขอยืนยันและให้กำลังใจค่ะ
สอง: ทีมครอบครัวต้องช่วยกันเตรียมความพร้อมให้เด็กที่บ้าน ก่อนจะส่งเด็กเข้าเรียนร่วมในโรงเรียน
แม้ว่าธรรมชาติและอาการต่าง ๆ ข้างต้นจะเป็นปัญหาและอุปสรรคใหญ่ที่แก้ไขไม่ง่ายนัก แต่แก้ไขให้ทุเลาเบาบางลงได้จริง ๆ เพียงแต่ต้องอาศัยการลงแรงและการทำงานหนักของทีมครอบครัวที่ต้องทำให้ได้ ทำอย่างต่อเนื่อง ทำด้วยความสม่ำเสมอ ทำในระยะเวลายาวนานมากพอ และทำสักระยะหนึ่งก่อนการส่งเด็ก ๆ ไปโรงเรียนค่ะ
การแก้ไขปัญหาและอุปสรรคเรื่องการดำรงชีวิตและการเรียนรู้ของเด็กออทิสติกมีอยู่มากมายหลายแนวทาง แต่ในเมื่อเราตั้งโจทย์ไว้ว่า “เราต้องทำอย่างไรจึงจะสามารถผลักดันให้เด็กออทิสติกประสบความสำเร็จในการเรียนร่วมในโรงเรียน” บ้านอุ่นรักจึงอยากให้คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง ได้ทำความรู้จักกับแนวทางการแก้ปัญหาที่ได้จากโครงการทดลอง PIRk ค่ะ
เหตุผลที่เราเน้นเรื่องโครงการ PIRk เพราะเป็นการทดลองที่ทำโดยผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญโรคออทิสติก อีกทั้งข้อสรุปที่ได้จากการทดลองเป็นข้อสรุปที่คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง และทีมครอบครัวสามารถนำมาปรับใช้และทำเองได้ที่บ้าน มีความปลอดภัย และทำแล้วได้ผลค่ะ
เราเชื่อว่าตอนนี้ทุกท่านคงอยากรู้จักกับโครงการ PIRk กันแล้วนะคะ
โครงการ PIRk หรือ PIRk Program เป็นโครงการทดลองที่ทำโดย Konabe Bene | Devender R. Banda | Donna Brown ซึ่งมีความรู้และความเชี่ยวชาญเรื่องโรคออทิสติกค่ะ
ทั้งสามท่านได้ร่วมกันทำโครงการทดลองที่เรียกว่า “โครงการ PIRk หรือ PIRk Program” ในปี พ.ศ. 2557 (ค.ศ. 2014) โดยมีจุดประสงค์ในการหาวิธีแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตและการเรียนรู้ของเด็กออทิสติกที่โรงเรียน
ในการทดลองตามโครงการ PIRk นี้ ผู้ดำเนินการทดลองได้ใช้พื้นฐานการปรับพฤติกรรมตามแนว ABA ที่เน้นการจัดกิจวัตรประจำวันอย่างมีเป้าหมาย มีโครงสร้าง เพื่อให้เด็กออทิสติกได้ดำรงชีวิตและทำกิจกรรมประจำวันในบรรยากาศที่คล้ายกับกิจวัตรประจำวันที่เด็กจะต้องเจอในโรงเรียน พร้อม ๆ กันนั้น ก็มีการส่งเสริมทักษะพื้นฐานด้านการเรียนรู้ให้กับเด็กด้วยค่ะ
โครงการทดลองนี้ได้ช่วยเตรียมเด็กให้เกิดความคุ้นเคยกับรูปแบบการใช้ชีวิตในโรงเรียน ก่อนจะส่งพวกเขาเข้าสู่การเรียนที่โรงเรียนจริง ๆ
หลังการทดลอง ผู้ทำการทดลองได้ติดตามเด็กซึ่งในขณะนั้นได้เข้าสู่ชีวิตจริงในโรงเรียน และพบว่าการเตรียมความพร้อมตามรูปแบบข้างต้นได้ผล แต่ยังไม่เพียงพอ และผู้ทดลองพบว่าต้องมีองค์ประกอบอื่น ๆ เข้ามาเสริมเพิ่มเติมอีก เพื่อส่งผลทางตรงให้เด็กเกิดความสำเร็จในการเรียนร่วมได้อย่างแท้จริง
บ้านอุ่นรักอยากให้ทีมครอบครัวได้อ่านข้อสรุปที่ได้จากโครงการ PIRk เพราะข้อสรุปดังกล่าวคือแนวทางที่ทีมครอบครัวช่วยเตรียมความพร้อมให้เด็กได้ที่บ้าน ก่อนจะส่งเด็กเข้าเรียนร่วมในโรงเรียนค่ะ
บทบาทของทีมครอบครัวในการเตรียมความพร้อมให้เด็กออทิสติกประสบความสำเร็จในการเรียนร่วมในโรงเรียน ตามข้อสรุปคร่าว ๆ ที่ได้จากโครงการ PIRk คือ
หนึ่ง: ทีมครอบครัวต้องให้ความสำคัญกับการเตรียมเด็กออทิสติกให้มีความพร้อมในระดับหนึ่งก่อนที่จะส่งเด็กเข้าเรียนร่วม ทั้งนี้ ทีมครอบครัวต้องส่งเสริมให้เด็กผ่านกระบวนการเตรียมตัว 2 ด้านที่สำคัญ คือ
การเตรียมความพร้อมด้านที่ 1: เด็กต้องได้รับการกระตุ้นพัฒนาการระยะเริ่มแรก (Early intervention) เพื่อบำบัด แก้ไขอาการพื้นฐาน และปรับพฤติกรรมตามอาการของโรคที่ยังรบกวนการดำรงชีวิตและขัดขวางการเรียนรู้ของเด็ก และ
การเตรียมความพร้อมด้านที่ 2: เด็กต้องได้รับการเตรียมความพร้อมก่อนไปโรงเรียน (School Readiness) เพื่อเตรียมเด็กเรื่องการดำรงชีวิตและการมีทักษะพื้นฐานเบื้องต้นที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ก่อนเปลี่ยนผ่านเด็กสู่ชีวิตจริงในโรงเรียน
ประเด็นการเตรียมความพร้อมในด้านที่ 2 เรื่องทักษะพื้นฐานเบื้องต้นที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ของเด็กออทิสติกนี้ แม้เคยมีการศึกษาที่พบว่าเด็กออทิสติกอาจมีความพร้อมทางพื้นฐานวิชาการอันจะส่งผลให้มีระดับการเรียนรู้ที่ดี เพราะเด็กมักสนใจเรื่องข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นสี รูปทรง ตัวเลข หรือตัวอักษร แต่ทีมครอบครัวยังต้องร่วมมือกับอีกสองทีมที่เหลือ คือ ทีมบำบัดและทีมโรงเรียน ในการติดตามผลการเรียนและสนับสนุนเด็กในระยะยาว เพราะเด็กออทิสติกมักจะขาดความพร้อมด้านทักษะทางสังคมและด้านพฤติกรรมที่จะส่งผลกระทบทางลบในการดำรงชีวิตที่โรงเรียนได้
ยกตัวอย่าง เช่น เด็กออทิสติกบางคนที่แม้ได้ใช้ชีวิตในโรงเรียนจนถึงเกรด 2 (ประถมศึกษาปีที่ 2) แล้ว ก็ยังไม่สามารถควบคุมตนเองได้ดีนักเมื่อเทียบกับเด็กพิเศษกลุ่มอื่น ๆ เช่น เด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ (เด็กแอลดี LD) ดังนั้น การติดตามผลการเรียน พฤติกรรม และอารมณ์ของเด็กในขณะที่ใช้ชีวิตที่โรงเรียน จะทำให้เรารู้เท่าทันปัญหาและสามารถให้การสนับสนุนและช่วยเหลือเด็กได้อย่างเหมาะสมทันท่วงที
คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง หรือสมาชิกท่านใดท่านหนึ่งในทีมครอบครัวต้องมีบทบาทเป็น “คนกลาง” ในการให้ รับ ส่ง และประสานข้อมูลระหว่างทีมครอบครัว ทีมบำบัด และทีมโรงเรียน หากเด็กมีปัญหาใดที่ต้องแก้ไข ทุกทีมจะได้มีข้อมูลเรื่องปัญหาและแนวทางแก้ไขชุดเดียวกัน การร่วมมือแบบ 3 ประสานที่มีทีมครอบครัวเป็นแกนกลางนี้ จะส่งผลดีต่อการผลักดันให้เด็กประสบความสำเร็จในการเรียนร่วมที่โรงเรียนได้อย่างต่อเนื่องยิ่ง ๆ ขึ้นไปค่ะ
สอง: คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง และทีมครอบครัวต้องเตรียมตนเองให้พร้อมเรื่องความรู้และความเข้าใจธรรมชาติและอาการของเด็ก ตลอดจนมีความคาดหวังที่เกี่ยวกับเด็กให้ถูกต้องด้วย
ข้อสรุปที่ได้จากโครงการ PIRk ในข้อที่ 2 นี้เป็นเรื่องเดียวกับที่บ้านอุ่นรักได้กล่าวนำไปในตอนต้นของบทความนี้ เรื่อง “เรียนรู้ธรรมชาติ ภาพรวมของกลุ่มอาการ และระดับของอาการของลูกหลานออทิสติก” ค่ะ
สาม: คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง หรือทีมครอบครัวต้องเตรียมประสานงานกับทางโรงเรียนก่อนส่งลูกหลานเข้าเรียนร่วมในโรงเรียน
ข้อสรุปที่ได้จากการทดลองของโครงการ PIRk ในข้อที่เกี่ยวกับการประสานงานกับทางโรงเรียนไว้ล่วงหน้าก่อนนี้ ทำเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับทีมโรงเรียน (ผู้บริหารโรงเรียนและคณะครู) ในเรื่องสำคัญ ๆ ดังต่อไปนี้ คือ
- เรื่องที่ทีมครอบครัวได้ทำที่บ้านเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับเด็ก
- ปัญหาและอุปสรรคที่ยังหลงเหลืออยู่และอาจส่งผลต่อการดำรงชีวิตและการเรียนรู้ของเด็กที่โรงเรียน
- แนวทางการแก้ไขที่ได้รับคำแนะนำมาจากทีมบำบัด และ
- ความคาดหวังที่โรงเรียนมีต่อตัวเด็กต้องถูกต้องตามธรรมชาติและอาการของเด็ก
ทีมที่ 2 + เรื่องที่ต้องทำ: ทีมบำบัด
ทีมบำบัดในที่นี้ คือ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กหรือจิตแพทย์เด็ก นักวิชาชีพผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ ที่จะช่วยบำบัดอาการที่เด็กแต่ละคนมี เช่น ครูฝึกพูดที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาให้เด็กที่มีปัญหาเรื่องการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร นักกิจกรรมบำบัดที่ช่วยแก้ปัญหาเรื่องระบบการรับสัมผัสและปัญหาการเข้าสังคมของเด็ก นักแก้ไขปัญหาการเคลื่อนไหวที่ช่วยให้เด็กวางแผนการเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น และผู้เชี่ยวชาญด้านการกระตุ้นพัฒนาการที่จะช่วยสร้างเสริมพัฒนาการในภาพรวมให้ครอบคลุมตามความจำเป็นของเด็กแต่ละคน เป็นต้น
ทั้งนี้ ทีมแพทย์ผู้ทำการวินิจฉัยอาการของเด็กจะให้คำแนะนำแก่คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองว่าท่านต้องใช้ทีมบำบัดใดบ้างในการช่วยบำบัด บรรเทา และแก้ไขธรรมชาติและอาการที่เป็นปัญหาและอุปสรรคในการดำรงชีวิตและการเรียนรู้ของเด็ก
การบำบัดเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องทำให้สม่ำเสมอและยาวนานมากพอจึงช่วยให้เด็กออทิสติกมีทักษะและพัฒนาการด้านต่าง ๆ ที่ส่งผลดีต่อการดำรงชีวิตและการเรียนรู้ที่โรงเรียน แต่การเข้ารับบริการด้านการบำบัดต่าง ๆ มีค่าใช้จ่าย ต้องใช้เวลาในการเดินทาง และอาจมีข้อจำกัดเรื่องการให้บริการ เช่น จำนวนบุคลากรที่ไม่เพียงพอ หรือต้องรอคิวเข้ารับบริการเป็นระยะเวลานาน เป็นต้น
ดังนั้น คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง และทีมครอบครัว จึงมีบทบาทสำคัญในการเรียนรู้และพัฒนาตนเองให้กลายเป็น “ทีมบำบัดคู่ขนาน” ที่จะทำงานร่วมกับ “ทีมบำบัดมืออาชีพ” กล่าวคือ เมื่อนักบำบัดมืออาชีพให้แนวทางแก่ทีมครอบครัวว่ามีเรื่องใดบ้างที่ทีมครอบครัวทำได้และต้องทำอย่างไรเพื่อช่วยเหลือและบำบัดอาการให้เด็กในขณะที่เด็กอยู่บ้าน ทีมครอบครัวก็ควรดำเนินการตามแนวทางนั้นอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง จดบันทึกสิ่งที่ทำ ปัญหาที่พบ แล้วปรึกษาทีมบำบัดเป็นระยะ ๆ เพื่อหาหนทางเพิ่มเติมในการแก้ไขปัญหา หากทีมครอบครัวทำได้เช่นนี้ ท่านจะสามารถช่วยลูกหลานให้มีความพร้อมมากพอที่จะไปเรียนร่วมในโรงเรียนได้เร็วขึ้นและเต็มประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดค่าใช้จ่ายและเวลาที่ต้องสูญเสียไปในการเข้ารับบริการบางส่วนได้อีกด้วยค่ะ
ทีมที่ 3 + เรื่องที่ต้องทำ: ทีมโรงเรียน
ทีมโรงเรียนประกอบด้วยผู้บริหารโรงเรียนและคณะครูทั้งที่เป็นครูประจำชั้นของเด็ก และครูผู้ช่วย
เรื่องของทีมโรงเรียนนี้ คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองต้องยอมรับความจริงที่ว่าแม้โรงเรียนส่วนใหญ่อยากรับเด็กออทิสติกเข้าเรียนร่วม แต่อาจยังไม่พร้อมมากพอที่จะทำเช่นนั้น เพราะโรงเรียนมีจำนวนบุคลากรที่จำกัด บางโรงเรียนอาจไม่มีครูการศึกษาพิเศษ หรือยังไม่มีศักยภาพมากพอที่จะสร้างระบบการเรียนที่เด็กพิเศษและเด็กคนอื่น ๆ เรียนร่วมในชั้นเรียนเดียวกันได้
ดังนั้น คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองจึงต้องค้นหาโรงเรียนที่มีธรรมชาติที่เหมาะสมกับลูกหลานออทิสติก และต้องเป็นโรงเรียนที่มีความพร้อมที่จะยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนการจัดสภาพ และมีการวางแนวทางการเรียนการสอนและการดูแลที่เอื้อกับการดำรงชีวิตและการเรียนรู้ของเด็กออทิสติกในชั้นเรียน ดังที่เราเรียกว่า School Based Intervention ด้วย
มาถึงตอนนี้ คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองได้ทำความรู้จักกับ 3 แรงแข็งขันที่ต้องมีบทบาทร่วมกันในการผลักดันเด็กออทิสติกให้ประสบความสำเร็จในการเรียนร่วมในโรงเรียนกันแล้ว และบ้านอุ่นรักหวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านจะเริ่มต้นสร้าง “ทีมผลักดัน” ลูกหลานในเร็ววัน และจะร่วมแรง 3 ประสานผลักดันลูกหลานออทิสติกให้ประสบความสำเร็จในการเรียนร่วมในโรงเรียนได้ในที่สุดค่ะ
ในการทำงานของบ้านอุ่นรัก แม้เราทำงานด้านนี้มาเป็นระยะเวลากว่า 26 ปีจนมีความเชี่ยวชาญและได้รับความไว้วางใจทั้งจากบุคคลกรทางการแพทย์ ครอบครัวของเด็ก และโรงเรียน แต่เราก็ยังคงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาการทำงานของเราให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป
หนทางในการทำงานของบ้านอุ่นรักให้ดียิ่งขึ้นให้ได้นั้น มาจากการที่เราหมั่นศึกษาผลการวิจัย การทดลอง และการศึกษาทางคลินิกจำนวนมาก เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่มีประโยชน์ที่ผู้รู้ นักวิชาการ และนักวิชาชีพได้ลงมือทำ จากนั้น บ้านอุ่นรักก็จะนำข้อมูลนั้น ๆ มาศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมในสภาพการดำรงชีวิตจริงของเด็กแต่ละบ้าน ตลอดจนใช้ประสบการณ์ตรงของพวกเราที่ได้ลงมือทำงานจริง ลงไปสัมผัสและแก้ไขปัญหาร่วมกับคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองจริง ตลอดจนทำงานร่วมกับโรงเรียนในสภาพจริง มาพัฒนาการทำงานของเรา
จนในวันนี้ เรามีระบบการกระตุ้นพัฒนาการเด็กออทิสติก เด็กสมาธิสั้น และเด็กมีพัฒนาการช้าไม่สมวัย ที่ดีและส่งผลให้เด็กเกิดความพร้อมมากพอที่จะเข้าเรียนร่วมในโรงเรียนได้จริง เราจึงสามารถส่งเด็ก ๆ ลูกศิษย์ของบ้านอุ่นรักรุ่นแล้วรุ่นเล่าไปเข้าโรงเรียนได้อย่างมีรูปแบบที่ชัดเจนและประสบความสำเร็จในการเรียนร่วมที่โรงเรียนค่ะ
ระบบการเตรียมความพร้อมให้กับเด็ก ๆ ของบ้านอุ่นรักมี 3 ขั้นตอน ดังนี้ คือ
- การกระตุ้นพัฒนาการระยะเริ่มแรก (Early Intervention)
- การเตรียมความพร้อมก่อนส่งเด็กไปโรงเรียน (School Readiness) และ
- การประสานงานกับโรงเรียน
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เราตั้งใจเปิดประเด็นการทำความเข้าใจเบื้องต้นกับคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองว่า “ท่านมีโอกาสที่จะผลักดันลูกหลานออทิสติกให้ประสบความสำเร็จในการเรียนร่วมในโรงเรียน” และบทบาทหน้าที่ของท่านโดยสรุปคือ (1) การเปลี่ยนตนเองและคนในบ้านให้กลายเป็นทีมบำบัดคู่ขนานผู้มีความรู้ความเข้าใจอาการออทิสติกและการบำบัดตามแนวทางที่ถูกต้อง (2) การเตรียมความพร้อมให้กับลูกหลาน และ (3) การประสานงานกับทีมบำบัดมืออาชีพและทีมโรงเรียนอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง
การเตรียมความพร้อมที่ดีเพื่อลูกหลานออทิสติกต้องทำงานเป็นทีม
การเตรียมความพร้อมที่ดีต้องใช้เด็กเป็นโจทย์ตั้งต้น
การเตรียมความพร้อมที่ดีคือช่วยให้เด็กมีความพร้อมด้วยการผ่านขั้นตอนการเตรียมตัวฟื้นฟูบำบัดระยะต้นจนมีความพร้อมพอสมควร จากนั้น คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองและทีมบำบัดจะพิจารณาร่วมกันในลำดับถัดไปว่าลูกหลานออทิสติกพร้อมแล้วหรือไม่ที่จะไปโรงเรียน
การพิจารณาความพร้อมของเด็กต้องอาศัยกำหนดหลักเกณฑ์ชี้ชัดตามคุณสมบัติและตามความพร้อมของเด็ก ๆ ไม่ใช่อ้างอิงตามอายุจริงของเด็กเท่านั้น
เมื่อเด็ก ๆ เริ่มมีความพร้อม คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองจะต้องค้นหาโรงเรียนที่มีเมตตา โรงเรียนที่พร้อมร่วมแรงร่วมใจไปกับท่านและทีมบำบัดในการผลักดันเด็ก ๆ เรื่องการเรียนร่วมในโรงเรียน
เนื่องจากเส้นทางการศึกษาของเด็ก ๆ จากชั้นเรียนอนุบาลไปจนจบการศึกษาภาคบังคับ ต้องใช้เวลานาน 3-8 ปี การประคับประคองให้เด็กอยู่บนเส้นทางนี้ได้อย่างต่อเนื่องจึงจำเป็นต้องอาศัย 3 ประสาน คือ ทีมครอบครัว ทีมบำบัด และทีมโรงเรียน มาจับมือกัน โดยมีคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองเป็นแกนกลางในการประสานงาน และต้องเป็นการประสานงานที่ใกล้ชิด
การเตรียมความพร้อมให้ลูกหลานออทิสติกเพื่อพวกเขาเรียนร่วมที่โรงเรียนได้สำเร็จนั้น ขอให้ใช้เด็กเป็นโจทย์ตั้งต้นในการผลักดันนะคะ
ให้เราคำนึงถึงความพร้อมของเด็กเล็ก ๆ คนหนึ่งที่ยังรู้สึกแปลกแยกกับการดำรงชีวิตร่วมกับคนแปลกหน้า เด็กที่ยังไม่สามารถช่วยเหลือหรือปกป้องดูแลตนเองได้ตามวัย
เมื่อเราให้เด็กเป็นโจทย์ตั้งต้น เราจะได้หาหนทางในการช่วยเหลือและผลักดันได้อย่างเหมาะสม อันจะสนับสนุนให้พวกเขาได้เติบโตด้วยความรู้สึกอบอุ่นและมั่นคง ได้ใช้ชีวิตเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ที่โรงเรียนได้อย่างมีความหมายแท้จริง มิใช่เพียงแต่ไปอยู่รวมปะปนกับคนอื่น และต้องได้อยู่ในสังคมที่ปลอดภัยและยอมรับตัวตนที่แตกต่างของพวกเขาค่ะ
มนุษย์ตัวเล็ก ๆ ที่แตกต่างคนนี้เติบโตอย่างมีคุณภาพและประสบความสำเร็จได้ด้วยก้าวเล็ก ๆ
ก้าวเล็ก ๆ ของลูกหลานออทิสติกอาจออกเดินช้า ๆ เตาะแตะไปสักหน่อย และใช้เวลาเดินทางยาวนานไปสักนิด
ลูกหลานออทิสติกอาจเดินตามหลังเพื่อน ๆ ที่อยู่ในวัยเดียวกัน
แต่เมื่อเรา 3 ประสานช่วยเด็กกันอย่างเต็มที่เต็มกำลัง เด็ก ๆ ก็จะมีความพร้อมมากพอที่จะออกวิ่งเต็มฝีเท้าในลู่ทางที่เหมาะสมกับตนเองได้อย่างแท้จริง
เราหวังว่าคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองจะเริ่มสร้าง “ทีมผลักดัน” กันในวันนี้นะคะ หากท่านมีข้อสงสัยเรื่องการสร้างทีมผลักดันลูกออทิสติกให้ประสบความสำเร็จในการเรียนร่วมในโรงเรียน ท่านสามารถติดต่อและสอบถามบ้านอุ่นรักได้ค่ะ
———-
Photo Credit: rawpixel.com from Pexels