การเคลื่อนไหวไปยังทิศทางต่าง ๆ ไม่ว่าจะไปทางซ้าย ทางขวา ไปข้างหน้า ถอยหลัง หรือเอียงไปทางโน้นนิด ทางนี้หน่อย ดูจะเป็นเรื่องที่เด็กควรทำได้ตามธรรมชาติใช่หรือไม่?

คำตอบ คือ ใช่และไม่ใช่ !

ใช่ ถ้าเด็กมีพัฒนาการด้านการคิดวางแผนการเคลื่อนไหวที่ดี

ไม่ใช่ ในกรณีที่เด็กขาดทักษะการคิดวางแผนการเคลื่อนไหว

สำหรับเด็ก ๆ ที่มีปัญหาด้านพัฒนาการ เด็กจะมีกระบวนการคิดที่ช้า คิดแบบติดขัด หรือคิดไปหยุดชะงักไป ดังนั้น การเคลื่อนไหวไปในทิศทางต่าง ๆ ของเด็กกลุ่มนี้จึงมีลักษณะเก้ ๆ กัง ๆ ดูไม่แข็งแรง ขาดความเป็นธรรมชาติ เมื่อเด็กพบสถานการณ์ต่าง ๆ ขณะดำรงชีวิต โดยเฉพาะในแง่การเคลื่อนไหว เด็กมักจะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไม่ได้ จึงใช้วิธีหลบหลีกจากสถานการณ์นั้น ๆ หรือไม่ก็ตะลุยใส่ไม่ยั้งแบบอัตโนมัติ ทำให้เกิดอุปสรรคและความยากลำบากในการดำรงชีวิต

ดังนั้น คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง และสมาชิกในบ้านควรหมั่นสังเกตลักษณะการเคลื่อนไหวของลูกหลาน หากพบว่ามีปัญหา จะได้รีบหาทางแก้ไขและส่งเสริมให้เด็ก ๆ ได้ฝึกทักษะการคิดวางแผนการเคลื่อนไหวบ่อย ๆ ตลอดจนสร้างโอกาสให้เด็ก ๆ ได้ทำกิจกรรมเคลื่อนไหวแบบต่าง ๆ ที่เป็นเสมือนแบบฝึกหัดเรื่องการคิดอย่างฉับพลันบ่อย ๆ ว่าในขณะที่คลาน เดิน วิ่ง หรือกระโดด หากพบสิ่งกีดขวาง ลูก ๆ หลาน ๆ เด็ก ๆ ควรคิดว่าจะเคลื่อนไหวอย่างไรจึงจะพ้นสิ่งกีดขวางเหล่านั้นไปอย่างปลอดภัยและสำเร็จได้

การสร้างโอกาสให้เด็ก ๆ ลูกหลานได้พบแบบฝึกบ่อย ๆ จะช่วยสร้างประสบการณ์ตรงซ้ำ ๆ จนเกิดการเรียนรู้ ความเคยชิน และกระตุ้นให้กระบวนการทำงานของสมองในส่วนที่คิดวางแผนการเคลื่อนไหวทำงานได้ดีขึ้นตามลำดับ

ตัวอย่างกิจกรรมง่าย ๆ ทำได้ที่บ้านเพื่อฝึกทักษะการคิดวางแผนการเคลื่อนไหว เช่น

  • วางเก้าอี้ หรือกล่องใส่รองเท้า หรือขึงเชือกขวางให้เด็กพยายามก้าวข้ามเป็นระยะ ๆ
  • พ่อแม่ผู้ปกครองจับมือเด็ก ชวนโยนบอลใส่ตะกร้าที่วางบนพื้นสัก 10 ครั้ง เพื่อกระตุ้นกล้ามเนื้อมัดใหญ่
  • สร้างด่านมาคั่นขณะที่เด็กเคลื่อนไหว
  • สร้างแบบฝึกที่เด็กต้องแก้สถานการณ์แบบฉับพลัน เช่น มุดลอดสิ่งกีดขวาง กระโดดหรือก้าวข้ามสิ่งกีดขวาง ประคองตนเองบนเส้นทางที่กำหนด เดินบนสะพานทรงตัว เดินบนเชือกที่วางขดเป็นรูปทรงต่าง ๆ หรือเดินบนแถบที่ตีเส้นบนพื้น

ทั้งเด็ก ๆ และผู้ใหญ่ที่อยู่ดูแลและนำพาเด็ก ๆ ทำกิจกรรมต้องสู้ ๆ นะคะ เหนื่อยก็พัก หายเหนื่อยเมื่อไรก็ชวนเด็ก ๆ ทำกิจกรรมเคลื่อนไหวที่ปลอดภัยกันใหม่ หากทำได้เช่นนี้บ่อย ๆ ในแต่ละวัน ๆ ละหลาย ๆ รอบ ทำเท่าที่ ๆ บ้านจะทำได้มากที่สุด แค่นี้ก็ถือว่าได้ทำอย่างดีที่สุดแล้ว

ลงมือทำที่บ้านกันในวันนี้เลย วนเวียนทำสัก 10 รอบ เพียงเท่านี้ ลูกหลานก็ได้บริหารสมองกันแล้วค่ะ

เครดิตภาพ: Michal Balog | Unsplash