ชวนกันถาม ร่วมกันหาคำตอบ 

คำถามจากคุณครู 

เด็กนักเรียนอายุ 5 ขวบคนหนึ่งในชั้นเรียนอนุบาลของครู พูดสื่อสารได้ แต่พูดได้ไม่ดีเท่าเพื่อนในวัยเดียวกัน อย่างไรก็ตาม นักเรียนคนนี้ชอบที่จะซักถามครูว่านั่นสีอะไร นี่คืออะไร เป็นต้น 

เด็กนักเรียนคนนี้รู้เรื่องทุกอย่าง แต่ไม่เล่นและไม่เข้ากลุ่มเพื่อร่วมทำกิจกรรมกับเพื่อนนักเรียนที่อยู่ในวัยเดียวกัน แม้ครูให้เพื่อนชวนเด็กเข้ากลุ่ม แต่เด็กก็ยังไม่ยอมเล่นกับเพื่อน ๆ แต่จะเดินเลี่ยงออกไปนั่งอยู่คนเดียวโดยไม่ยอมทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อน ๆ เลยค่ะ 

ครูต้องทำอย่างไรให้เด็กนักเรียนคนนี้ที่เรียนในชั้นเรียนอนุบาลของครู มีทักษะทางสังคมมากขึ้นค่ะ

คำตอบ

เมื่อเด็กวัยอนุบาลยังยอมไม่เล่นกับเพื่อน ในทางพัฒนาการจะถือว่าเด็กมีพัฒนาการที่ไม่สมวัย ทั้งนี้เพราะโดยธรรมชาติของเด็กวัยอนุบาลนั้น เด็กอยู่ในวัยที่ต้องการเพื่อนและต้องการเข้ากลุ่มเป็นอย่างมาก หากเราไม่รีบแก้ไขปัญหานี้ก่อนวัยประถม เด็กจะปรับตัวและเข้าสังคมยากขึ้นเรื่อย ๆ

ก่อนอื่น เรามาพิจารณาสาเหตุที่เด็กไม่เข้ากลุ่มกับเพื่อนกันก่อนว่าสาเหตุคืออะไร เพื่อหาทางช่วยเหลือเด็กได้อย่างมีแนวทางที่ถูกต้องต่อไป

โดยทั่วไป สาเหตุที่เด็กวัยอนุบาลไม่เข้ากลุ่มเพื่อน มี 2 ระดับ คือ

ระดับที่ 1 เด็กปกติแต่ไม่มีทักษะทางสังคม เด็กจึงไม่รู้วิธีขอเข้ากลุ่ม ข้อสังเกตของเด็กกลุ่มนี้ คือ เด็กให้ความสนใจเพื่อน เด็กนั่งจับตามองไปยังจุดที่เพื่อน ๆ เล่นแบบนิ่ง ๆ นาน ๆ เด็กเข้าไปมอง เด็กเข้าไปดูใกล้ ๆ จุดที่เพื่อน ๆ เล่น แต่เราจะเห็นท่าทีรีรอของเด็กที่จะขอเข้ากลุ่มกับเพื่อน ๆ หรือเมื่อเด็กเข้ากลุ่มไปเล่นกับเพื่อน ๆ แล้ว เด็กหลุดออกมาจากกลุ่มค่อนข้างเร็ว

ขั้นตอนหรือกระบวนการที่ครูจะช่วยเด็กกลุ่มนี้ได้ คือ

  1. ครูพาเด็กเข้ากลุ่มและสอนเด็กให้พูดประโยคที่เขาจะพาตัวเองเข้ากลุ่มได้เองในครั้งต่อไป เช่น เราขอเล่นด้วยคนนะ ขอเล่นด้วยคนได้มั๊ย เป็นต้น
  2. หลังการพาเด็กเข้ากลุ่ม ในระยะแรก ๆ ครูคอยจับตามองเด็กอยู่ห่าง ๆ และเมื่อครูพบว่าเด็กขาดทักษะใดในการร่วมกลุ่ม ครูค่อยเข้าแทรกไปสาธิตหรือบอกบทเป็นระยะ ๆ
  3. หากิจกรรมที่จะเชื่อมให้เด็กสนใจทำกิจกรรมนั้น ๆ ร่วมกันกับเพื่อน เช่น แบ่งบล็อกคนละกอง แต่ชวนมาประกอบด้วยกัน ให้เด็กจับคู่เล่นเกมส์บอร์ดด้วยกัน หรือให้เด็กจับคู่เล่นโยนรับลูกบอลด้วยกัน
  4. สร้างความคุ้นเคยที่เด็กจะได้อยู่ร่วมกับกับเพื่อน ๆ ผ่านกิจกรรมบ่อย ๆ เช่น มอบหมายให้เด็กจับคู่โยนรับบอลคู่ละ 20 ครั้งหรือให้เด็กจับคู่และช่วยกันกรอกน้ำลงขวด เป็นต้น
  5. จัดกิจกรรมบัดดี้ในห้องเรียนของเด็ก โดยจับกลุ่ม ๆ ละ 3 ถึง 4 คน เพื่อให้เด็ก ๆ ได้ใช้เวลาในช่วงรอยต่อของวันร่วมกันหรือมีการสร้างสถานการณ์ให้เด็ก ๆ รู้ว่าพวกเขาจะต้องดูแลสมาชิกในกลุ่มเล็ก ๆ ของเขาเอง เช่น ดูแลและช่วยกันเก็บของใช้ ไปห้องน้ำพร้อมกัน เล่นมุมด้วยกัน ชวนเพื่อนพูดคุย หรือทานข้าวด้วยกันในกลุ่ม การจับกลุ่มนี้อาจให้เด็กจับกลุ่มกันเองตามสมัครใจและขอเพิ่มเด็กคนนี้เข้าไปเป็นสมาชิกในกลุ่ม โดยเลือกบัดดี้จากเด็กที่เราเห็นว่าเป็นคนชอบช่วยเหลือเพื่อน ให้คำแนะนำเพื่อนเป็น และรู้จักดูแลเพื่อน

ระดับที่ 2 เด็กมีปัญหาพัฒนาการ คือ เด็กที่เมื่อครูสังเกตทักษะการเข้าสังคมของเด็กซ้ำ ๆ ในหลาย ๆ เหตุการณ์ ครูพบภาพรวมว่าเด็กไม่มีแรงจูงใจที่จะเข้ากลุ่ม หรือไม่สนใจเพื่อน ๆ อย่างจริงจัง  เด็กที่มีปัญหาด้านพัฒนาการทางสังคมมักแยกตัวไปทำอะไรบางอย่างเพลิน ๆ อยู่ตามลำพัง หรือสนใจคนรอบข้างในระยะสั้น ๆ แบบแว่บ ๆ แต่ไม่สนใจอย่างจริงจัง

วิธีช่วยเด็กกลุ่มนี้ คือ ครูสรุปข้อมูลภาพรวมที่ได้จากการสังเกต เพื่อนำไปพูดคุยและปรึกษากับผู้ปกครองในขั้นต้นว่าผู้ปกครองอาจต้องพาเด็กกลุ่มนี้ไปพบจิตแพทย์หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กเพื่อรับการวินิจฉัยและขอคำแนะนำจากแพทย์ ก่อนที่จะหาทางเพิ่มทักษะทางสังคมให้เด็กตามแนวทางที่แพทย์หรือทีมบำบัดวางไว้ให้ต่อไป

พัฒนาการของเด็กวัยอนุบาลไม่ว่าจะเป็นด้านใด เช่น ภาษา สังคม พฤติกรรม หรืออารมณ์ มีความสำคัญมากเพราะเป็นพัฒนาการพื้นฐานที่จะต่อยอดสู่พัฒนาการในลำดับถัด ๆ ไปของเด็ก หากคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง หรือคุณครูสงสัยหรือกังวลใจว่าเด็กอาจมีปัญหาด้านพัฒนาการ การรีบพาเด็กไปพบจิตแพทย์เด็กหรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กเป็นการแก้ปัญหาอันดับแรกที่ถูกต้องและต้องทำค่ะ หากแพทย์วินิจฉัยและพบว่าเด็กมีพัฒนาการปกติ เราจะได้สบายใจ แต่หากพบปัญหา เราจะได้รีบหาทางแก้ไขให้ถูกทางค่ะ

บ้านอุ่นรักอยากให้ชวนกันถามมาเยอะ ๆ เพื่อเราร่วมกันหาคำตอบไปด้วยกันค่ะ 

สำหรับคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง และคุณครูที่ต้องการคำปรึกษาหรือพูดคุยกับพวกเรา สามารถโทรติดต่อ นัดหมายเข้ามาพบ หรือพาลูกมาประเมินเพื่อปรึกษาวางแนวการดูแลได้ที่ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการบ้านอุ่นรัก สาขาที่ท่านสะดวกค่ะ